ฟื้นตัวแต่ผันผวน ข้อน่ากังวลเกี่ยวกับดอกเบี้ยและครัวเรือนไทย

ฟื้นตัวแต่ผันผวน ข้อน่ากังวลเกี่ยวกับดอกเบี้ยและครัวเรือนไทย

ในปลายปีนี้ไปถึงปีหน้า ครัวเรือนและธุรกิจจะต้องมีการตัดสินใจการเงินที่ไม่เหมือนกับเมื่อก่อน โควิดกำลังเป็นเรื่องปกติของสังคม พร้อมกับการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยวและบริการ การจ้างงานที่ดีขึ้น แต่กลับเจอมรสุม เรื่องเงินเฟ้อด้านอุปทานที่กระจายไปทั่วโลกรวมถึงไทย

เงินเฟ้อมีผลข้างเคียง 2 ประการกับกับเศรษฐกิจ คือ

ประการแรก อำนาจซื้อของเงินภายในประเทศลดลง (จำนวนเงินเท่าเดิม แต่ซื้อของได้น้อยลง) ประการสอง อำนาจซื้อเงินระหว่างประเทศลดลง เช่น เงินบาทอ่อนค่า ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกลางจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างน้อยเพื่อหยุดเงินเฟ้อคาดการณ์ 

ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มาแล้วประมาณ 3% พร้อม ๆ กับ $ แข็งค่า ผลตามมาคือ หลายประเทศ รวมทั้งไทยเผชิญกับเงินของตนเองอ่อนค่า ประเทศไทยก็ประสบกับผลเดียวกันคือ เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี จนมาอยู่ระดับประมาณ THB37/USD 

การจัดการเงินเฟ้อทำได้ 2 ทางหลัก คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้มาก หรือ ธปท. ยอมให้ค่าเงินบาทอ่อน และแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราไม่ให้ผันผวน แทนการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงทั้งสองทางต่างได้อย่างเสียอย่าง (trade off) การขึ้นดอกเบี้ยย่อมส่งผ่านดอกเบี้ยขาขึ้นไปสู่ระบบการเงิน 

ฟื้นตัวแต่ผันผวน ข้อน่ากังวลเกี่ยวกับดอกเบี้ยและครัวเรือนไทย

เช่น ธนาคาร โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีคนจำนวนมากเกี่ยวข้องกับธนาคาร กู้บ้าน personal loans สินเชื่อธุรกิจ ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูง ส่วนการทำให้เงินบาทอ่อนค่าย่อมต้องให้ ธปท. แทรกแซงโดยการขายเงินตราต่างประเทศในตลาด

และเงินสำรองระหว่างประเทศจะลดลง (จริงๆ เงินสำรองตอนนี้ของไทยแข็งแกร่ง และเชื่อว่า ธปท. น่าจะไม่แทรกแซงมากเกินไป เพราะมีประสบการณ์จากปี 2540) เป็นไปได้ว่า ทางเลือกการขึ้นดอกเบี้ยมีโอกาสเกิดขึ้นสูง

ทฤษฎี Impossible Trinity อธิบายว่าการใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ การไหลเข้าออกอย่างเสรีของเงินทุนระหว่างประเทศ และการดำเนินนโยบายการเงิน (อัตราดอกเบี้ย) ในประเทศที่เป็นอิสระ ทั้ง 3 อย่างไม่สามารถคงอยู่ร่วมกันได้

แต่สามารถทำได้เพียง 2 จาก 3 โดยเฉพาะในระยะยาว นัยนี้ชี้ว่าไทยเลือกนโยบายการเงินภายในประเทศ และการไหลเข้าออกของเงินทุนได้เสรี แต่ยอมให้การเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยนของไทยเป็นเสมือนตัวดูดซับ (Absorber) ของผลกระทบเศรษฐกิจภายนอกประเทศ 

เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากต่างประเทศ ทำให้เงินบาทอ่อนค่า แทนที่อัตราดอกเบี้ยในไทยต้องขึ้นตามต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยในประเทศที่เป็นอิสระกับอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ หลาย ๆ ครั้ง มีความสำคัญ อย่างน้อยก็ด้วยเหตุผลเรื่องวัฎจักรเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ฟื้นตัวแต่ผันผวน ข้อน่ากังวลเกี่ยวกับดอกเบี้ยและครัวเรือนไทย

สภาพแวดล้อมของดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ผู้คนต้องพบกับการตัดสินใจทางการเงินที่ไม่เหมือนเดิม ณ ตอนนี้ เกือบทุกธนาคารขึ้นดอกเบี้ย (เกิดการส่งผ่านนโยบายการเงินมาที่ธนาคาร) ดอกเบี้ยเงินกู้น่าจะขึ้นเร็วกว่าเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR (ธุรกิจ) ก็จะขึ้นเร็วกว่า MRR (ประชาชน) ดอกเบี้ยเงินฝากจะเริ่มมีโปรโมชั่น เสนอดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เพื่อจูงใจล็อคเงินฝากด้วยระยะเวลา 1-2 ปี ใกล้ตัวหน่อย 

ประชาชนที่จะสร้างหนี้ใหม่จะต้องระวัง และหนี้เดิมต้องจัดการให้ดี ในระยะสั้นของปีนี้ เราคิดว่า MRR จะยังไม่ขยับ หมายความว่า ใครมีหนี้บ้านก็ยังสบายใจได้ระยะหนึ่ง เพราะหนี้ที่อยู่อาศัยเชื่อมโยงกับ MRR ใครเพิ่ง refinance ได้ดอกเบี้ยคงที่ พอไหวก็รีบส่งผ่อนเพิ่มเพื่อไปตัดเงินต้นให้ลดเร็วขึ้นเพื่อรองรับดอกเบี้ย MRR ที่จะขึ้นปีหน้า 

