“พิพัฒน์” ลุยชงเปิดผับถึงตี 4 ชี้ปิดเร็วสูญโอกาสทำรายได้ 2.5 หมื่นล้าน/ปี

“พิพัฒน์” ลุยชงเปิดผับถึงตี 4  ชี้ปิดเร็วสูญโอกาสทำรายได้ 2.5 หมื่นล้าน/ปี

“พิพัฒน์” เดินหน้าชงเปิดผับและสถานบันเทิงถึงตี 4 ลุยหารือกับ “มหาดไทย” พร้อมรวบรวมข้อมูลวิจัยผลดี-ผลเสีย ด้านรายงานผลสำรวจชี้อุปสรรคของการปิดสถานบริการช่วงเวลา 01.00 น. สูญเสียโอกาสทางรายได้เข้าประเทศกว่า 25,000 ล้านบาทต่อปี

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของข้อเสนอขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงเวลา 04.00 น. จากปัจจุบันเปิดถึง 02.00 น. ในพื้นที่นำร่องหรือ โซนนิ่ง เช่น กรุงเทพฯ (ถนนข้าวสาร), พัทยา (แหลมบาลีฮาย ถนนคนเดิน), ภูเก็ต (บางลา ป่าตอง), กระบี่ (อ่าวนาง), สมุย (ต.บ่อผุด ต.มะเร็ด) และพังงา (เขาหลัก) เบื้องต้นกระทรวงการท่องเที่ยวฯได้หารือกับกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับการแก้พระราชบัญญัติ (พรบ.) ของกระทรวงมหาดไทย โดยการแก้ พรบ.ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องยาก แต่อยู่ที่ว่าจะยอมแก้ให้หรือไม่มากกว่า

ขณะเดียวกัน กระทรวงการท่องเที่ยวฯกำลังรวบรวมข้อมูลวิจัยของปี 2562 จาก 3 สถาบัน เพื่อส่งมอบให้กับกระทรวงมหาดไทยได้เห็นถึงผลดีและผลเสีย และไม่มีเสียงค้านจากประชาชนในพื้นที่ที่จะเปิดนำร่อง ทั้งนี้จะยื่นข้อเสนอเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ต่อไป

ด้านข้อเสนอขยายเวลาเปิดสถานบริการจนถึงเวลา 04.00 น. ในบริเวณถนนคนเดินบางลา ต.ป่าตอง จ.ภูเก็ต พบว่า ช่วงเวลา 03.00 - 04.00 น. ร้านค้าและสถานบันเทิงยามค่ำคืนสร้างรายได้เฉลี่ยต่อคืนสูงสุดจำนวน 78,450,111 ล้านบาท 

จากรายงานผลสำรวจและวิจัยเรื่องเวลาที่เหมาะสมในการปิดสถานบริการในบริเวณถนนคนเดินบางลา ต.ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระบุถึงรายละเอียดอื่นๆ ดังนี้

1.พฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่เลือกออกจากโรงแรมเวลา 23.00 น. เพื่อมาถนนบางลา ได้ใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง (รวมระยะเวลาเดินทางอีก 30-40 นาที)

2.ไม่สามารถใช้จ่ายในสถานบริการได้หลายที่และนานขึ้น สูญเสียโอกาสด้านรายได้เข้าประเทศมหาศาล เฉลี่ยประมาณ 70 ล้านบาท/วัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ใช้จ่ายในช่วงเวลา 01.00 - 04.00 น.

3.ปัญหาอุปสรรคของการปิดสถานบริการช่วงเวลา 01.00 น.

-สูญเสียโอกาสทางรายได้เข้าประเทศกว่า 25,000 ล้านบาทต่อปี จากเวลาที่จำกัดและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป

-กระจายรายได้ไปยังธุรกิจต่อเนื่องน้อยลง เกิดการแย่งกันทำมาหากินที่ผลมาจากประชากรแฝง

-เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยต่อบ้านเมือง มีโอกาสในการเกิดอาชญากรรมจากนักท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับไปพักและเดินไปเตร็ดเตร่ตามชายหาดก่อนกลับที่พัก

-ส่งผลกระทบด้านลบไปถึงสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะในเวลาค่ำคืนจากนักท่องเที่ยว