‘ทวี’ กางกฎหมายแจงหนี้ กยศ. ‘เบี้ยวยาก’

อีกหนึ่งประเด็นคาใจ กับข้อเท็จจริงที่น้อยคนนักจะรู้เกี่ยวกับ “หนี้ กยศ.” ก็คืออำนาจการติดตามหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ชำระเงินคืนกองทุน กยศ.ตามกฎหมายที่แก้ไขในยุค คสช. เปรียบเทียบกันว่ามาตรการเข้มข้นยิ่งกว่าสถาบันการเงินทุกแห่ง หรืออาจจะยิ่งกว่าหนี้นอกระบบเสียอีก

ฉะนั้นคำถามที่ว่า เมื่อไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับแล้ว ตามร่างกฎหมายที่แก้ไขใหม่ล่าสุด จะเกิดปัญหาเบี้ยวหนี้หรือไม่? ประเด็นนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ มีคำตอบที่ชัดเจนอย่างยิ่ง 

พ.ต.อ.ทวี อธิบายว่า ประเด็นการติดตามการชำระเงินคืนกองทุน กยศ. หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกกฎหมาย กยศ.ใหม่ในปี 2560 (พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ซึ่งก็คือฉบับปัจจุบันก่อนแก้ไขรอบล่าสุด) ทำให้ หนี้ กยศ.กลายเป็น “หนี้บุริมสิทธิ” คือหนี้ที่ต้องจ่ายก่อนหนี้อื่นๆ 

การบัญญัติในกฎหมายดังกล่าว สร้างอุปสรรคให้กับลูกหนี้ กยศ.ในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพราะลูกหนี้ต้องใช้คืน กยศ.ก่อน ทำให้สถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ให้ ต้องไปใช้บริการหนี้นอกระบบ กับยืมเงินครอบครัวหรือญาติพี่น้องที่มีความเดือดร้อนอยู่แล้ว ซ้ำเติมปัญหาสังคมยิ่งขึ้นไปอีก

สรุป กฏหมาย กยศ.ที่ใช้อยู่มีอำนาจล้นเหลือในการติดตามหนี้ โดยการดำเนินการตามมาตรา 45 และมาตรา 46 ในการขอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้กู้ยืมเงินจากหน่วยงานหรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน หรือบุคคลใดซึ่งเป็นผู้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวได้ เช่น บัญชีเงินเดือน บัญชีเงินฝากธนาคาร โฉนดที่ดิน เป็นต้น 

ประกอบมาตรา 50 หนี้ กยศ. มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของผู้กู้ยืม และมาตรา 51 ให้นายจ้างหักเงินเดือนเพื่อชำระเงินกู้ยืมตามที่ กยศ.แจ้ง ดังนั้น กยศ.จึงมีอำนาจติดตามการชำระและบุริมสิทธิเหนือเจ้าหนี้อื่นทั้งสิ้น เงินกู้ กยศ. จึงแทบจะไม่มีโอกาสเสียหายเป็นศูนย์ ยกเว้นกรณีลูกหนี้เสียชีวิต หรือไม่มีทรัพย์สินหรือรายได้ใดๆ เลยตลอดชีวิต