ส่งออก ส.ค.ขยายตัว 7.5% อานิสงค์คู่ค้าขยายตัว รวม 8 เดือนโต 11%

ส่งออก ส.ค.ขยายตัว 7.5% อานิสงค์คู่ค้าขยายตัว รวม 8 เดือนโต 11%

พาณิชย์ เผย ส่งออกเดือนส.ค.มูลค่า 23,632.7 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.5 % ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ชี้ได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจคู่ค้าเติบโต อานิสงค์ฟื้นตัวจากโควิด -19 ยังมั่นใจการส่งออกไทยที่เหลือของปีนี้ยังโตต่อเนื่อง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  การส่งออกของไทยในเดือนส.ค. 2565 มีมูลค่า 23,632.7 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.5 % ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 10.1 %  ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 27,848.1 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21.3 %  ไทยขาดดุล 4,215.4 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค. – ส.ค.) การส่งออก มีมูลค่า 196,446.8 ล้านขยายตัว11.0 % การนำเข้า มีมูลค่า 210,578.5 ล้าน ขยายตัว21.4% ขาดดุล 14,131.7 ล้านดอลลาร์  และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 8.5%

ปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจคู่ค้าเติบโตและฟื้นตัวจากโควิด -19  การกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความต้องการอาหารตากทั่วโลกที่สูงขึ้น

การส่งออกในเดือนส.ค.ขยายตัวได้ดีจากสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มอาหารแปรรูปที่มีความต้องการสูง เช่น อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวสูงอีกครั้งหลังชะลอตัวในเดือนก่อน จากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายการที่กลับมาขยายตัว ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลก อาทิ ภาวะเงินเฟ้อทำให้กำลังซื้อทั่วโลกชะลอตัว ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของจีนจากวิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาการขาดแคลนพลังงานในสหภาพยุโรป เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ยังคงมีสัญญาณบวกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปีนี้ให้สามารถบรรลุตามเป้าหมาย โดยเฉพาะความต้องการสินค้าอาหารที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ตามราคาอาหารทั่วโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูง ขณะที่นโยบายของสหรัฐฯ ที่จำกัดการเข้าถึงสินค้าเทคโนโลยีของจีน อาจทำให้มีอุปทานชิปประมวลผลส่วนเกินจากผู้ผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทย เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก และยังเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ไทยสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเงินเฟ้อในหลายประเทศ การขาดแคลนพลังงานในทวีปยุโรป และวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน อาจเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป