เปิดแผนรถไฟปั้นแลนด์มาร์คใหม่ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’

เปิดแผนรถไฟปั้นแลนด์มาร์คใหม่ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’

การรถไฟฯ กางแผนดัน “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ขึ้นแท่นแลนด์มาร์คใหม่ ศูนย์รวมระบบขนส่งทางราง แหล่งช็อปปิ้ง ร้านอาหาร และโรงแรมแคปซูล จ่อประมูลเฟ้นหาเอกชนบริหาร 20 ปี คาดโกยรายได้ไม่ต่ำ 7 พันล้านบาท

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประกาศปั้น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของระบบขนส่งทางรางของไทย แทนสถานีกรุงเทพ หรือ สถานีหัวลำโพง อีกทั้งมีแผนจะประมูลจัดหาเอกชนบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับสถานีแห่งนี้ให้เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของกรุงเทพมหานคร แหล่งรวมร้านค้าช็อปปิ้ง ร้านอาหารพักผ่อนหย่อนใจ และโรงแรมแคปซูลรองรับการเดินทาง คาดสร้างรายได้ให้ ร.ฟ.ท.ตลอดสัมปทาน 20  ปี ไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาท

โดยศักยภาพของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ประกอบด้วย

  • พื้นที่ 2,475 ไร่
  • พื้นที่ใช้สอยภายในอาคารวม 304,000 ตารางเมตร
  • 24 ชานชาลา รองรับรถไฟทางไกล รถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าชานเมือง
  • รองรับผู้โดยสารประมาณ 624,000 คน-เที่ยวต่อวัน
  • เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, สายสีเขียว, สายสีม่วง และสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ
  • เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา

แบ่งพื้นที่การใช้งานออกเป็น

- ชั้นใต้ดิน พื้นที่รวม 72,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ไว้สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน พื้นที่จอดรถยนต์ สำหรับบุคคลทั่วไป 1,681 คัน และพื้นที่จอดรถยนต์ผู้พิการ 19 คัน

- ชั้นลอย พื้นที่รวม 12,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ร้านค้าเพื่อจำหน่ายสินค้า และพื้นที่ห้องควบคุมของสถานีกลางบางซื่อ

- ชั้นที่ 1 พื้นที่รวม 86,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านค้า ศูนย์อาหาร พื้นที่พักคอยและจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ MRT

- ชั้นที่ 2 พื้นที่รวม 86,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำหรับชานชาลารองรับระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล จำนวน 8 ชานชาลา

- ชั้นที่ 3 พื้นที่รวม 67,000 ตารางเมตร เป็นชานชาลารองรับรถไฟความเร็วสูง จำนวน 10 ชานชาลา และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่เดินทางไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 2 ชานชาลา

เปิดแผนรถไฟปั้นแลนด์มาร์คใหม่ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’

รายงานข่าวจากการถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟท.เตรียมเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์และโฆษณาของสถานีกลางบางซื่อ และ 12 สถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยอยู่ระหว่างเร่งสรุปรายละเอียดเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะเปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอในเดือน ธ.ค.2565 และได้ตัวผู้ชนะการประกวดราคาในเดือน ม.ค.2566

โดย ร.ฟ.ท.ประเมินว่าจะมีรายได้ขั้นต่ำประมาณ 360 ล้านบาทต่อปี หรือตลอดอายุสัญญา 20 ปี คาดมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งเป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ คือการผลักดันให้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของกรุงเทพ นอกเหนือจากการใช้บริการเพื่อเดินทางระบบขนส่งแล้ว ต้องการให้เป็นพื้นที่พักผ่อน จุดนัดพบ และแหล่งช็อปปิ้ง

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้กำหนดเงื่อนไขพื้นฐานพื้นที่บริการที่เอกชนจะต้องพัฒนา 4 ด้าน ประกอบด้วย

1. พื้นที่ศูนย์อาหารประมาณ 780 ตารางเมตร

2. พื้นที่กิจกรรมการเงิน สำหรับธนาคารกรุงไทย 120 ตารางเมตร

3. พื้นที่สินค้าโอทอป (พื้นที่ไม่คิดค่าเช่า เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน) 600 ตารางเมตร

4. พื้นที่บริการตู้เก็บสัมภาระ (ตามความเหมาะสมทางธุรกิจ)

นอกเหนือจากนั้นเอกชนสามารถเสนอแผนการพัฒนากิจกรรมอื่นๆ เช่น ร้านค้าแบรนด์เนม หรือบริการโรงแรมแคปซูล เป็นต้น

เปิดแผนรถไฟปั้นแลนด์มาร์คใหม่ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’