‘บีเจซี บิ๊กซี’ ลุยซูเปอร์แอ๊ปฯ ระดมคนรุ่นใหม่ ทีมเทค 200 ชีวิตรุกดิจิทัล

‘บีเจซี บิ๊กซี’ ลุยซูเปอร์แอ๊ปฯ  ระดมคนรุ่นใหม่ ทีมเทค 200 ชีวิตรุกดิจิทัล

ตามยุทธศาสตร์ 5 ปี ของ “บีเจซี บิ๊กซี” นอกจากทุ่มงบก้อนโตราว 60,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจแล้ว สัดส่วน 70% คือการให้น้ำหนักในการสยายปีก “ค้าปลีก” ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) ฉายภาพว่า เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางกลับเข้าไทย แม้ยังไร้นักท่องเที่ยวจีน แต่ถือเป็นปัจจัยบวกต่อภาพรวมธุรกิจ

ขณะที่แผนการดำเนินงานของบริษัท โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ 5 ปี ยังคงเดิมเพื่อสร้างการเติบโตให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนมีเพียงแผนงาน กลยุทธ์ในการขยายธุรกิจสำคัญอย่าง “ค้าปลีก” จะต้อง “เร่ง” สร้างเครือข่ายให้แข็งแกร่ง การเปิดสาขาและปรับปรุงสาขา จะต้องลดกระบวนการทำงานให้สั้นลง เพื่อเคลื่อนธุรกิจให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ธุรกิจค้าปลีก “บิ๊กซี” มาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มไม่นาน เพียง 6 ปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับภาพใหญ่ของ “บีเจซี” เป็นองค์กร 140 ปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเน้นผลิต จำหน่ายสินค้าสร้างการเติบโต

“บริษัททำค้าปลีกมาราว 6 ปี ประสบการณ์ยังน้อย จึงต้องเรียนรู้ให้มากขึ้น หาโมเดลค้าปลีกรูปแบบหรือฟอร์แมทใหม่ๆ ทำพื้นที่เช่าให้ดีขึ้น เพื่อทำให้ภาพรวมดียิ่งขึ้น”

ภารกิจการขับเคลื่อนค้าปลีกบิ๊กซี โจทย์ใหญ่คือพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อช่วยแก้ปัญหาหรือ Pain point ให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการมุ่งสร้างแพลตฟอร์มค้าปลีกให้เป็น “ออมนิชาแนล” ตอบสนองนักช้อปยุคใหม่ สานแนวคิดการนำสินค้าไปหาผู้บริโภค ไม่ใช่แค่ผู้บริโภคเดินมายังหาหน้าเพื่อหาซื้อสินค้าและบริการอีกต่อไป

ล่าสุด บีเจซี บิ๊กซี เตรียมคิกออฟแพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ภายใต้ “ซีพลัส” ซึ่งถือเป็นโปรเจคสำคัญ หลังจากซุ่มสร้างบริษัทมากว่า 1 ปี พร้อมระดมทีมคนรุ่นใหม่ เก่งกาจด้านเทคโนโลยี ดิจิทัลกว่า 200 ชีวิต มาร่วมงาน

เป้าหมายของแพลตฟอร์มซีพลัส มุ่งสู่การเป็น “ซูเปอร์แอป” มีบริการครบครัน เช่น อี-วอลเล็ท การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าหรือลอยัลตี้โปรแกรม สะสมคะแนนบิ๊กพอยท์ เทคโนโลยีบล็อกเชน เชื่อมซัพพลายเชน ฯ

“เรามีการตั้งบริษัทใหม่บิ๊กซี ดิจิทัล มีทีมงานใหม่เป็นทีมเทคโนโลยีเข้ามาทำงาน ใช้วิธีการทำงานแบบใหม่ เปิดตึกใหม่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์ไอเดียระหว่างระหว่างตอนรีแล็กซ์ ล่าสุดสามารถปั้นแพลตฟอร์มซีพลัส ที่จะพัฒนาเป็นซูเปอร์แอ๊ปฯ พร้อมยกเครื่องระบบ เทคโนโลยีเก่าของบีเจซี บิ๊กซี ซึ่งเดิมมีระบบสั่งซื้อสินค้า ประมาณการความต้องการของลูกค้า หรืออ Demand Forcasting จากนี้ไปจะนำเอไอ มาใช้เพื่อให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น”

ปัจจุบันบิ๊กซีมีลูกค้าชอปปิงทำธุรกรรมต่างๆกว่า 1 ล้านรายการต่อวัน ขณะที่ฐานสมาชิกมีราว 17-20 ล้านราย โดยการเปิดตัวแอปพลิเคชัน “ซีพลัส” เดือนพฤศจิกายนนี้ ตั้งเป้ายอดดาวน์โหลดแตะ 5 ล้านครั้ง

อย่างไรก็ตาม ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บีเจซี มีการเข้าไปลงทุน ซื้อกิจการบริษัทเทคโนโลยีเสริมแกร่งด้านดิจิทัลต่อเนื่อง เช่น บริษัทย่อยเข้าไปลงทุน 100% ในกิจการ ซี เทค เวียดนาม ซึ่งให้บริการพัฒนาซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีทุนจดทะเบียนคิดเป็นมูลค่า 1 ล้านบาท และบริษัทย่อยได้เข้าไปลงทุนใน ซี เพย์เมนท์ โซลูชั่น ธุรกิจบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์(e-Money) และบริการรับชำระเงินแทน(Bill Payment) ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท

ปัจุจุบันบริษัทมีห้างค้าปลีกทั้งบิ๊กซี มินิบิ๊กซี เพรียว เอ็มเอ็มเมก้า มาร์เก็ตฯ ไม่ต่ำกว่า 2,000 สาขา เช่น ไทยกว่า 1,900 สาขา เวียดนาม 103 สาขา ลาวเกือบ 60 สาขา และกัมพูชา 2 สาขา โดยยังมีร้าน “โดนใจ” ที่ซุ่มพัฒนาโมเดลร้านโชห่วยเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ส่วนเวียดนามมีร้าน “Gia Toh” รูปแบบเดียวกัน เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรเติบโตก้าวกระโดด 

สำหรับแผน 5 ปี(2565-2569)บริษัทตั้งเป้าหมายยอดเติบโตก้าวกระโดดแตะ 270,000 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ย 11-16% ต่อปี ส่วนปี 2564 บริษัทมีรายได้รวมกว่า 150,000 ล้านบาท