ไทยทำอย่างไรเมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย? (1) | วิกรม กรมดิษฐ์

ไทยทำอย่างไรเมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย? (1) | วิกรม กรมดิษฐ์

ผมมีโอกาสพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่มากระทบกับประเทศไทย มีคำถามมากมายว่าควรจะทำตัวอย่างไร

ประเทศไทยจะมีภูมิต้านทานหรือวัคซีนป้องกันผลกระทบนี้อย่างไรบ้าง ถ้าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างที่หลายคนเริ่มกลัวกัน

วันนี้ผมจึงอยากจะมาแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเอง ที่ได้ต่อสู้มาในช่วงที่วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่ง ต้องประสบกับภาวะขาดทุนจนถึงขั้นติดลบ แต่กลับสามารถพลิกฟื้นและกลับมายืนขึ้นได้อีกครั้ง

สำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่งนำเสนอข่าวเกี่ยวกับอัตราเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศไทยลดลง เพราะต้องนำเงินส่วนนี้ไปแทรกแซงเงินบาท

เป็นเรื่องที่น่ากังวลจนทำให้แบงก์ชาติต้องออกมาให้ข้อมูลว่า เนื่องจากตลาดการเงินที่ผันผวน ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระทบต่อนักลงทุน และธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอีก

นับตั้งแต่ต้นปี เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 14.6% ซึ่งเป็นปัจจัยหลักกดดันให้สกุลเงินภูมิภาค รวมถึงเงินบาท ปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา แต่แบงก์ชาติก็ยังไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติออกนอกประเทศ ในขณะที่ยังคงมีการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ

 

ไทยทำอย่างไรเมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย? (1) | วิกรม กรมดิษฐ์

สำหรับประเทศไทย เมื่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น การตีมูลค่าของเงินสำรองระหว่างประเทศก็จะลดลง เพราะฉะนั้นเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยปรับลดลงจาก 2.78 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มาอยู่ที่ประมาณ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ในขณะนี้ 

การลดลงนี้เกิดขึ้นจากการตีมูลค่าเงินสำรองที่อยู่ในสินทรัพย์หลายสกุลให้เป็นสกุลดอลลาร์เป็นสำคัญ และเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นนั้นจะส่งผลให้สินทรัพย์สกุลอื่นเมื่อตีเป็นรูปของดอลลาร์จะมีมูลค่าที่ลดลงด้วย โดยปกติในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนสูง จะเห็นมูลค่าค่าเงินสำรองระหว่างประเทศผันผวนตามไปด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงมีฐานะด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่งจากระดับเงินสำรองที่มีอยู่ที่ประมาณ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 48% ของ GDP ซึ่งอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ และยังสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยถึงเกือบ 3 เท่า ในการออกมาให้ข้อมูลของแบงก์ชาติในครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้คลายข้อกังวลลง

แต่ก็ยังคงมีคำถามที่หลายคนอาจจะสงสัย คือ ทำไมเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น คนต้องไม่ไว้ใจค่าเงินดอลลาร์แต่ทำไมคนจึงหันมาซื้อดอลลาร์กันเยอะขึ้น?

โดยส่วนตัวผมอยากให้เรามาลองพิจารณากันก่อนว่า ค่าเงินที่แข็งค่าอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นการแข็งค่าที่จริงหรือไม่ ไม่อยากให้ทุกคนต้องมาตื่นตระหนก ขอให้พิจารณาข้อมูลให้รอบคอบเสียก่อน เพราะถ้าหากลองมองดูแล้ว ผมยังนึกไม่ออกว่าค่าเงินของสหรัฐจะแข็งค่าได้อย่างไร ถ้าดูจากตัวเลข GDP สหรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 22 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนหนี้สินอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านล้านดอลลาร์ 

ถ้าเปรียบเทียบกันในเชิงรูปแบบของบริษัท ภาวะเช่นนี้ถือว่าเป็นปัญหาที่อาจส่งผลถึงขั้นวิกฤติ เนื่องจากภาระหนี้สินมีมากกว่าอัตราการเติบโตของเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท ประกอบกับสหรัฐอยู่ในภาวะที่เรียกว่า เลือดไหลมาอย่างต่อเนื่องมาหลายปีคือเรื่องของการเสียดุลการค้าและสถานการณ์นี้คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง

ส่วนเรื่องค่าเงินบาทที่กำลังมีการปรับตัวอ่อนค่าลง ผมมองว่าตรงนี้จะเป็นข้อดีสำหรับประเทศไทย หลายๆ คนอาจจะเห็นแล้วว่าประเทศไทย GDP ใน 100 บาท ประมาณ 70% ต้องอาศัยเงินจากนอกประเทศ อาทิ จากนักท่องเที่ยว การส่งออก ช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก และ ณ ปัจจุบันนี้ สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ประตูโลกกำลังเริ่มเปิด เงินบาทกำลังเริ่มอ่อนค่าลง 

คนที่เคยนิยมไปเที่ยวประเทศที่มีค่าเงินบาทอ่อนกว่าประเทศไทย เมื่อวันนี้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนตัว ก็เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับมาสู่ประเทศไทยได้ รวมถึงการค้าขายการส่งออกจะทำให้กลุ่มธุรกิจนี้กลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น

แต่ถึงอย่างไรประเทศไทยก็ไม่ควรประมาท เพราะประเทศอื่นๆ รอบเราก็มีการอ่อนตัวลงของค่าเงินด้วยเช่นเดียวกัน การปรับตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ เงื่อนไขของการที่จะทำให้เราส่งออกได้ดี คือต้องพยายามรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อ่อนลงพอประมาณ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ดูตัวอย่างจากประเทศจีนที่การส่งออกแข็งแกร่งมาก เพราะการควบคุมค่าเงินหยวนของเขามีการวางแผนบริหารจัดการที่ดี