ดาวโจนส์พลิกร่วง 90 จุด เหตุบอนด์ยีลด์พุ่งกดดันตลาด

ดาวโจนส์พลิกร่วง 90 จุด เหตุบอนด์ยีลด์พุ่งกดดันตลาด

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี(20ต.ค.)ปรับตัวร่วงลง 90 จุด หลังพุ่งขึ้นกว่า 100 จุดในช่วงแรก โดยตลาดถูกกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 90.22 จุด หรือ 0.30% ปิดที่ 30,333.59 จุด

ดัชนีเอสแอนด์พี500 ลดลง 29.38 จุด หรือ 0.80% ปิดที่ 3,665.78 จุด

ดัชนีแนสแด็ก ลดลง 65.66 จุด หรือ 0.61% ปิดที่ 10,614.84 จุด

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.186% ในวันนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551

การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

นายแพทริก ฮาร์เกอร์ ประธานเฟด สาขาฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาแทบไม่สามารถสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ ดังนั้นเฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

"เราต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเรารู้สึกผิดหวังต่อการขาดความคืบหน้าในการสกัดเงินเฟ้อ ผมคาดว่าเราต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าระดับ 4% ภายในปลายปีนี้" นายฮาร์เกอร์กล่าว

นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนพ.ย.และธ.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จำนวน 5 ครั้งติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้น 0.75% ในเดือนมิ.ย.,ก.ค.และก.ย. ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดจะพุ่งแตะระดับ 4.50-4.75% ในสิ้นปีนี้

นายฮาร์เกอร์ระบุว่า เฟดจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า และจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง และหลังจากนั้น เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจ

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 214,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 230,000 ราย

นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -8.7 ในเดือนต.ค. จากระดับ -9.9 ในเดือนก.ย.

อย่างไรก็ดี ดัชนีภาคการผลิตดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -5.0
สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองลดลง 1.5% สู่ระดับ 4.71 ล้านยูนิตในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2555 และเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน