กินเจปี 65 คาดเงินสะพัด 4 หมื่นล้านบาท ขยายตัว5. 2%

กินเจปี  65 คาดเงินสะพัด 4 หมื่นล้านบาท ขยายตัว5. 2%

ม.หอการค้าไทย เผย เทศกาลกินเจปี 65 ค่อนข้างคึกคัก เงินสะพัด 42,235 ล้านบาท หรือ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.2 % มั่นใจเศรษฐกิจไทยฟื้นดีขึ้นในไตรมาส 4

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวถึงผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วง เทศกาลกินเจ ระหว่างวันที่ 12-17 ก.ย.65  จากตัวอย่างทั้งสิ้น 1,250 ตัวอย่างทั่วประเทศว่า   ว่า  ผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ 66 %จะไม่กินเจในปีนี้เนื่องจากเห็นว่าอาหารเจแพง เศรษฐกิจไม่ดี อาหารไม่อร่อย ขณะที่ 34 % จะกินเจเพราะตั้งใจทำบุญ ขอบอาหารเจและทานตามคนรอบข้าง โดยช่องทางการซื้ออาหารเจ 91.8 % จะซื้อด้วยตัวเองเพราะมีโครงการช่วยเหลือของภาครัฐเช่นคนละครึ่ง และร้ายสะดวกซื้อมีโปรโมชั่น อย่างก็ตามเห็นว่าปีนี้ราคาอาหารเจจะแพงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 64

โดยคาดว่าเทศกาลกินเจปีนี้จะมีการจับจ่ายในช่วงเทศกาลกินเจรวมกว่า 42,235 ล้านบาท หรือ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.2 % ถือว่าบรรยากาศค่อนข้างจะคึกคัก เนื่องจากคนเริ่มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นแต่ยังไม่ถือว่าเข้าสู่ภาวะปกติเนื่องจากการจับจ่ายยังคงอยู่ในระดับต่ำในรอบ 7 ปี เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ทำให้ระมัดระวังในการจับจ่าย

สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ คือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาค่าครองชีพต้องการให้มีการเมืองที่มีเสถียรภาพต้องการเงินช่วยเหลือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกระตุ้นการลงทุนของนักลงทุนต้องการให้ช่วยหางานสำหรับผู้ที่ตกงานและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์ฯมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวตัวแบบอ่อนๆ สะท้อนจากการที่มีการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลกินเจเพิ่มขึ้นแม้ไม่ยังไม่เท่ากับช่วงปกติ โดยเศรษฐกิจฟื้นเป็นรูป “K-Shaped” ซึ่งการฟื้นตัวมาส่วนหนึ่งจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่กลุ่มเกษตร เอสเอ็มอี ธุรกิจทั่วไปยังมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นเพราะยังไม่รับรู้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามศูนย์เชื่อว่า ในไตรมาส 4เศรษฐกิจไทยจะฟื้นเด่นชัดขึ้น โดยดูจากภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่จะหนีหนาวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

นอกจากนี้ราคาสินค้าทางการเกษตรก็ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาข้าว พืชสวน พืชไร่ ปศุสัตว์ บวกกับเม็ดเงินที่ได้จากการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอยในเทศกาลกินเจขยาย 5 % แม้ยังไม่เข้าสู่ช่วงปกติก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ  เช่น  คนละครึ่งเฟส 5 บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การตรึงราคาพลังงาน ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 4 ซึ่งศูนย์ฯยังคงคาดว่าจีดีพีไทยปีนี้จะขยายตัว 3.1-3.5%

สำหรับค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์ มองได้ 2 มุม คือ ค่าเงินบาทแข็งเศรษฐกิจดีมีความแข็งแกร่ง ในทางกลับกันค่าเงินบาทอ่อนก็มองว่าเศรษฐกิจไทยไม่เข้มแข็ง ทั้งนี้การที่ค่าเงินบาทอ่อนมาจากการที่เงินทุนไหลออกจากการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75   % หรือ 1 % แต่จะอ่อนมากว่านี้หรือไม่ก็ต้องดูเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่าไร อย่างไรก็ตามไม่น่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รายงานเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมี 2.29 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเพียงพอในการจัดการระบบเศรษฐกิจไทย