ส่องความปัง! "สยามพิวรรธน์" ยักษ์ค้าปลีกไทย เป็น "ที่ 1 ของโลก" ด้านอะไรบ้าง

ส่องความปัง! "สยามพิวรรธน์" ยักษ์ค้าปลีกไทย เป็น "ที่ 1 ของโลก" ด้านอะไรบ้าง

ศูนย์การค้าในเครือ “สยามพิวรรธน์” ยักษ์ค้าปลีกไทย ภายใต้การกุมบังเหียนของแม่ทัพหญิงคนเก่ง “ชฎาทิพ จูตระกูล” ครองอันดับ 1 ของโลกในด้านอะไรบ้าง “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนไขความสำเร็จ ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย เฟ้นหาวิธีการ จนถึงผลลัพธ์ความสำเร็จมากมายที่เกิดขึ้น

ในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 เมื่อวันอังคารที่ 4 ต.ค. 2565 จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ ภายใต้หัวข้อ Power Women พลิกธุรกิจรับโลกเปลี่ยน”

ซีอีโอหญิงจอมแกร่ง ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ เจ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพฯ ได้ร่วมถ่ายทอดแนวคิดการบริหารธุรกิจศูนย์การค้าและค้าปลีก ให้สามารถครองใจทุกคนในฐานะ “ที่หนึ่งของโลก!” ในด้านต่างๆ จนทั่วโลกต้องหันมามองและชื่นชม

ชฎาทิพ เล่าว่า “สยามพิวรรธน์” ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นแรกๆ ของประเทศไทย โลดแล่นในวงการมากว่า 63 ปี อยู่คู่กับประเทศนี้ ผ่านวิกฤตการณ์มาทุกรูปแบบ (ย้ำ) ทุกรูปแบบจริงๆ ด้วยที่ตั้งศูนย์การค้าของสยามพิวรรธน์อยู่กลางย่านสยาม ตอนแรกๆ ก็เป็นสมรภูมิทางด้านการค้า อยู่ไปอยู่มาก็เป็นสมรภูมิของทุกชนิด แต่ก็ถือว่าเราได้รับเกียรติที่ได้อยู่ตรงนี้ และได้เรียนรู้การข้ามผ่านทุกวิกฤติมาได้ในทุกยุคสมัย

 

“การระบาดของโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งวิกฤติที่สร้างการเรียนรู้อันยิ่งใหญ่ แต่เนื่องจากสยามพิวรรธน์สั่งสมภูมิคุ้มกันมามาก เรามีวิธีการรับมือกับวิกฤติ ทุกครั้งเราก้าวข้ามมาได้ ทำให้วันนี้ผลประกอบการของศูนย์การค้าทุกแห่งในเครือสยามพิวรรธน์ช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีรายได้มากกว่า 9 เดือนแรกของปี 2562 ก่อนโควิดระบาด”

โดยในปี 2562 เป็นปีที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยจำนวนมหาศาล นักท่องเที่ยวต่างชาติกินส่วนแบ่ง 20-30% ของทราฟฟิกทั้งหมด แต่ในปี 2565 นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเหมือนเดิม แต่รายได้ของเราแซงปี 2562 ไปแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า “ประเทศไทยยังมีดี!”

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานของสยามพิวรรธน์ เราไม่เคยต้องการเป็นที่ 1 ด้านจำนวนศูนย์การค้า หรือที่ 1 ด้านขนาดพื้นที่ใช้สอย แต่เราใช้กลยุทธ์ของเรา นั่นคือการเป็น Top of Mind” มีทั้งหมด 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่

 

++ ที่หนึ่งในใจผู้คน

เป้าหมาย :

การเป็นที่หนึ่งในใจผู้คนนั้นสำคัญมาก! เพราะที่หนึ่งด้านตัวเลข ยอดขาย หรือขนาดพื้นที่ใช้สอย ไม่ได้แปลว่าเราจะอยู่ยงคงกระพันและเจริญต่อไปได้ แต่ถ้าเราเป็นที่หนึ่งในใจผู้คน ไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่หมายรวมถึงคนทั้งโลก นี่คือเป้าหมายของสยามพิวรรธน์ตลอดมา

ผลลัพธ์ : สุดยอดสถานที่ของไทยที่นักท่องเที่ยวโหวตให้มากที่สุด

-สยามพารากอน ได้อันดับ 6 ของโลก ของสถานที่ที่มีผู้เช็กอินมากที่สุดบนเฟซบุ๊ก (Facebook)

มากกว่าไทม์สแควร์ นิวยอร์ก, หอไอเฟล และพระราชวังแวร์ซายส์ ปารีส โดยเป็นสถานที่เดียวในภูมิภาคเอเชียจนถึงวันนี้ที่ติด Top 10 ของสถานที่ที่มีผู้เช็กอินบนเฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก

