กระทรวงอุตฯ สั่งการด่วนช่วยเหลือโรงงานน้ำท่วม เร่งป้องกัน-เยียวยา-ฟื้นฟู

กระทรวงอุตฯ สั่งการด่วนช่วยเหลือโรงงานน้ำท่วม เร่งป้องกัน-เยียวยา-ฟื้นฟู

“สุริยะ” สั่งการกระทรวงอุตสาหกรรมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินสำหรับเฝ้าระวังสถานการณ์ ย้ำเตรียมมาตรการป้องกัน เยียวยา และฟื้นฟู ช่วยเหลือโรงงานที่ได้รับผลกระทบ พร้อมติดตาม ประสานงานสถานการณ์ในพื้นที่ทันที

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เบื้องต้นได้รับรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤติ กระทรวงอุตสาหกรรม ว่าขณะนี้มีพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ สิงห์บุรี ปราจีนบุรี หนองบัวลำภู มหาสารคาม อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

โดยมีผู้ได้รับผลกระทบแล้วจำนวน 59 ราย แบ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม 55 ราย เหมืองแร่ 1 ราย และวิสาหกิจชุมชน 3 ราย จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือโรงงานอุตสาหกรรม และประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเร่งด่วนสำหรับประเมินสถานการณ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และให้ความช่วยเหลือได้ในทันที

พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในด้านต่างๆ เช่น มาตรการด้านสินเชื่อ การจัดทีมงานทำความสะอาด และซ่อมแซมเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม การจัดตั้งคลินิกให้คำปรึกษาแนะนำทางธุรกิจ และการจัดเตรียมถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ภายใต้มาตรการ 3 ระยะ “ป้องกัน เยียวยา ฟื้นฟู”

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมแผนการรับมือไว้ ตามมาตรการ 3 ระยะ ได้แก่ 1. มาตรการป้องกัน ได้มอบหมายให้ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมประสานงานไปยังโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อสำรวจความพร้อมของโรงงานอุตสาหกรรมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัย อาทิ การแจ้งเตือนสถานการณ์ การเฝ้าระวัง การจัดทำแนวกั้นน้ำ การจัดเตรียมกระสอบทราย รถบรรทุก เรือ เครื่องปั่นไฟ ทางระบายน้ำรอบโรงงาน การจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องฉีดน้ำ และอุปกรณ์ป้องกันทางไฟฟ้า

อีกทั้งยังเตรียมการป้องกัน และเฝ้าระวังโรงงานที่มีสารเคมีหรือขยะเป็นพิษเพื่อป้องกันการรั่วซึม และส่งผลกระทบต่อชุมชน ตลอดจนการจัดทำระบบแจ้งเตือน และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

2. มาตรการเยียวยา โดยในเบื้องต้นได้เตรียมถุงยังชีพสิ่งของอุปโภค บริโภค สำหรับนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจเอกชนรายใหญ่ 

ขณะเดียวกันก็เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาด้านแหล่งเงินทุน สินเชื่อ การพักชำระหนี้ ปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์บริการให้คำปรึกษาในการประกอบธุรกิจเพื่อให้คำแนะนำอย่างทันท่วงที    

3. มาตรการ การฟื้นฟู โดยจัด Big Cleaning ให้กับโรงงาน อาคาร และชุมชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซม ปรับปรุง ฟื้นฟู เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการฟื้นฟูธุรกิจแบบบูรณาการ และการจัดตั้งคลินิกเคลื่อนที่ในการดูแลเครื่องจักร

“กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดม้าเร็วในการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น รวบรวม ติดตาม ประสานงานสถานการณ์ในพื้นที่แบบทันที เพื่อให้การช่วยเหลือเข้าถึงผู้ประสบภัยน้ำท่วม และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ผ่าน 3 มาตรการ “ป้องกัน เยียวยา ฟื้นฟู” พร้อมช่วยเหลือเยียวยาหลังน้ำลด ให้ครอบคลุมในทุกความต้องการ และสามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็ว” กระทรวงอุตฯ สั่งการด่วนช่วยเหลือโรงงานน้ำท่วม เร่งป้องกัน-เยียวยา-ฟื้นฟู

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์