ครม.ผวาวาระสายสีส้ม หลัง BTS ยื่น รมต.ทุกคนค้าน “วิษณุ”สั่ง สคร.สอบประมูล

ครม.ผวาวาระสายสีส้ม หลัง BTS ยื่น รมต.ทุกคนค้าน “วิษณุ”สั่ง สคร.สอบประมูล

เปิดจดหมาย BTS ส่งถึงรัฐมนตรีทุกคน ค้านผลประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้คณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 ตอบไม่ชัดปมตีความคุณสมบัติ ITD ระบุตั้งเงื่อนไขกีดกันเข้าประมูล ทำรัฐเสียประโยชน์เกือบ 7 หมื่นล้าน “วิษณุ” สั่ง สคร.เร่งตรวจสอบข้อมูลผลการประมูล

การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 อยู่ในขั้นตอนการเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนรัฐระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกเอกตามมาตรา 36 และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM ที่มีข้อเสนอให้รัฐสนับสนุนเงิน 78,287 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดกำลังตรวจร่างสัญญาก่อนเสนอคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.)

รายงานข่าว ระบุว่า การเสนอผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มให้ ครม.รับทราบกำลังจะเป็นประเด็นร้อนสำหรับรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุม เพราะเป็นโครงการที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความโปร่งใสในการประมูล และเป็นการประมูลที่อาจทำให้รัฐเสียประโยชน์ ซึ่งทำให้รัฐมนตรีบางคนต้องมีการตรวจสอบข้อมูลของโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ ในอดีตเคยมีกรณีที่รัฐมนตรีไม่เข้าร่วมประชุมเพื่อเลี่ยงการลงมติโครงการที่อาจขัดกฎหมาย เช่น โครงการเช่ารถเมล์ ขสมก. 4,000 คัน วงเงิน 63,000 ล้านบาท เมื่อปี 2552 ในสมัยที่นายโสภณ ซารัมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งถูกวิจารณ์ถึงวงเงินโครงการที่สูงถึง 69,000 ล้านบาท ก่อนจะปรับลดวงเงินลงมา รวมถึงเงื่อนไขการเช่าที่แพงกว่าการซื้อรถ รวมทั้งมีอีกหลายโครงการที่มีรัฐมนตรีเลี่ยงเข้าร่วมพิจารณา เช่น โครงการกล้ายาง โครงการหวย 2-3 ตัว

“บีทีเอส”ส่งหนังสือค้านถึง รมต.ทุกคน

บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ที่ร่วมซื้อซองประมูล แต่ไม่ได้ร่วมยื่นซองหลังจากออกมา ระบุว่ามีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่อาจกีดกันการประมูล โดยบีทีเอสทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงวันที่ 21 ก.ย.2565 เรื่องคัดค้าน และไม่ให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามประกาศเชิญชวนและเอกชนการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือน พ.ค.2556

นอกจากนี้ หนังสือฉบับดังกล่าว บีทีเอส ระบุว่าได้ทำหนังสือเรียนคณะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลอีกส่วนหนึ่งด้วย

รวมทั้งระบุว่า การยกเลิกการประชุมเมื่อปี 2563 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง คดีหมายดำที่ 580/2564 และศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในที่สุดว่ามติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และประกาศของ รฟม.ที่ให้ยกเลิกการประมูลเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ออกประกาศเชิญชวนและออกเอกสารการคัดเลือก ฉบับเดือน พ.ค.2565 ซึ่งมีการประกาศให้ ITD Group หรือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพันธมิตร เป็นผู้ผ่านการพิจารณาซอง 1 (ข้อเสนอคุณสมบัติ) ทั้งที่นายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการและผู้มีอำนาจลงนามของ ITD ได้รับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

ดังนั้นกลุ่ม ITD จึงเป็นเอกชนที่มีคุณลักษณะไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนและไม่มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ.2562

รัฐเสียประโยชน์เกือบ7หมื่นล้าน

ทั้งนี้ หาก ITD ไม่ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติด้วยเหตุผลดังกล่าว จะมีเพียง BEM ที่เป็นผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวที่ผ่านมาการพิจารณา จึงถือว่าเป็นการประมูลที่ไม่มีการแข่งขัน ดังนั้นคณะกรรมการคัดเลือกฯ ควรชี้แจงหรือตอบข้อสงสัยให้ได้ว่ารัฐจะได้ประโยชน์อย่างไร เพราะข้อเสนอของ BEM ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด โดยผลการยื่นข้อเสนอมีดังนี้

