ดาวโจนส์ร่วง 125 จุด ท่ามกลางการซื้อขายผันผวน

ดาวโจนส์ร่วง 125 จุด ท่ามกลางการซื้อขายผันผวน

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(27ก.ย.)พลิกร่วงลง 125 จุด หลังจากทะยานกว่า 300 จุดในช่วงแรก ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 125.82 จุด หรือ 0.43%  ปิดที่ 29,134.99 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 7.75 จุด หรือ 0.21% ปิดที่ 3,647.29 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 26.58 จุด หรือ 0.25% ปิดที่ 10,829.50 จุด

ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 300 จุดวานนี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย นอกจากนี้ ตลาดกังวลว่า การแข็งค่าของดอลลาร์จะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ

 ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดีดตัวขึ้นในช่วงแรก โดยได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

นอกจากนี้ ตลาดคลายความวิตกเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานเฟด สาขาชิคาโก แสดงความกังวลว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ

"เราได้ดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว โดยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ถึง 3 ครั้งติดต่อกัน และมีการพูดกันว่าเราจะปรับขึ้นต่อไปจนแตะ 4.25-4.50% ในช่วงสิ้นปีนี้ โดยเฟดไม่ได้เหลือเวลาสำหรับการพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจในแต่ละเดือน" นายอีแวนส์กล่าวในรายการ "Squawk Box Europe" ของสำนักข่าว CNBC

นอกจากนี้ นายอีแวนส์กล่าวว่า เขายังคงมีความเชื่อมั่นอย่างระมัดระวังว่า เศรษฐกิจสหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย หากไม่มีปัจจัยอื่นที่สร้างความตื่นตระหนกต่อตลาด

ด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมวันนี้ซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารกลางฝรั่งเศส แต่ไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นายพาวเวลเรียกร้องให้มีการออกกฎระเบียบควบคุมและสร้างความโปร่งใสต่อระบบการเงินแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized finance) หรือ DeFi ซึ่งเป็นรูปแบบการเงินที่บริหารจัดการผ่านระบบบล็อกเชน แตกต่างจากการบริหารจัดการแบบดั้งเดิมที่มีธนาคารหรือสถาบันทางการเงินเป็นผู้ดูแล

"ภายในระบบนิเวศทางธุรกิจของ DeFi เราพบว่ามีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความโปร่งใสและความไม่โปร่งใส ซึ่งเราจะต้องจับตาดูอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของสกุลเงินคริปโท และมีความจำเป็นอย่างแท้จริงในการออกกฎระเบียบที่เหมาะสมมากขึ้นในขณะที่ DeFi มีการขยายตัว และเริ่มเข้าสู่ลูกค้ารายย่อย" นายพาวเวลกล่าว

อย่างไรก็ดี นายพาวเวลระบุว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบนิเวศทางธุรกิจของ DeFi และระบบธนาคารและระบบการเงินแบบดั้งเดิมยังคงไม่มากนักในขณะนี้ ทำให้ภาวะซบเซาของ DeFi ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารและระบบการเงินโดยรวม

นอกจากนี้ นายพาวเวล ยังกล่าวว่า เฟดไม่ได้คาดหวังว่าจะมีการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับ CBDC (สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง) ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส และการศึกษาในเรื่องการออก CBDC อาจจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี