คืบหน้า ประกันรายได้ ปีสุดท้ายรัฐบาล จ่อเข้า ครม.”บิ๊กตู่”

คืบหน้า ประกันรายได้  ปีสุดท้ายรัฐบาล จ่อเข้า ครม.”บิ๊กตู่”

โครงการประกันรายได้ พืช 5 ชนิด ” ข้าว ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังและยางพารา “ เดินหน้าสู่ที่ปี 4 รอครม.เคาะไม้สุดท้าย มั่นใจ”ไร้ปัญหาฉลุยแน่”

โครงการประกันรายได้พืชเกษตร 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน  มันสำปะหลังและยางพารา  โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง และเมื่อได้ร่วมเป็นรัฐบาล ก็ผลักดันโครงการประกันรายได้ถูกบรรจุให้เป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งโครงการประกันรายได้ดำเนินมาเข้าสู่ปีที่ 4 โดยพืชเกษตร  4 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด ปาล์ม และมันสำปะหลัง อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์  ส่วนอีก 1 ชนิด คือ ยางพารา อยู่ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

โดย”นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ “รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ซึ่งเป็นพ่องานหลักในการดำเนินนโยบาย  ปัจจุบันความคืบหน้าของโครงการประกันรายได้ปี 4 ในขณะนี้ขั้นตอนทุกอย่างเรียบร้อย รอเข้าครม.เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

ไล่เลียงมาตั้งแต่ โครงการประกันรายได้ข้าวที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกรอบวงเงิน เพื่อใช้สำหรับจ่ายชดเชยและเป็นค่าบริหารจัดการโครงการ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว วงเงินรวมทั้งสิ้น 150,127.75 ล้านบาท  

โดยประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด ประกอบด้วย 

1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกัน 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน 

2.ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกัน 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน 

3.ข้าวเปลือกปทุมธานี ราคาประกัน 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน 

4.ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกัน 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน 

5.ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกัน 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณางบประมาณ 

คืบหน้า ประกันรายได้  ปีสุดท้ายรัฐบาล จ่อเข้า ครม.”บิ๊กตู่”

โครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน   คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2565-2566 ให้เริ่มจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ งวดที่ 1 แก่เกษตรกรตั้งแต่เดื อนก.ย.2565 เพื่อให้มีความต่อเนื่องจากโครงการปี 2564-2565 โดยประกันราคาที่ 4 บาทต่อกิโลกรัม 

โครงการประกันรายได้ข้าวโพด  โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีที่ 4 โดยจะเริ่มประกันรายได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 65-30 เม.ย. 67 และประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดที่เริ่มปลูกตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65-31 พ.ค. 66 สำหรับงวด 1 จะเริ่มจ่ายตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. 65 เป็นต้นไปหากราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่ำกว่ากิโลกรัม (กก.) ละ 8.50 บาท ซึ่งเป็นราคาประกัน โดยเตรียมงบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 1,669.8 ล้านบาท มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 452,000 ราย 

โครงการประกันรายได้มันสำปะหลัง โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง(นบมส.) มติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 4   โดยเงื่อนไขเหมือนกับ 3 ปีที่ผ่านมาทุกประการ คือประกันรายได้กิโลกรัมละ 2.50 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตัน เริ่มตั้งแต่ 1 ธ.ค.-1พ.ย.66 จ่ายเงินส่วนต่าง 12 งวด งบประมาณ 4,743.5 ล้านบาท  และยังเห็นชอบมาตรการคู่ขนาน รวมวงเงิน 5,035.3 ล้านบาท 

คืบหน้า ประกันรายได้  ปีสุดท้ายรัฐบาล จ่อเข้า ครม.”บิ๊กตู่”

โครงการประกันรายได้ยางพารา โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)มีมติเห็นชอบเดินหน้าโครงการดังกล่าวเป็นปีที่ที่  โดยมียางพารา  3 ชนิด 1.ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม 2.น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม 3.ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม คาดใช้วงเงินรวม 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา  นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเพื่ออนุมัติต่อไป 

“นโยบายประกันรายได้เกษตรกร” กำลังเดินหน้าขึ้นปีที่ 4 วงเงิน  178,832.85 ล้านบาท  ซึ่งประกันรายได้ปี 4 จ่อเข้าสู่การพิจารณาของครม.เพื่อขอความเห็นชอบเดินหน้าต่อไป  ถือเป็นโครงการปีสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด โครงการดังกล่าวได้ไปต่อแน่นอน 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อดูแลเกษตรกรทั่วประเทศ ในทางกลับกันก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงการประกันรายได้ ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินในการดำเนินโครงการ เพื่อจ่ายเงินที่ชดเชยประกันรายได้สินค้าเกษตรทั้ง 4 ชนิด  ผ่านมา 3 ปี  ก่อภาระให้กับการคลังไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท และเมื่อเดินหน้าต่อก็ทำให้รัฐต้องเตรียมงบประมาณเพื่อชดเชยรายได้เพิ่มอีก 1 ปี ซึ่งอาจกลายเป็นระเบิดเวลาวิฤตการคลังของประเทศได้