การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ SMEs | ชญานี ศรีกระจ่าง 

การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ SMEs | ชญานี ศรีกระจ่าง 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศเกิดการชะลอตัวเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ทำให้ธุรกิจที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นการช่วยแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องเฉพาะในระยะสั้น ผู้เขียนจึงเสนอการแก้ปัญหาโดยการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างองค์กร โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงกระบวนการการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ SMEs

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 บัญญัติถึงการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในหมวด 3/2 ไว้เฉพาะต่างหากจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และนิติบุคคลอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งอยู่ในหมวด 3/1

กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นธุรกิจ SMEs จะใช้ระยะเวลาสั้น กระชับ เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และเจ้าหนี้ก็จะได้รับชำระหนี้อย่างรวดเร็ว

ในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ SMEs เจ้าหนี้ในหนี้ที่เกิดจากการดำเนินกิจการหรือตัวลูกหนี้เองสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มลายกลางได้ตามมาตรา 90/93 โดยลูกหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการต้องมีลักษณะตามที่กำหนดในมาตรา 90/91 ดังต่อไปนี้ คือ

1) เป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

2) ประกอบธุรกิจ SMEs และ

3) ธุรกิจ SMEs ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หรือจดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นของรัฐ 

การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ SMEs | ชญานี ศรีกระจ่าง 

จากลักษณะของลูกหนี้ดังกล่าว เห็นได้ว่า พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ยังไม่เปิดโอกาสให้ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจ SMEs ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.ล้มละลายต่อสภาเพื่อเปิดช่องให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ตกอยู่ในภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยไม่มีการกำหนดจำนวนหนี้ขั้นต่ำ

นอกจากนี้พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ยังกำหนดหลักเกณฑ์ 3 ประการตามมาตรา 90/92 ที่ผู้ร้องขอต้องระบุในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการดังนี้

1) ลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้ หรือมีเหตุสันนิษฐานว่าลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้ เช่น ลูกหนี้มีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สิน ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดและเมื่อได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้แล้วไม่ชำระหนี้ภายใน 30 วัน  ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งและมีพฤติการณ์แสดงว่าลูกหนี้ผิดนัดหรืออาจผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้รายอื่น เป็นต้น

2) เป็นหนี้ที่เกิดจากการดำเนินกิจการ SMEs เป็นจำนวนแน่นอนตามที่กฎหมายกำหนด โดยกรณีลูกหนี้เป็นบุคคลธรรมดาต้องมีจำนวนหนี้ขั้นต่ำ 2,000,000 บาท หากลูกหนี้เป็นคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด

หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องมีจำนวนหนี้ขั้นต่ำ 3,000,000 บาท และกรณีลูกหนี้เป็นบริษัทจำกัดต้องมีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3,000,000 บาท แต่ไม่ถึง 10,000,000 บาท

การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ SMEs | ชญานี ศรีกระจ่าง 

ดังนี้ หากลูกหนี้ SMEs ที่อยู่ในรูปแบบบริษัทจำกัด มีจำนวนหนี้เกินกว่า 10,000,000 บาท จะไม่สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตามหมวด 3/2 ได้ โดยกรณีดังกล่าวลูกหนี้จะต้องขอฟื้นฟูกิจการตามหมวด 3/1 ที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจำนวนหนี้ขั้นต่ำไว้ไม่น้อยกว่า 10,000,000 บาท

3) มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ ผู้ร้องขอต้องระบุถึงเหตุที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งต้องเป็นเหตุที่มาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่เกี่ยวกับตัวลูกหนี้

เช่น ลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มีเหตุมาสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้น และต้องระบุถึงช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้ได้รับแหล่งเงินทุนใหม่ หรือลูกหนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภค เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 90/94 เจ้าหนี้และลูกหนี้จะไม่สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้หากเข้ากรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้ คือ 1) ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด 2) ศาลหรือนายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกหรือเพิกถอนทะเบียนนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ หรือมีการจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลนั้น หรือนิติบุคคลเลิกกันด้วยเหตุอื่น

หรือ 3) ศาลได้เคยมีคำสั่งยกคำร้องขอ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนยื่นคำร้องขอ 

การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ SMEs | ชญานี ศรีกระจ่าง 

นอกจากที่ผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลางตามหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว ผู้ร้องขอจะต้องแนบเอกสารประกอบการยื่นคำร้องขอตามที่กฎหมายกำหนดด้วย ซึ่งได้แก่ แผนฟื้นฟูกิจการที่มีรายการตามมาตรา 90/96 และหลักฐานที่แสดงว่าเจ้าหนี้ได้ให้ความเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด

และผู้ร้องขอจะต้องชำระค่าขึ้นศาลเป็นจำนวน 1,000 บาท อีกทั้งยังต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายต่อศาลจำนวน 10,000 บาท ตามมาตรา 90/97

การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ SMEs เป็นทางเลือกสำคัญทางเลือกหนึ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้ในการแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินซึ่งทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามกำหนดได้

กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะช่วยให้ลูกหนี้ SMEs มีโอกาสกลับมาประกอบธุรกิจได้อีกครั้งโดยไม่ต้องล้มละลาย ขณะเดียวกันเจ้าหนี้ก็จะได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรม และที่สำคัญยังมีผลให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงอีกด้วย.