1.BEM ได้เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -78,287 ล้านบาท 

2.ITD Group ได้เสนอผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -102,635 ล้านบาท

ตามข้อมูลดังกล่าว BEM จึงเป็นผู้เสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐต่ำที่สุดและเป็นผู้ชนะการประมูล แต่เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2565 บีทีเอสได้เสนอหลักฐานที่ได้จากการเปิดซองข้อเสนอด้านราคาของการประมูลรอบแรกที่ยื่นไปเมื่อปี 2563 โดยผลประโยชน์สุทธิ (มูลค่าปัจจุบัน : NPV) เท่ากับ -9,675 ล้านบาท แตกต่างจากผู้ชนะการประมูลครั้งล่าสุดเกือบ 70,000 ล้านบาท จึงอาจเป็นการประมูลที่กีดกันไม่ให้บีทีเอสเข้าร่วม

“วิษณุ”สั่ง สคร.ตรวจสอบข้อมูล

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หนังสือที่ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเรียกร้องให้คัดค้านและไม่ให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เนื่องจาก รฟม.จะต้องส่งเรื่องดังกล่าวเพื่อเสนอขออนุมัติจาก ครม.ก่อนลงนามสัญญา 

ดังนั้นบีทีเอสต้องการเรียกร้องให้ ครม.ลงมาตรวจสอบเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินและประเทศชาติ ซึ่งขณะนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ตอบกลับหนังสือดังกล่าวว่ารับทราบถึงปัญหาและจะติดตามตรวจสอบ โดยส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา

สำหรับการส่งหนังสือดังกล่าวได้ส่งไปถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย เป็นหนังสือลงวันที่ 21 ก.ย.2565 เพื่อคัดค้านและไม่ให้ความเห็นชอบผลการประมูล โดยนายศักดิ์สยาม ในฐานะผู้กำกับดูแล รฟม.ควรตรวจสอบการประมูลครั้งนี้

รวมถึงคัดค้านและไม่ให้ความเห็นชอบผลการประมูล เพราะหากยังคงเมินเฉยอาจจะเข้าข่ายต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย ในเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุน และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542

โดยกฎหมายดังกล่าว ระบุไว้ว่า กรณีผู้ใดมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ การพิจารณา หรือการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือพฤติการณ์แจ้งชัดว่าคควรรู้ว่าการเสนอครั้งนั้น มีการกระทำผิด ต้องดำเนินการให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาในครั้งนั้น

กีดกัน“บีทีเอส”ร่วมประมูล

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า บีทีเอสเข้าร่วมชี้แจงข้อมูลในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งบีทีเอสได้ตั้งคำถามไปยังตัวแทนคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือก)

ประเด็นที่บีทีเอสตั้งข้อสังเกตครั้งนี้ คือ การยกเลิกประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและมีการกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนที่ส่อไปทางกีดกัดกลุ่มบีทีเอสเข้าร่วมประมูล เพราะแม้ว่าตัวแทนคณะกรรมการคัดเลือกจะชี้แจงว่าการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมาตรฐานของงานก่อสร้าง จึงได้มีการเพิ่มคะแนนด้านเทคนิค คัดเลือกผู้รับเหมา เพราะพื้นที่แนวเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นพื้นที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้เทคนิคชั้นสูง แต่กลับไม่เปิดกว้างรับเทคโนโลยีใหม่ๆ จากต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประมูลครั้งที่ 2 ยังเปิดกว้างให้ผู้เดินรถไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เดินรถในไทย ถือเป็นการเปิดกว้างให้เอกชนต่างชาติเข้ามาเดินรถได้ บีทีเอสจึงตั้งคำถามว่าหากต้องการเพิ่มมาตรฐานเกณฑ์การประมูล เหตุใดจึงไม่เข้มงวดทั้งในส่วนของเทคนิคงานก่อสร้าง และผู้เดินรถไฟฟ้า แต่กลับเปลี่ยนแปลงเฉพาะคุณสมบัติของผู้รับเหมา

ชี้“ไอทีดี”เสี่ยงขัดคุณสมบัติ

นอกจากนี้ บีทีเอสยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกกำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะพบว่ามีเอกชนบางรายมีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายที่จะเข้าร่วมประมูล โดยกรรมการท่านหนึ่งของ ITD เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ซึ่งเป็นการขัดต่อประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

