เอกชนชี้บาทอ่อน ส่งผลดีต่อส่งออก-ท่องเที่ยว จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก

เอกชนชี้บาทอ่อน ส่งผลดีต่อส่งออก-ท่องเที่ยว จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก

สรท.ชี้บาทอ่อนค่าส่งผลดีส่งออกไทย แต่นำเข้ากระทบ แนะผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน วอนรัฐขึ้นค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันไดลดภาระผู้ประกอบการ ด้านหอการค้าไทย มอง สหรัฐยังขึ้นดอกเบี้ยได้อีกเพื่อกดเงินเฟ้อ ขณะที่นักวิชาการชี้บาทอ่อนดันเงินเฟ้อไทยสูงขึ้น

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ ก็เป็นเพราะการที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง เนื่องจากเงินบาทอ้างอิงอยู่กับเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะเงินบาทไทยที่อ่อนค่าลง เงินสกุลต่างประเทศที่อ้างอิงกับเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อการส่งออกไทยทำให้ผู้ส่งออกได้รับเงินมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบของไทยที่สำคัญคือ น้ำมัน เวชภัณฑ์ยา วัตถุดิบที่นำเข้าเพื่อมาผลิตสินค้าซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น กระทบต่อผู้ประกอบการ โดยขณะนี้ผู้ประกอบการเองก็ไม่ได้มีการสต๊อกวัตถุดิบเนื่องจากที่ผ่านมาราคาวัตถุดิบมีความผันผวนจากค่าเงิน จึงเป็นไปได้ยากที่นำเข้าวัตถุดิบมาสต๊อกไว้

อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่า การอ่อนค่าของเงินบาทน่าจะเป็นระยะสั้น และน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในระดับ 36-36.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปีและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คงไม่ปล่อยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากเกินไปคงจะเข้ามาดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้มีความเหมาะสม

นายชัยชาญ กล่าวว่า ในระหว่างที่ค่าเงินบาทยังมีความผันผวน สรท.ก็แนะให้ผู้ส่งออกประกันความเสี่ยงค่าเงิน เพราะไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจากนี้ไปค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับไหน และขอให้ติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อปิดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

“เงินบาทช่วงนี้ขึ้นลงเร็วมีความผันผวนมาก ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์มาวันนี้อ่อนค่าเร็วแตะระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าเร็วมาก “

 

ทั้งนี้การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าก็จะมีผลต่อราคาพลังงาน สรท.ขอฝากให้รัฐบาลดูแลเรื่องราคาพลังงาน ซึ่งการนำเข้าจะราคาสูงขึ้นแต่ยังดีที่ช่วงนี้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาก แต่ในส่วนค่าไฟฟ้าหรือเอฟทีมีการปรับขึ้นสูงมากกระทบต่อราคาต้นทุน ขณะนี้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนจากการปรับค่าไฟที่เพิ่มขึ้น ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยขอให้มีการปรับค่าไฟฟ้าเป็นแบบขั้นบันไดเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มรายย่อยหรือเอสเอ็มที่ได้รับผลกระทบหนัก

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทไทยที่อ่อนค่ามีทั้งบวกและลบ ซึ่งสาเหตุที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากในระยะหลังนี้มาจากการที่เฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ยแรงๆของสหรัฐเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อหวังกดเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ได้ประโยชน์จากการแข็งค่าดอลล่าร์ มีอำนาจในการใช้จ่ายมากขึ้นกับสินค้านำเข้า หรือการลงทุนในต่างประเทศ ซื้อกิจการได้ง่ายแต่กระทบกับประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่มีเงินกู้ในรูปดอลล่าร์มากๆ

สำหรับประเทศไทย มีข้อดีจากจากสองเครื่องยนต์หลักคือ การส่งออกและการท่องเที่ยว โดยการส่งออกได้ปัจจัยบวกในรายการที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เช่น สินค้าเกษตร ถึงแม้ต้องนำเข้าปุ๋ยกับค่าน้ำมันที่แพงขึ้นยังถือว่าดีกว่าช่วงที่ค่าเงินบาทแข็ง เพราะขาดทุนตั้งแต่ยังไม่ส่งออก ด้านการท่องเที่ยว ก็ได้รับอานิสงค์ เที่ยวไทยถูกกว่าประเทศค่าเงินแข็ง แต่เราต้องเร่งปรับสินค้าบริการให้เกิดประโยชน์คนมาเที่ยวคงไม่มาช้อปปิ้งของแบรนด์เนมนำเข้าในช่วงนี้ เพราะมันแพง ต้องเน้นขายสินค้าที่เราผลิตเองในประเทศ

