"เที่ยวญี่ปุ่น" ดีมานด์ทะลักไฮซีซัน! JNTO โหมโปรโมทดึงคนไทยฟื้นรายได้

"เที่ยวญี่ปุ่น" ดีมานด์ทะลักไฮซีซัน!  JNTO โหมโปรโมทดึงคนไทยฟื้นรายได้

นับตั้งแต่ “ฟูมิโอะ คิชิดะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงเมื่อ 22 ก.ย. 65 ว่า “ญี่ปุ่น” จะยกเลิกการจำกัดจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศ และกลับมาอนุญาตให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าประเทศโดยไม่ต้องผ่านบริษัททัวร์ และเปิดรับฟรีวีซ่าท่องเที่ยวรายบุคคลอีกครั้ง มีผลตั้งแต่ 11 ต.ค.65

ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญต่อตลาด “คนไทยเที่ยวญี่ปุ่น” ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง! สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นโดยไม่ต้องขอวีซ่า พำนักได้ไม่เกิน 15 วัน เหมือนกับช่วงปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19

ศิริพร บัณฑิตย์จิรกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หลังจากญี่ปุ่นประกาศ “เปิดประเทศ” นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าไปได้ไม่ยุ่งยาก มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.2565 เป็นต้นไป โดยมีเงื่อนไขเพียงอย่างเดียวที่เพิ่มมาจากสมัยก่อนโควิด-19 ระบาดคือ ต้อง “แสดงเอกสารรับรอง” อย่างใดอย่างหนึ่ง

ระหว่าง 1.ใบรับรองการตรวจโควิด-19 ผลเป็นลบ โดยต้องตรวจภายใน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางจากไทย ด้วยวิธีที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนด เช่น RT-PCR (ไม่สามารถใช้ผลตรวจ ATK ได้)

หรือ 2.ใบรับรองการฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม ด้วยยี่ห้อวัคซีนตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศรับรอง เช่น ฉีดซิโนแวคหรือซิโนฟาร์มครบ 3 เข็ม หรือฉีดซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม 2 เข็มแรก ตามด้วยไฟเซอร์ โมเดอร์นา หรือแอสตราเซเนก้าเป็นเข็มที่ 3 ก็สามารถเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้

ตามที่ JNTO ได้ติดตามผลตอบรับจากบริษัททัวร์ ส่วนใหญ่บอกว่ากระแสตอบรับดีมาก! นักท่องเที่ยวไทยต้องการเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงไฮซีซัน “ฤดูใบไม้เปลี่ยนสี” และ “ฤดูหนาว” โดยเฉพาะช่วงหยุดยาว “เทศกาลปีใหม่” มีดีมานด์จองแพ็คเกจท่องเที่ยวเข้ามามากพอสมควร บริษัททัวร์ถึงขั้นต้องรับพนักงานเพิ่มเพื่อรองรับกระแสการเดินทางที่ฟื้นตัว

“นอกจากนี้ยังรับทราบจากบริษัททัวร์เช่นกันว่า เมื่อดีมานด์ท่องเที่ยวญี่ปุ่นฟื้นตัวเร็ว ทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางไทย-ญี่ปุ่น แพงขึ้น 15-20% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยบางส่วนเลือกใช้วิธีแวะเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศอื่นเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย”

สำหรับแนวทางการส่งเสริมตลาดคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นนับจากนี้ JNTO จะมุ่งโปรโมทตลาดกลุ่มเดินทางซ้ำ กลุ่มเดินทางครั้งแรก และกลุ่มลักชัวรี พร้อมเชิญอินฟลูเอนเซอร์ไทยโปรโมทการท่องเที่ยวเมืองรอง เพราะมั่นใจว่าสินค้าและบริการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นใน 47 จังหวัด ทั่ว 10 ภูมิภาค มีเสน่ห์ ไม่รู้เบื่อ ทำให้คนไทยต้องการไปเที่ยวญี่ปุ่นซ้ำหลายๆ ครั้ง

JNTO เตรียมจัดงานส่งเสริมการขาย “งานเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตัวเอง 2023” (Visit Japan FIT Fair 2023) ครั้งที่ 14 ตั้งแต่วันที่ 27-29 ม.ค.2566 ณ พารากอนฮอลล์ มีกว่า 100 บูธมาร่วมงาน ทั้งผู้ประกอบการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของแต่ละท้องถิ่นในญี่ปุ่น โดยคาดหวังว่าจะมีจำนวนผู้เข้าชมงานใกล้เคียงกับเมื่อปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 55,000 คน ขณะเดียวกันยังเตรียมเข้าร่วมงาน “มหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 28” (Thai International Travel Fair 2023) จัดโดยองค์กรวิชาชีพภาคการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 16-19 ก.พ.2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ด้วย

ด้านสถิติเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่น 1,318,977 คน มากเป็นอันดับ 6 ของตลาดต่างชาติเที่ยวญี่ปุ่น เป็นอันดับ 5 ของตลาดเอเชียเที่ยวญี่ปุ่น และเป็นอันดับ 1 ของตลาดอาเซียนเที่ยวญี่ปุ่น โดยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีจำนวนเกิน 1 ล้านคน!