-สยามพารากอน เคยได้อันดับ 1 ของโลก สถานที่ที่มีผู้เช็กอินมากที่สุดบนอินสตาแกรม (Instagram)

-สยามเซ็นเตอร์ ศูนย์การค้าแห่งแรกของประเทศไทย มีอายุครบ 48 ปีแล้ว ได้รับการโหวตจากนักท่องเที่ยวจีนว่าเป็นอันดับ 1 ของศูนย์การค้าที่นักท่องเที่ยวจีนรักมากที่สุดในประเทศไทย

-ศูนย์การค้าในเครือฯ เช่น สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และไอคอนสยาม ยังได้รับการโหวตจากสมาคมด้านค้าปลีกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

++ ที่หนึ่งในใจคู่ค้า

เป้าหมาย :

เราต้องการเป็นที่หนึ่งในใจคู่ค้า เพราะการทำธุรกิจคือ “การเพิ่มเพื่อน” ไม่ใช่แค่ค้าขาย แต่ต้องเป็นเพื่อนกัน โดยปัจจุบันสยามพิวรรธน์มีคู่ค้าเป็นหมื่นราย

ผลลัพธ์ :

-สร้างยอดขายเป็นที่ 1 ของประเทศ และติดอันดับ Top 10 ของโลก

-สร้างทราฟฟิกมากกว่า 100 ล้านคนต่อปี

ไม่ว่าคู่ค้าจะมีร้านค้าที่ศูนย์การค้าไหนก็ตาม แต่สาขาที่อยู่ในศูนย์การค้าเครือสยามพิวรรธน์ สามารถสร้างยอดขายเป็นที่ 1 ของประเทศไทยตลอดมา และสำหรับแบรนด์สินค้าระดับนานาชาติ (International Brand) ทางสยามพิวรรธน์สามารถทำให้ยอดขายของแบรนด์นั้นๆ ติดอันดับ Top 10 ของโลก

โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ระบาด ประเทศไทยในสายตาของ International Retailer เขาเรียกเราว่า “ไฮเปอร์ เซล” (Hyper Sale) เพราะมองว่าในช่วงก่อนโควิดระบาด คนไทยน่าจะไปใช้จ่ายซื้อสินค้าในต่างประเทศจำนวนมาก พอไปต่างประเทศไม่ได้ ทำให้ยอดขายในประเทศของแต่ละยี่ห้อนั้นทะลุทะลวง! เติบโต 200-300% ทั้งที่ศูนย์การค้าปิดๆ เปิดๆ แต่ในช่วงนั้นก็มีการปรับตัว ทำตลาดออนไลน์ Chat & Shop รวมถึงขนสินค้าไปขายถึงที่บ้านของลูกค้า VIP เพื่อให้เขาซื้อของได้

หลังจากที่ศูนย์การค้าเปิดให้บริการเต็มที่หลังโควิด-19 คลี่คลาย ยอดขายทะลักทลาย ทางคู่ค้าของเราก็อยากเปิดเพิ่ม ตอนนี้แบรนด์จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ในระดับใดก็ตาม ต่างก็ติดต่อขอพื้นที่เพิ่ม อยากจะเปิดร้านใหม่เพิ่ม เอาแบรนด์อื่นๆ เข้ามาขายอีก

บางคนอาจจะมองว่าแบรนด์ระดับลักชัวรีของต่างประเทศเข้ามาเบียดเบียนเมืองไทย แต่จากข้อมูลการลงทุนของแบรนด์เหล่านี้ หนึ่งแบรนด์เปิดหนึ่งร้าน ใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 200-300 ล้านบาท จ้างงานอีกไม่รู้เท่าไร ถ้าลงทุนสัก 3 สาขา ก็ลงทุนไปเกือบ 1,000 ล้านบาทแล้ว

“และที่เราสร้างยอดขายให้ร้านขายแบรนด์ระดับลักชัวรีเหล่านี้ได้ เป็นเพราะเครือสยามพิวรรธน์สามารถปั้นทราฟฟิกได้มากถึง 100 ล้านคนต่อปี และเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ล้านคนต่อปี นี่คือพลังของศูนย์การค้า”

 

++ ที่หนึ่งในใจพันธมิตรทางธุรกิจ

เป้าหมาย :

“เครือสยามพิวรรธน์อยากเป็นที่ 1 ในใจของพันธมิตรทางธุรกิจ เพราะศูนย์การค้าไม่ได้อยู่คนเดียว แต่เป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 ของผู้คน เป็นประตูแรกของคนที่อยากจะค้าขาย”

โดยเฉพาะตลาดรีเทล ถ้าอยากบุกตลาดประเทศไทย ก็ต้องมาเปิดในศูนย์การค้า เพราะถ้าไปเปิดหน้าร้านเดี่ยวๆ ก็อาจจะยาก ประกอบกับศูนย์การค้าไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่ค้าขาย แต่เราเป็นสถานที่ช่วยส่งแบรนด์และสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรมากมาย

