"แอร์ไลน์" ปรับแผนรูทบินไฮซีซัน จับตาตัวแปรหลัก "ตลาดจีนเที่ยวไทย"

"แอร์ไลน์" ปรับแผนรูทบินไฮซีซัน จับตาตัวแปรหลัก "ตลาดจีนเที่ยวไทย"

ย้อนไปเมื่อปี 2562 ธุรกิจการบินและท่องเที่ยวไทยอยู่ในยุคเฟื่องฟู! มีจำนวนผู้โดยสารมากถึง 165 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นผู้โดยสารเส้นทางในประเทศ 76 ล้านคน และเส้นทางระหว่างประเทศ 89 ล้านคน ด้วยจำนวนเที่ยวบินรวมกว่า 1.43 ล้านเที่ยวบิน

มีเส้นทางบินในประเทศ 67 เส้นทาง และเส้นทางบินระหว่างประเทศ 382 เส้นทาง

กระทั่งเกิดวิกฤติโควิด-19 จากข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่า ภาพรวมธุรกิจการบินของประเทศไทยในปี 2564 มีจำนวนผู้โดยสารลดลงจากปี 2563 ถึง 64.1% โดยจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศลดลงมากถึง 90.2% และผู้โดยสารภายในประเทศลดลงกว่า 54% ในส่วนของจำนวนเที่ยวบินทั้งหมดลดลง 48.5% โดยเที่ยวบินระหว่างประเทศลดลง 46.6% และเที่ยวบินภายในประเทศลดลง 49.1% เป็นผลมาจากมาตรการจำกัดการเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้การขนส่งทางอากาศต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวว่า จากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางทั้งของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ส่งผลให้ปัจจุบันภาพรวม “ธุรกิจสายการบิน” ในไทยที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ 7 สาย ประกอบด้วย บางกอกแอร์เวย์ส นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยสมายล์ ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท ฟื้นตัวราว 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 และคาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2566 จะกลับมาเท่าเดิม 100% เมื่อเทียบกับปี 2562

“พอสายการบินต่างๆ เริ่มกลับมาทำการบินใหม่ หลังต้องหยุดชะงักไป ทำให้ต้องปรับแผนเส้นทางบิน ทำการบินเส้นทางใหม่ที่ไม่เคยทำการบินมาก่อน เช่น เส้นทางบินข้ามภาค ขณะเดียวกันเทรนด์การเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศ สนใจบินตรงเข้าเมืองท่องเที่ยวนั้นๆ เช่น ภูเก็ต มากขึ้น ไม่ต้องแวะมาเปลี่ยนเครื่องบินที่กรุงเทพฯ”

ด้านภาพรวมการตั้งราคาตั๋วโดยสารในตอนนี้ ยังไม่มีสายการบินไหนปรับราคาขึ้นอย่างรุนแรง เพราะเป็นช่วงที่กำลังกลับมาทำการบิน จึงต้องควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ดี ให้สอดรับกับปัจจัยราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จึงยังเห็นการแข่งขันด้านราคาตั๋วโดยสารอยู่ ถือว่าเป็นเรื่องดีกับผู้บริโภค

“ทั้งนี้ เมื่อดูภาพรวมเที่ยวบินในประเทศของ 6 สายการบินสมาชิกที่ให้บริการ พบว่าปัจจุบันฟื้นตัว 70-80% และคาดว่าจะกลับมา 100% ในช่วงครึ่งหลังปี 2566 เนื่องจากยังต้องรอดีมานด์การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาช่วยเติมทราฟฟิก”

\"แอร์ไลน์\" ปรับแผนรูทบินไฮซีซัน จับตาตัวแปรหลัก \"ตลาดจีนเที่ยวไทย\"

พุฒิพงศ์ กล่าวในฐานะกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ว่า ก่อนโควิด-19 ระบาด บางกอกแอร์เวย์สมีสัดส่วนผู้โดยสารชาวต่างชาติมากถึง 70% ส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารจากเที่ยวบินร่วม (โค้ดแชร์) กับสายการบินพันธมิตรอื่นๆ ที่ทำการบินระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีผู้โดยสารต่างชาติฟื้นตัว 20% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับสายการบินพันธมิตรที่ทำโค้ดแชร์ร่วมกัน 26-27 สายการบิน เพื่อเตรียมการกลับมาทำการบินเข้าประเทศไทยอีกครั้ง

“การจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงตารางบินฤดูหนาว พบว่าอยู่ที่ 50% ดีกว่าที่เราคาดเอาไว้”

ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สใช้เครื่องบินปฏิบัติการจริง 20 ลำ จากจำนวนฝูงบิน 37 ลำ โดยเส้นทางบินในประเทศ เปิดทำการบินครบทุกเส้นทางแล้ว ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศ บางกอกแอร์เวย์สทยอยเปิดให้บริการแล้ว 50% เช่น เส้นทาง กรุงเทพฯ-พนมเปญ, กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง, กรุงเทพฯ-มัลดีฟส์, สมุย-สิงคโปร์ และล่าสุด กรุงเทพฯ-ดานัง (เวียดนาม) เส้นทางใหม่เตรียมเปิดในไฮซีซั่นนี้คือ กรุงเทพฯ-หลวงพระบาง ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศที่เหลืออีก 50% คือเส้นทางสู่ประเทศจีนและอินเดีย ประเทศจีนต้องรอนโยบายชัดเจนในปีหน้า โดยตามแผนของบางกอกแอร์เวย์สเตรียมทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯสู่ฉงชิ่ง เฉิงตู และฮ่องกง

“บางกอกแอร์เวย์สตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารปีนี้ไว้ที่ 2.1-2.2 ล้านคน คาดว่าได้ตามเป้าหมาย หลังจากจำนวนผู้โดยสาร 6 เดือนแรกอยู่ที่ 1 ล้านคนแล้ว ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มการเดินทางดีจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงไฮซีซั่น ทั้งนี้ตั้งเป้าอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ยตลอดปีนี้ที่ 70%”

สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า “ไทยแอร์เอเชีย” ปรับลดเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารตลอดปี 2565 เหลือที่ 10 ล้านคน จากก่อนหน้านี้เคยตั้งเป้าไว้ 12.5 ล้านคน หลังสถานการณ์การท่องเที่ยวและเดินทางช่วงครึ่งปีแรกไม่เป็นไปตามคาดหมาย โดยปัจจุบันมีการใช้เครื่องบินทำการบินจริง 33 ลำ มีโหลดแฟคเตอร์เฉลี่ย 90% และจะเพิ่มการใช้เครื่องบินเป็น 43 ลำในไตรมาส 4 นี้ จากฝูงบินที่มีอยู่ทั้งหมด 53 ลำ

“ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียให้บริการเที่ยวบินเส้นทางในประเทศประมาณ 60-70% เมื่อเทียบกับปี 2562 จะเพิ่มเต็ม 100% ในไตรมาส 4 ปีนี้ ส่วนเที่ยวบินเส้นทางระหว่างประเทศ ปัจจุบันให้บริการ 30% เมื่อเทียบกับปี 2562 จะเพิ่มเป็น 50% ในไตรมาส 4 ปีนี้ หลักๆ ยังขาดเส้นทางระหว่างประเทศสู่ประเทศจีน รวมถึงฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ในปี 2566 จะกลับมาทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศได้ครบทั้ง 100% หรือไม่นั้น ตัวแปรหลักคือตลาดจีน”

\"แอร์ไลน์\" ปรับแผนรูทบินไฮซีซัน จับตาตัวแปรหลัก \"ตลาดจีนเที่ยวไทย\"

นันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน “ไทยไลอ้อนแอร์” กลับมาให้บริการเส้นทางบินในประเทศครบทุกเส้นทางแล้ว แต่ความถี่เที่ยวบินยังไม่เท่าเดิม ขณะที่เส้นทางบินระหว่างประเทศ ปัจจุบันเปิดให้บริการ 3 เส้นทาง จากกรุงเทพฯ สู่จาการ์ตา มุมไบ และล่าสุด สิงคโปร์ ส่วนเส้นทางอื่นๆ ที่เตรียมเปิด เน้นเส้นทางที่เคยให้บริการมาก่อน เช่น ไทเป ตั้งเป้าเปิดในไตรมาส 4 นี้ แต่ยังต้องรอการผ่อนคลายมาตรการเดินทาง

ทั้งนี้ มองว่าแนวโน้มการแข่งขันในไตรมาส 4 นี้ ทุกสายการบินมี "เป้าหมายเดียวกัน" คือการชิงยอดผู้โดยสาร! รองรับดีมานด์การเดินทางท่องเที่ยวฟื้นตัว  หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเมื่อไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

“ไทยไลอ้อนแอร์ตั้งเป้ามีโหลดแฟคเตอร์ในไตรมาส 4 นี้ที่ 80% เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย.ซึ่งเส้นทางในประเทศมีโหลดแฟคเตอร์กว่า 70% ส่วนเส้นทางระหว่างประเทศ มีโหลดแฟคเตอร์ดีที่ 80%”

\"แอร์ไลน์\" ปรับแผนรูทบินไฮซีซัน จับตาตัวแปรหลัก \"ตลาดจีนเที่ยวไทย\"