แต่สำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะรายย่อยอาจน่ากังวล ธุรกิจกลุ่มนี้เพิ่งเริ่มกลับมาฟื้นตัว สภาพการณ์ของดอกเบี้ยส่งผลต่อการรักษาสภาพคล่องและการบริหารดอกเบี้ยจ่ายได้ ดังนั้น หากเป็นไปได้ควรคิดเรื่องความปลอดภัยของกำไร (Margin Safety)  ก่อนตัดสินใจลงทุน อุปกรณ์ เครื่องจักร และขยายโรงงาน 

อีกประเด็นที่ต้องขยายคือ ล่าสุด ธปท. ส่งสัญญาณแล้วว่าดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ขึ้นเร็วและมาก ตามต่างประเทศ เพราะให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวภายในประเทศ แปลว่า คนไทยอาจพออุ่นใจเรื่องต้นทุนดอกเบี้ย แต่อย่าไปสร้างหนี้ทีไม่จำเป็น

ส่วนตัวคิดว่าค่าเงินบาทยังคงอ่อนตามการแข็งค่า $ เนื่องจากสหรัฐยังขึ้นดอกเบี้ย อย่างน้อยที่ระดับ THB37/USD ทำให้เกิด การส่งผ่านอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Pass-Through) มาสู่ราคาสินค้าภายในประเทศ 

ผ่านราคาวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลาง/สินค้าสำเร็จรูป ราคาสินค้าภายในประเทศอาจผันผวน เป็นต้นทุนทางอ้อมให้กับครัวเรือน ธุรกิจ ร่วมกับดอกเบี้ยในไทยที่เป็นทิศทางขาขึ้น จากข้างต้นตีความได้ว่า ธปท. จะขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ให้กระทบการฟื้นตัวหลัง Covid-19 และไม่กระทบกลุ่มหนี้ครัวเรือน 

ในไม่ช้าสถานการณ์ระดับมหภาคจะส่งผ่านไปสู่ระดับภูมิภาค ภาคอีสานเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่น่าจับตา เพราะมีมีจำนวนประชากรมากถึง 1 ใน 3 ของประเทศ แต่มีรายได้ต่อหัวน้อยสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ และมีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง (หนี้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค) 

นอกจากนี้ การลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลสำหรับการวิจัยในหลายโอกาสยังพบประเด็นเกี่ยวกับความรู้ทางการเงินอย่างน้อย 2 ข้อ ที่ไม่น่าส่งเสริมให้รับมือสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นได้อย่างเข้มแข็ง 

1) หลายคนเป็นหนี้และไม่เข้าใจว่าการคำนวณอัตราดอกเบี้ยลอยตัว และอัตราดอกเบี้ยคงที่มีต้นทุนทางการเงินแตกต่างกัน อย่างน้อยทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจากนี้ไปการมีหนี้กับอัตราดอกเบี้ยคงที่ได้ประโยชน์มากกว่าอัตราดอกเบี้ยลอยตัว 

เช่น หนี้ที่อยู่อาศัยควรมีการ refinance หรือ retention เพื่อให้ได้ต้นทุนที่เหมาะสม ขณะที่หนี้อุปโภคบริโภค หนี้รถยนต์ มักเป็นหนี้ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat rate) ที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องรีบไปปิดหนี้ก่อนกำหนด เพราะไม่ได้เป็นหนี้ลักษณะลดต้นลดดอก นอกจากนี้แล้วความรู้เรื่องของดอกเบี้ย 

2) มูลค่าเงินตามเวลาก็เป็นเรื่องที่คนทั่วไปเข้าใจน้อย บุคคลย่อมต้องเผชิญตัดสินใจการเงินระหว่างปัจจุบันและอนาคต เช่น ต้องการเลือกบริโภคระหว่างวันนี้หรือการออมเพื่อเพิ่มการบริโภคในอนาคต

หรือยอมบริโภคมากกว่ารายได้ปัจจุบันแต่ต้องลดการบริโภคในอนาคต ทั้งหมดนี้มีผลต่อการตัดสินใจด้านรายได้ รายจ่าย การออม และการเกิดขึ้นของหนี้สินใหม่ทั้งสิ้น (อันที่จริงยังมีประเด็นอื่นๆที่เราพบเห็นอีก เช่น ประเด็นความเอนเอียงมายังปัจจุบัน การกระทำตามบรรทัดฐานสังคม ฯลฯ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ดอกเบี้ยโดยตรง ซึ่งคงขอยกไว้เล่าถึงในคราวต่อ ๆ ไป)

การขาดความรู้ทางการเงินที่กล่าวมาต้องไม่วางบนสมมติฐานว่าครัวเรือนเป็นต้นเหตุ นานมาแล้วครัวเรือนอีสานเผชิญกับการตัดสินใจทางเศรษฐกิจที่บีบคั้นด้วยความยากลำบาก แค่เอาตัวรอดให้ได้แต่ละวันก็ยากพอแล้ว

ดังนั้น โจทย์ที่ต้องคิดต่อคือ จะหาทางส่งความรู้ทางการเงินที่จำเป็นเหล่านี้ไปยังครัวเรือนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่โดยที่ไม่ได้สร้างภาระแก่พวกเขาเพิ่มเติมได้อย่างไร เพื่อทำให้อยู่รอดจากความผันผวนและฟื้นตัวไปด้วยกัน