\"เที่ยวญี่ปุ่น\" ดีมานด์ทะลักไฮซีซัน!  JNTO โหมโปรโมทดึงคนไทยฟื้นรายได้

รายงานข่าวจากสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ระบุว่า หลังจากญี่ปุ่นประกาศเปิดประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.2565 เป็นต้นไป ส่งผลให้ในช่วงวันหยุดยาวตั้งแต่วันที่ 13-16 ต.ค.ที่ผ่านมา “ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์” (เที่ยวบินรหัส XJ) มีอัตราขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) เส้นทางบินจากกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) สู่ประเทศญี่ปุ่น 2 เส้นทาง ได้แก่ โตเกียว และโอซาก้า อยู่ที่ประมาณ 90-95% ทั้งนี้ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ตั้งเป้าหมายโหลดแฟคเตอร์เส้นทางญี่ปุ่นตลอดปีนี้ที่ 85-90%

สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า “ไทยแอร์เอเชีย” (เที่ยวบินรหัส FD) ได้เริ่มให้บริการเที่ยวบินปฐมฤกษ์ เส้นทาง กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) - ฟุกุโอกะ แล้วเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งเเรกของไทยแอร์เอเชียที่เปิดบินตรงสู่ประเทศญี่ปุ่น

“ไทยแอร์เอเชียเลือกบินตรงสู่เมืองฟุกุโอกะ ซึ่งเป็นเมืองน่ารักที่มีศักยภาพพร้อมด้านการท่องเที่ยว โดยหลังประเทศญี่ปุ่นประกาศผ่อนคลายมาตรการ ไม่ต้องใช้วีซ่า ไม่ต้องผ่านทัวร์ ไม่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้ความสนใจการเดินทางสู่ญี่ปุ่นสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเที่ยวบินปฐมฤกษ์ขาเข้าฟุกุโอกะที่ผ่านมามีอัตราขนส่งผู้โดยสารสูงถึง 95% และเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ปลายปีกระเเสการเดินทางจะเติบโตต่อเนื่อง”

ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียบินตรงเส้นทางสู่ฟุกุโอกะแล้ว 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส A321 จำนวน 236 ที่นั่ง และจะเพิ่มเป็น 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งเเต่วันที่ 30 ต.ค.นี้ เชื่อมั่นว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี

\"เที่ยวญี่ปุ่น\" ดีมานด์ทะลักไฮซีซัน!  JNTO โหมโปรโมทดึงคนไทยฟื้นรายได้

ทั้งนี้ ไทยแอร์เอเชียได้ทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวเเห่งประเทศไทย (ททท.) อย่างใกล้ชิดในการประชาสัมพันธ์เส้นทางดังกล่าว เป้าหมายสำคัญคือการดึงนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเข้าไทย กระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศช่วงปลายปี

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า หลังจากประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของคนไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับความนิยมจากคนไทย 3 อันดับแรกของปี 2565 ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ สปป.ลาว อ้างอิงข้อมูลจาก Booking.com ผนวกกับได้รับอานิสงส์การที่ “เงินบาท” แข็งค่ากว่าเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศปลายทาง แม้ว่าสินค้าและบริการใน “ญี่ปุ่น” จะปรับราคาขึ้นจากเดิม แต่นักท่องเที่ยวคนไทยมองว่าเป็นราคาพอใจจ่ายด้วยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ชื่นชอบและเป็นความคุ้มค่าทางจิตใจ!

อีกทั้งการเข้ามาทำตลาดท่องเที่ยวขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ และธุรกิจสายการบิน ทั้งสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) กับสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (ฟูลเซอร์วิส) ได้เปิดทำการบินพร้อมกับเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้น ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นจูงใจให้คนไทยกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง วางแผนการเดินทางเที่ยวต่างประเทศแทนในประเทศ โดยใช้โอกาสในช่วงวันหยุดยาวออกเดินทาง ทำให้บรรยากาศท่องเที่ยวในประเทศช่วงวันหยุดยาวระหว่างวันที่ 13-16 ต.ค.ที่ผ่านมาไม่คึกคัก

สำหรับเป้าหมายการดึง “นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น” มาไทยในปีนี้ ททท.ตั้งเป้าไว้ไม่น้อยกว่า 350,000 คน สร้างรายได้ประมาณ 21,000 ล้านบาท หลังจากในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย. มีจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นสะสม 178,557 คน

ส่วนปี 2566 ททท.ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นไว้ที่ 1.25 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 75,000 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริปราว 60,000 บาทต่อคน คิดเป็นการฟื้นตัว 70% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทย 1,787,185 คน สร้างรายได้ 93,758 ล้านบาท ก่อนที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดจะลากยาว กระทบต่อจำนวนในปี 2563 มีจำนวนลดลงเหลือ 320,331 คน ปี 2564 เหลือเพียง 9,461 คน