ลุ้นมติ "กบง". 20 ต.ค. เคาะตรึงก๊าซหุงต้ม 408 บาทต่อถังอีก 1 เดือน

ลุ้นมติ "กบง". 20 ต.ค. เคาะตรึงก๊าซหุงต้ม 408 บาทต่อถังอีก 1 เดือน

จับตา พรุ่งนี้ บอร์ด "กบง." เคาะตรึงราคาก๊าซหุงต้มเดือนพ.ย. 2565 ถัง 15 กก. ราคา 408 บาท ต่ออีก 1 เดือน "กองทุนน้ำมัน" ติดลบกว่า 1.2 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 20 ต.ค. 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จะพิจารณาทบทวนราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนที่เดิมกบง.ได้กำหนดแนวทางการตรึงราคาไว้ที่ 408 บาทต่อถัง15 กิโลกรัม (กก.) มีผล 1-31 ต.ค. 2565 หลังจากก่อนหน้านี้ ขยับขึ้นมา เดือนละ 1 บาทต่อกก.รวม  6 บาทต่อกก. (เม.ย.-ก.ย. 65)  โดยแนวทางการพิจารณา คืออาจคงราคาเดิมต่อไปอีกในเดือนพ.ย.นี้ เพื่อดูทิศทางราคาตลาดโลก หรือ ปรับขึ้น 1 บาทต่อกก.เป็นเวลา 3 เดือน(1พ.ย.-31ม.ค.66) หลังจากนั้นก็ขึ้นอีก 1 บาท/กก.เป็นเวลา3 เดือน  (ก.พ-เม.ย.66) เพื่อลดภาระการอุดหนุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

“ต้องดูว่ามติ กบง.วันพรุ่งนี้ จะตัดสินใจในเรื่องราคาก๊าซแอลพีจีที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ใช้เงินกองทุนน้ำมันสนับสนุนอยู่ในปัจจุบันว่าจะสามาถอุดหนุนได้ต่อไปหรือไม่อย่างไร ซึ่งล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายร่วมหาของขวัญปีใหม่ ให้ประชาชน ในขณะที่กองทุนน้ำมันล่าสุดติดลบแล้ว 1.26 แสนล้านบาท จากการอุดหนุนทั้งราคาแอลพีจี และดีเซล”

ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันฯอุดหนุนแอลพีจีอยู่ที่ 6.96 บาทต่อกก. โดยราคาต้นทุนอยู่ที่ 442 บาทต่อถัง 15 กก. ราคาคาร์โก้อยู่ที่ราว 540 ดอลลาร์ต่อตัน โดย ณ วันที่ 16 ต.ค. 2565 ฐานะสุทธิกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงติดลบที่ 125,690 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 84,126 ล้านบาท และบัญชีLPG ติดลบ 42,564 ล้านบาท 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า จากฐานะกองทุนน้ำมันที่ติดลบ ทำให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  (สกนช.) มีการบริหารงานจ่ายเงินแก่ผู้ค้ามาตรา 7 ล่าช้ากว่า ปกติ ในขณะที่บางช่วงของราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงรวดเร็ว สกนช.ไม่ยอมเก็บเงินกองทุนน้ำมันเพิ่มในส่วนของกลุ่มเบนซิน และกลุ่มดีเซลที่รวดเร็ว จึงทำให้เงินกองทุนน้ำมันยิ่งติดลบรวดเร็ว  และส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันมีค่าการตลาดกลุ่มเบนซินในบางช่วงที่สูงกว่าควรจะเป็นได้มากถึงระดับ 2 บาทต่อลิตร โดยอ้างว่านำมาถัวกับค่าการตลาดที่ภาครัฐขอความร่วมมือดูแลดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร