เอ็กซ์โปลิงค์ เร่งเครื่องงานแสดงสินค้า ขานรับตลาดฟื้น ปลุกรายได้โต

เอ็กซ์โปลิงค์ เร่งเครื่องงานแสดงสินค้า ขานรับตลาดฟื้น ปลุกรายได้โต

ตลาดไมซ์ฟื้นตัวต่อเนื่อง กลุ่มเทรดแฟร์ กลับมาจัดอีเวนต์คึกคัก “เอ็กซ์โปลิงค์” ลุย 4 งาน ปลุกรายได้เติบโต ชี้โมเมนตัมปี 2566 ธุรกิจคืนชีพเต็มที่

นายภูษิต ศศิธรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมไมซ์ หรือการประชุม งานแสดงสินค้า อีเวนต์ต่างๆ เริ่มมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย การเปิดประเทศ ทำให้บริษัทเดินหน้าจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างการเติบโตของรายได้ปี 2565

ทั้งนี้ กิจกรรมแรกที่คิกออฟในปี 2565 คือ งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มสุดยิ่งใหญ่ของเอเชียหรือ THAIFEX - ANUGA ASIA 2022 ซึ่งสามารถจัดบนพื้นที่กว่า 8 หมื่นตารางเมตร(ตร.ม.) และยังมีงานแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีอาหารสัตว์ และสุขภาพแบบครบวงจร หรือ VICTAM Asia and Health & Nutrition Asia 2022 เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายภายในปีนี้บริษัทจะกลับมาจัดงานให้ครบ 4 งาน

ล่าสุด เตรียมจัดงาน LogiMAT | Intelligent Warehouse (2022) ซึ่งเป็นการรวม 2 งานใหญ่ระดับโลกเข้าด้วยกันทั้งงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับโซลูชันการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมการจัดการระบบคลังสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และงานด้านโลจิสติกส์เข้าด้วยกัน โดยจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม นี้ ที่ศูนย์แสดงสินค้า และการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ทั้งนี้ ไฮไลต์ในงานคือ การนำทัพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ กว่า 80 แบรนด์ มาดึงผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม ผู้มีศักยภาพในการลงทุน ผู้มีส่วนตัดสินใจใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนองค์กรราว 5,000 รายมาร่วมงาน ผลักดันเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

“โลจิสติกส์มีความสำคัญอย่างมากกับเศรษฐกิจไทย เพราะถือเป็นต้นทุนราว 17% ของการขนส่งสินค้า เมื่อเทียบกับเยอรมนีอยู่ที่ 6% เท่านั้น การจัดงาน LogiMAT | Intelligent Warehouse จะมีการนำเสนอเทคโนโลยี องค์ความรู้ การสัมมนา อัปเดตเทรนด์เกี่ยวกับโลจิสติกส์ คลังสินค้าให้ผู้ประกอบการนำไปยกระดับธุรกิจตนเอง”

สำหรับการจัดงานปีนี้ คาดว่าจะเป็นกุญแจสำคัญผลักดันการรับรู้รายได้บริษัทอยู่ที่ 150 ล้านบาท จากก่อนโควิดมีรายได้ 200-300 ล้านบาท โดยแนวโน้มปีหน้าคาดว่าตลาดไมซ์จะฟื้นตัวเต็มที่ และกลุ่มเทรดแฟร์จะมาก่อน เนื่องจากภาคธุรกิจต้องติดต่อกันโดยตรง

นายสราวุธ เล้าประเสริฐ อุปนายกสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย กล่าวว่า ธุรกิจคลังสินค้าในประเทศไทยมีพื้นที่ราว 5 ล้านตารางเมตร แต่การนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้มีเพียง 20% เท่านั้น หากผู้ประกอบการต้องการยกระดับให้มีมาตรฐานสากล ต้องเน้น 3 เรื่อง ได้แก่ 1.วางโครงสร้างพื้นฐานให้เข้าถึงต้นทางโลจิสติกส์นั่นคือ คลังสินค้า 2.ยกระดับการจัดการและเทคโนโลยี ซึ่งต้องมีการลงทุน เช่น นำอินทราโลจิสติกส์หรือ นวัตกรรมการจัดการระบบคลังสินค้ามาใช้ แต่ยอมรับกฎหมายไทยยังเป็นข้อจำกัด และ 3.ยกระดับองค์ความรู้การบริหารจัดการให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น

“คลังสินค้านับล้านตารางเมตร มีคนทำงานหลักแสนคน ตั้งแต่พนักงานหยิบสินค้า แพ็กสินค้า พนักงานดูแลความปลอดภัย ผู้จัดการ เราต้องเพิ่มทักษะ องค์ความรู้มากขึ้น”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์