“ประวิตร” เคาะงบฯ รวม 5.1หมื่นล้าน อุ้มคนไทยฝ่าพายุเศรษฐกิจ- ค่าครองชีพ

“ประวิตร” เคาะงบฯ รวม 5.1หมื่นล้าน อุ้มคนไทยฝ่าพายุเศรษฐกิจ- ค่าครองชีพ

“ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะเคาะมาตรการดูแลค่าครองชีพ เกษตรกร เด็ก บุคลากรการแพทย์ 5.1 หมื่นล้าน ครม.หั่นภาษีดีเซล 5 บาท 2 เดือน สูญรายได้ 2.1 หมื่นล้าน พร้อมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 1 ต.ค.นี้ “อาคม” ยืนยันลดภาษีดีเซลไม่กระทบจัดเก็บรายได้รัฐบาล

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (13 ก.ย.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมีการอนุมัติมาตรการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และมาตรการดูแลค่าครองชีพหลายมาตรการคิดเป็นวงเงินรวม 51,764 ล้านบาท และมาตรการภาษีที่กระทบรายได้รัฐ 21,436 ล้านบาท

นายสุพัฒนพงษ์พันธ์ มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ครม.เห็นชอบมาตรการดูแลค่าไฟฟ้าให้ประชาชนจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน โดยวงเงินที่อนุมัติรวม 9,128 ล้านบาท ใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนปีงบประมาณ 2565 และ 2566 เพื่อต่ออายุมาตรการนี้ให้ประชาชนให้ไม่รับผลกระทบจากการขึ้นค่า FT มากนัก

โดยมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านไฟฟ้าประชาชน เป็นการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนกันยายน - ธันวาคม 2565 ดังนี้

1.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย (กลุ่มเปราะบาง) ให้ส่วนลดค่า Ft อัตรา 92.04 สตางค์/หน่วย 

2.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่างเดือนละ 301 - 350 หน่วย ซึ่งเป็นคนชั้นกลาง ให้ส่วนลดจากการปรับค่า Ft ที่อัตรา 75% จำนวน 51.50 สตางค์/หน่วย

3.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า 351-400 หน่วย ให้ส่วนลดค่า Ft อัตรา 45% หรือจำนวน 30.90 สตางค์/หน่วย 4.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า 401-500 หน่วย ให้ส่วนลดค่า Ft อัตรา 15% หรือจำนวน 10.30 สตางค์/หน่วย

นอกจากนี้ ครม.หารือการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ของประชนบนหลังคาบ้าน ซึ่งย้ำกระทรวงการคลังต้องพิจารณาสิทธิประโยชน์ภาษีให้ประชาชนเพื่อส่งเสริมการติดตั้ง ขณะเดียวกันเร่งหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุมัติอนุญาตให้อนุมัติติดตั้งภายใน 30-45 วันนับจากวันที่ขออนุญาต

รวมทั้งความคืบหน้าการวางแผนรับมือราคาที่เพิ่มสูงขึ้นระยะยาว นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลดูความพอเพียงของงบประมาณโดยหากเศรษฐกิจขยายตัวก็ช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้ ซึ่งระยะยาวต้องมองแผนการพึ่งพาพลังงานในประเทศ และการหารือประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ ประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกัมพูชานั้น กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับกัมพูชาแล้ว โดยการหารือครั้งแรกเป็นไปได้ด้วยดี และมีแนวโน้มคืบหน้าอาจนำพลังงานจากพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ได้ภายในไม่เกิน 10 ปี ขณะเดียวกันต้องเพิ่มการสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งที่มีศักยภาพในการผลิตปิโตรเลียมเพิ่ม

นายอนุชา บูรพชัยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือด้านราคาก๊าซหุงต้ม (LPG ) โดยขยายเวลาส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือน และส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จาก 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เพิ่มอีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน รวมเป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.2565 คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มประมาณ 5.5 ล้านราย งบประมาณประมาณ 302.5 ล้านบาท

คลังไม่ห่วงรัฐเสียรายได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตรอีก 2 เดือน เริ่มวันที่21 ก.ย.-20 พ.ย.2565รวมทั้งขยายเวลาลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกินและไม่เกิน 0.005% โดยน้ำหนัก หรือน้ำมันดีเซลบี 0 และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายไฟฟ้าทั้งหมดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราศูนย์ ออกไปอีก 6 เดือน

ทั้งนี้การขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซลส่งผลให้กระทรวงการคลังสูญเสียรายได้เดือนละ 10,000 ล้านบาท รวม 2 เดือน สูญเสียรายได้ 20,000 ล้านบาท ขณะที่การลดภาษีดีเซลและน้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าสูญเสียรายได้1,400ล้านบาท ซึ่งการสูญเสียรายได้จะคาบเกี่ยวปีงบประมาณ 2565 ที่สิ้นสุดสิ้นเดือน ก.ย.นี้ และต้นปีงบประมาณ 2566 ที่เริ่มเดือน ต.ค.นี้โดยไม่ผลกระทบการจัดเก็บรายได้และคงประมาณการรายได้ปีงบประมาณ 2566ที่2.49 ล้านล้านบาท

ครม.เคาะขึ้นค่าแรงตุลาฯนี้

นอกจากนี้ ครม.รับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 1 ก.ย.2565 โดยกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศ 328-354 บาท/วัน หรือปรับขึ้น 8-22 บาท หรือปรับขึ้น 5% มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.2565 แบ่งเป็น 9 อัตรา ได้แก่ 

1.วันละ 354 บาท จำนวน 3 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง 2.วันละ 353 บาท จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร 3.วันละ 345 บาท จำนวน 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา 

4.วันละ 343 บาท จำนวน 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา 5.วันละ 340 บาท จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี 

6.วันละ 338 บาท จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม 7.วันละ 335 บาท จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์ 

8.วันละ 332 บาท จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญและอุทัยธานี 

9.วันละ 328 บาท จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส น่าน ปัตตานี ยะลา และอุดรธานี

“คณะกรรมการค่าจ้างกลางได้คำนึงถึง ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน จีดีพีและสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม" 

จัดงบดูแลเด็ก-เกษตรกร

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบงบประมาณกลาง 2565 สำหรับ โครงการอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 933.6 ล้านบาท เพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดรอบเดือน ก.ย.2565 จำนวน 2.35 ล้านคน

นอกจากนี้ อนุมัติหลักการกลุ่มโครงการที่เกี่ยวกับค่าตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 6 โครงการ ซึ่งเกี่ยวกับการการดูแลโรคโควิด-19 รวม 13,124 ล้านบาท

รวมทั้งอนุมัติงบกลาง 714.64 ล้านบาท ให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ดำเนินโครงการช่วยเหลือความเดือดร้อนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานและค่าใช้จ่ายการให้บริการประชาชน และอนุมัติงบกลาง 1,747 ล้านบาท ให้โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์