“พาณิชย์”“หนุน sacit จัดงานศิลปหัตถกรรมไทยใหญ่แห่งปี กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

“พาณิชย์”“หนุน sacit  จัดงานศิลปหัตถกรรมไทยใหญ่แห่งปี  กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

sacit ชวนช้อปผลิตภัณฑ์หัตกรรมไทย-งานคราฟต์ ในงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 13” และ “Crafts Bangkok 2022” 8-11 ก.ย.ไบเทค บางนา เผย รวมงานหัตถศิลป์ไทย อันทรงคุณค่าและงานคราฟต์ร่วมสมัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งปี ตั้งเป้ายอดจำหน่าย 140 ล้านบาท

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า   กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งการส่งเสริมผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องไปกับนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ และเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการในทุกระดับ ควบคู่ไปกับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ตอบสนองเมกะเทรนด์ของโลก

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ และผลิตภัณฑ์งานศิลปหัตถกรรมไทยด้วยการประยุกต์นำนวัตกรรมเทคโนโลยี และออกแบบดีไซน์ให้ทันสมัย เน้นมีฟังก์ชันการใช้งานเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการผลิตการรับรองมาตรฐานให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย สอดคล้องกับตลาดเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งจะช่วยเพิ่มเอกลักษณ์ให้สินค้าของไทยโดดเด่นมากขึ้น

“พาณิชย์”“หนุน sacit  จัดงานศิลปหัตถกรรมไทยใหญ่แห่งปี  กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

 โดยการจัดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 13” และ “Crafts Bangkok 2022” ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 ก.ย. 2565 ระหว่างเวลา 10.00-20.00 น. ณ ฮอลล์ 101-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายในงานจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมมากถึง 650 ราย ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ สู่การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย พัฒนาด้านการตลาดให้ผู้ประกอบการขยายกลุ่มผู้บริโภควงกว้างทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น

อีกทั้งจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้มีเม็ดเงินหมุนเวียน สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงเรื่องของเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ BCG                     (Bio-Circular-Green Economy) ที่ sacit ได้ขานรับแนวคิด BCG ส่งเสริมและขับเคลื่อนสินค้าไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าหัตถศิลป์และไลฟ์สไตล์ที่มาร่วมจัดแสดงภายในงาน ล้วนเป็นผู้ประกอบการที่นำแนวทาง BCG มาปรับใช้ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการใช้วัสดุหลักจนถึงกระบวนการผลิตแล้วเสร็จ

 สำหรับกิจกรรมภายในงาน sacit ได้จัดเตรียมพื้นที่การเจรจาธุรกิจทั้งในและต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ เพิ่มช่องทางการส่งออกและการจัดจำหน่าย เกิดความสะดวกรวดเร็ว , การมอบเกียรติบัตร แก่ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2565 , การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

 รวมไปถึงโครงการเซรามิค สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โครงการกำลังใจ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่สะท้อนภูมิปัญญาและทักษะเชิงช่าง จากกลุ่มครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมถึงงานคราฟต์ร่วมสมัยจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นับหมื่นรายการ กว่า 650 ร้านค้า คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 30,000 ราย มียอดจำหน่ายภายในงานกว่า 140 ล้านบาท