ผลลัพธ์ :

-จับมือกับภาครัฐและเอกชน ในการสร้างสรรค์ร่วมกัน (Co-Create) ธุรกิจและงานระดับโลก

ศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ ร่วมมือกับธุรกิจแทบจะทุกเซ็กเตอร์ เช่น เปิดตัวโครงการต่างๆ ก็เลือกมาเปิดตัวในศูนย์การค้า

-จับมือพันธมิตรระดับโลก สร้างธุรกิจและโครงการที่เป็นต้นแบบในการปฏิวัติวงการค้าปลีก

สยามพิวรรธน์ทำงานเหมือนศูนย์การค้าเป็น “แพลตฟอร์ม” สร้างการเจริญเติบโตให้แก่ธุรกิจรายอื่นๆ ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าของเรา

 

++ ที่หนึ่งของโลก ด้วย 40 รางวัลชนะเลิศ

เป้าหมาย :

เรื่องนี้สำคัญมาก เวลาพูดถึงเรื่องที่หนึ่งของโลก คนที่รู้สึกหนาวคนแรกคือผู้บริหารและพนักงานทั้งหมดของสยามพิวรรธน์ แต่ต้องไม่ลืมว่า “ประเทศไทย” เป็น “ที่หนึ่งในใจ” ของคนทั้งโลก! ได้รับการโหวตว่าอยากมาเที่ยวประเทศไทย เพราะรักเมืองไทย รักวัฒนธรรมไทย และรักคนไทย

ศูนย์การค้าจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการเป็น “แม่เหล็กสำคัญ” ดึงดูดคนทั้งโลกให้อยากมาเที่ยวประเทศไทย ในฐานะ “สวรรค์แห่งการชอปปิง” (Shopping Paradise)

เมื่อถามว่าทำไมสยามพิวรรธน์ถึงอยากเป็นที่หนึ่งของโลก ถ้าเราสามารถทำศูนย์การค้าของเราให้เป็นที่หนึ่งของโลกได้ เราจะเป็น “กลไกสำคัญ” ที่ทำให้คนทั้งโลกรู้ว่า คนไทยไม่แพ้ใคร! ประเทศไทยมีดี! ดึงดูดคนมาเที่ยวไทยได้ เพราะเราเอาชนะศูนย์การค้าอื่นๆ ของโลกได้

ผลลัพธ์ :

-ที่ 1 ด้านนวัตกรรมและการออกแบบ

-ที่ 1 ในการปฏิวัติวงการค้าปลีก

-ที่ 1 ด้านการตลาดที่สร้างประสบการณ์ระดับโลก

-ที่ 1 การสร้างจุดหมายปลายทางที่คนทั่วโลกปรารถนามาเยี่ยมชม

-ที่ 1 การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

เราได้ที่หนึ่งของโลกมาหลายรางวัล เฉพาะรางวัลชนะเลิศได้มาถึง 40 รางวัลจากหลากหลายแขนง ทั้งที่เราไม่ได้มีศูนย์การค้าทั่วประเทศ แต่เรามีศูนย์การค้า 4 แห่ง และลักชัวรีเอาท์เลตมอลล์ 1 แห่ง รวมแค่ 5 แห่งเท่านั้น ตอนนี้บริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจค้าปลีกในต่างประเทศต้องมาเรียนรู้จากไทยเรา จากก่อนหน้านี้ในยุคที่ตนเริ่มทำศูนย์การค้าใหม่ๆ ต้องบินไปดูงานในต่างประเทศมากมาย แต่ตอนนี้กลับกันแล้ว!

“แม้แต่กลุ่ม LVMH เจ้าของแบรนด์ดังระดับโลกมากมาย เช่น LOUIS VUITTON บอกว่าธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะสยามพิวรรธน์คนเดียว ทุกค่ายเก่งหมด ทุกค่ายทำการบ้านดี ทำให้เขาต้องบินมาเรียนรู้จากเรา”

“คำว่าที่หนึ่งสำคัญกับสยามพิวรรธน์อย่างไร สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยทำได้! และไม่ใช่แค่สยามพิวรรธน์อย่างเดียวที่ทำให้โครงการเหล่านี้สำเร็จได้ แต่เป็นความร่วมมือของคู่ค้า พันธมิตร และทุกคนที่มาร่วมสร้างโครงการของเรา”

 

ทั้งหมดนี้คือ 4 กลยุทธ์ของ สยามพิวรรธน์ ที่ใช้มาตลอด 63 ปี และในอนาคตยังต้องเดินหน้าปรับกลยุทธ์รับ "ความท้าทาย" ที่ถาโถมมาอย่างต่อเนื่อง!