 

 

ในด้านลบ ถ้ารัฐช่วยประคองไปได้ จะทำให้หนี้เสียต่ำ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟค่า ขนส่ง ที่เป็นพื้นฐานการผลิต ขณะที่เงินเฟ้อที่เกิดในบ้านเราก็จะเบาบางลง เพราะอาหารเราไม่แพงเหมือนประเทศที่ต้องนำเข้าอาหาร

 

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ส่วนค่าเงินบาทจะเป็นแค่ระยะสั้นหรือไม่นั้นต้องดูสหรัฐเป็นหลัก เพราะถ้ากดเงินเฟ้อได้ตามเป้าหมายและหยุดขึ้นดอกเบี้ย สถานการณ์จะดีขึ้น เพราะในทางกลับกัน สหรัฐต้องระวังเรื่องขึ้นดอกเบี้ยแรงๆยาวๆจะมีผลทำให้เศรษฐกิจถดถอย ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจยังดีเพราะ ปล่อยคิวอี (qe )ไว้มากยังใช้กันไม่หมดมาตรการโควิดก็จ่ายเงินช่วยประชาชน ทำให้มีกำลังซื้อ

 "ธปท. ทำได้แค่ประคองไม่ให้ขึ้นลงแรงเกินจนกระทบผู้ประกอบการทั้งด้านนำเข้าและส่งออก ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยคงขึ้นแรงๆสู้สหรัฐไม่ได้ เพราะเรามีSMEs จำนวนมากที่มีหนี้ที่แบกรับอยู่และยังต้องกู้เพิ่มถ้าเราเล่นแรง เศรษฐกิจถอยแรง เราปล่อยqe มาช่วยเหมือนยักษ์ใหญ่ไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้ก่อให้เกิดหนี้จำนวนมหาศาล"นายวิศิษฐ์ กล่าว

นายอัทธ์   พิศาลวานิช  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ค่าเงินบาทอ่อน เพราะเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยฐานะทางเศรษฐกิจของไทยก็ยังดีเพราะเงินทุนสำรองต่างประเทศของเรายังมั่นคงอยู่ ในอนาคตตนก็ยังเชื่อว่า เฟดยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็น่าจะมีโอกาสที่ได้เห็นค่าเงินบาทอยู่ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์ เพราะสหรัฐยังไม่หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูงในประเทศ

ผลกระทบที่เกิดสำหรับไทยหลังเงินบาทอ่อนค่า มองว่าทิศทางเงินเฟ้อของไทยน่าจะปรับสูงขึ้น เพราะไทยจะมีต้นทุนการนำเข้าทั้งน้ำมัน วัตถุดิบ สินค้าขั้นกลางแพงขึ้น ดังนั้นเงินเฟ้อจะสูงขึ้น ขณะที่การส่งออกไม่การันตีว่า การส่งออกไทยจะส่งออกได้มากขึ้นเพราะค่าเงินอ่อนค่าทั้งอาเซียนและภูมิภาค ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศไหนอ่อนค่ามากกว่ากันก็จะได้รับประโยชน์ไป และมีโอกาสที่เงินทุนจะไหลไปยังประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า โดยเฉพาะสหรัฐ

สิ่งที่รัฐบาลเสนอว่า ค่าเงินบาทควรที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ ตนเห็นด้วยเพราะหากอ่อนค่ามากเกิดไปไม่ดีต่อระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าจนเกินไป ซึ่งค่าเงินบาทไทยที่เหมาะสมในขณะนี้น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ไม่ควรเกิน 35 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐควรใช้โอกาสที่่ค่าเงินบาทอ่อนเร่งประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ถือเงินสกุลดอลลาร์เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวไทยมาก