6 รายชื่อหนังต่างประเทศ ยึดโลเคชั่น "ไทย" ถ่ายทำภาพยนตร์

6 รายชื่อหนังต่างประเทศ ยึดโลเคชั่น "ไทย" ถ่ายทำภาพยนตร์

สื่อสารมวลชนแขนงหนึ่งที่สร้าง impact ที่แรงและเร็วคือ “ภาพยนตร์” ซึ่งสิ่่งที่สื่อออกมาไม่เพียงเรื่องราวในหนังต่างประเทศ ตัวแสดง เท่านั้นแต่ยังมีอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นคือ “โลเคชั่น”

เมื่อเร็วๆนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร วงเงิน 212,102,829.62 บาท ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยบริหารงบประมาณฯ รวมทั้งจะได้เร่งคืนเงินตามมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยให้แก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศทั้ง 6 เรื่อง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ

ประกอบด้วย  

JM จาก ฝรั่งเศส  นำเงินลงทุน 140,002,923.81

Forbidden จาก สิงคโปร์ นำเงินลงทุน 73,852,439.62

Shantaram 1 จากสหรัฐ นำเงินลงทุน  379,605,848.03

Shantaram 2 จากสหรัฐ  นำเงินลงทุน  243,638,151.86

Beer Run จากสหรัฐ นำเงินลงทุน 255,427,243.41

Beer Run 2 จากสหรัฐ นำเงินลงทุน 99,316,213.72

รวม 1,191,842,820.45

โดยตั้งแต่เริ่มต้นมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน มีภาพยนตร์เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวแล้ว จำนวน 43 เรื่อง เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ประมาณ 8,560 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้จ่ายเงินคืนแก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ภายใต้มาตรการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จำนวน 22 เรื่อง รวมเป็นเงินจำนวน 541,497,790.15 บาท

โดยเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณประจำปีของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะเห็นได้ว่าการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเทียบระหว่างเงินที่รัฐบาลคืนให้ผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศกับจำนวนเงินที่ผู้สร้างภาพยนตร์ต่างประเทศนำเข้ามาลงทุนและกระจายรายได้ไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ที่เป็นสถานที่ถ่ายทำทั่วประเทศ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่อง จำนวนตั้งแต่ 40 - 188 ล้านบาทต่อปี

สำหรับภาพยนตร์ต่างประเทศ จำนวน 6 เรื่อง ได้ถ่ายทำเสร็จสิ้นในช่วงปี พ.ศ. 2564โดยนำเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทย 1,191.84 ล้านบาท และกระจายรายได้ไปสู่ทีมงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ไม่น้อยกว่า 12,000 คน รวมถึงส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนสร้างผลกระทบในระบบเศรษฐกิจอัตราทวีคูณ (ประมาณ 2,384 ล้านบาท) ซึ่งภาพยนตร์ดังกล่าวผ่านการตรวจสอบเอกสารทางการเงินและได้รับอนุมัติเงินคืนจากคณะกรรมการพิจารณาการคืนเงินสำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ มีวงเงินที่ต้องคืนให้แก่ผู้ผลิตภาพยนตร์ดังกล่าว จำนวนเงินทั้งสิ้น 216,818,134.76 บาท

แม้ภาพยนตร์ทั้ง 6 เรื่องจะไม่ใช่ทั้งหมดที่เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นโลเคชั่นถ่ายทำ แต่การไทยส่งภาพประเทศไทย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องสวยงามเสมอไป ผ่านสื่อภาพยนตร์ก็อาจทำให้ความรู้จัก เข้าใจประเทศไทย นำไปสู่เศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นความคุ้มค่าหรือไม่เมื่อเทียบกับเงินอุดหนุนที่รัฐบาลให้ผู้ลงทุนภาพยนตร์คืนไปนั้น ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องมาถกเถียงกันต่อไป