“ตัวแทนคณะกรรมการคัดเลือกชี้แจงเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติ ITD โดยเป็นเหตุผลที่ฟังแล้วต้องมีคำถาม เพราะแจงว่าหาก ITD ชนะประมูลก็ค่อยเอาคณะกรรมการท่านอื่นมาลงนามเป็นคู่สัญญาได้ ก็เกิดเป็นคำถามว่า หากจะไปตัด ITD แต่แรกอาจจะไม่มีคู่เทียบในการประมูลหรือไม่ แล้วหากมีเอกชนผ่านรายเดียว ตามกฎหมายก็ต้องไปใช้หลักเกณฑ์คัดเลือกอีกแบบ ซึ่งยุ่งยากมากกว่านี้หรือไม่”

รัฐเสียโอกาสประหยัดงบ

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า ข้อสังเกตที่เป็นประเด็นคำถามของสังคม คือส่วนต่างที่เอกชนขอรับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งพบว่าผู้ชนะประมูลครั้งนี้ BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 78,287 ล้านบาท

ขณะที่ข้อเสนอ BTS ขอรับเงินสนับสนุน 9,675.42 ล้านบาท ดังนั้นหากมาเทียบกับภาครัฐสูญเสียโอกาสในการประหยัดงบประมาณอย่างน้อย 68,612 ล้านบาท หากไม่ล้มประมูลในปี 2563 และประมูลใหม่ในปี 2565

อย่างไรก็ดี ประเด็นข้อสังเกตดังกล่าวคงต้องตั้งคำถามยังคคณะกรรมการคัดเลือกว่าได้ทำหน้าที่ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติหรือไม่ เพราะ BTS เปิดเผยข้อมูลข้อเสนอเหล่านี้ก่อนที่คณะกรรมการคัดเลือกจะเริ่มเจรจากับ BEM แต่เหตุใดจึงไม่เจรจาให้ได้ผลตอบแทนที่ดี ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณได้เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งผู้แทนคณะกรรมการคัดเลือกไม่สามารถตอบได้ชัดเจน

ทั้งนี้ กรณีที่มีคำตอบที่ว่าไม่สามารถนำข้อเสนอทั้งสองส่วนมาเปรียบเทียบกันได้ เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากการประมูลในคนละครั้งกัน เรื่องนี้บีทีเอสอยากชี้แจงให้สังคมได้ทราบข้อมูลว่า การประมูลทั้งสองครั้ง รฟม.กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในหลักเกณฑ์เดียวกัน โดยเอกชนสามารถยื่นขอรับเงินสนับสนุน และกำหนดข้อเสนอการจ่ายเงินตอบแทนให้แก่รัฐได้เอง ดังนั้นเมื่อหลักเกณฑ์การยื่นข้อเสนอทางการเงินเหมือนกัน ก็ต้องถือได้ว่าข้อเสนอของการประมูลทั้งสองครั้งสามารถเปรียบเทียบกันได้

อนุ กมธ.จี้ปมผลตอบแทนรัฐ

นอกจากนี้ การหารือในคณะอนุกรรมาธิการฯ ตัวแทนคณะกรรมการคัดเลือกยังเปิดเผยถึงผลการเจรจาร่วมกับเอกชนผู้ชนะการประมูลว่า ไม่ได้นำข้อมูลของ BTS ไปเปรียบเทียบเจรจาเพราะถือได้ว่าเป็นข้อเสนอในการประมูลคนละครั้ง การเจรจามีเพียงการหยิบยกนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาหารือ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายตั๋วร่วมและยังเจรจาขอลดอัตราค่าโดยสารให้ใช้ราคาเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

“คำชี้แจงจากตัวแทนคณะกรรมการคัดเลือก ทำให้เกิดคำถามที่ว่าคณะกรรมการคัดเลือกได้รักษาผลประโยชน์แก่ประเทศชาติแล้วหรือยัง ตัวเลขที่ต่างกันถึง 6 หมื่นล้านบาท ชี้ให้เห็นว่าในระยะ 30 ปี BEM ไม่ได้เสนอให้ผลตอบแทนแก่รัฐเลย”

ส่วนการเจรจาอัตราค่าโดยสารให้เท่ากับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก็ต้องถือว่าเป็นการเจรจาที่แพงขึ้นหรือไม่ เพราะปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 17-44 บาท ซึ่งค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีส้มจากที่เคยศึกษาไว้น่าจะอยู่ที่ 14-42 บาท ดังนั้นต้องตั้งคำถามว่า ขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกได้เจรจาเพื่อประโยชน์สูงสุดอย่างไร