โรงแรมหวั่น “ต่างชาติเที่ยวไทย” น้อยกว่าคาด เผชิญเงินเฟ้อกดดันกำลังซื้อ

โรงแรมหวั่น “ต่างชาติเที่ยวไทย” น้อยกว่าคาด เผชิญเงินเฟ้อกดดันกำลังซื้อ

“สมาคมโรงแรมไทย” เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นที่พักแรม เดือน ส.ค.65 ผู้ประกอบการโรงแรมหวั่น "ต่างชาติเที่ยวไทย" น้อยกว่าคาด ท่ามกลางความกังวลเรื่องปัญหาเงินเฟ้อสูงกดดันกำลังซื้อ ด้านอัตราการเข้าพักของโรงแรมปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้และภาคตะวันออก

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน ส.ค.2565 จากผู้ประกอบการที่พักแรม 106 แห่ง ระหว่างวันที่ 8-24 ส.ค.2565 จัดทำโดยสมาคมฯกับธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการสอบถามประเด็นพิเศษ เกี่ยวกับเรื่อง “ความกังวลของธุรกิจโรงแรมต่อประเด็นต่างๆ ในระยะข้างหน้า” โรงแรมมองว่ายังมีหลายประเด็นที่อาจกระทบการฟื้นตัวของธุรกิจในระยะข้างหน้า โดย 62% มองว่าปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกดดันกำลังซื้อ และ 61% กังวลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาน้อยกว่าคาด เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการกังวลมากที่สุด

รองลงมาคือการขาดแคลนแรงงาน 43% ตามมาด้วยการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่อาจกระทบกิจกรรมนอกบ้านให้ลดลง 40% ธุรกิจเกี่ยวเนื่องยังไม่กลับมาเปิดเต็มที่ 19% แนวโน้มค่าเงินบาท 18% แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศ 16%

ขณะที่ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 11% เนื่องจากมีแนวโน้มติดได้ยากกว่า และจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยยังน้อย เช่นเดียวกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีน-ไต้หวัน กังวล 6% เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวเข้ามาในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนการเดินทางหลังรัฐบาลเปิดประเทศเต็มรูปแบบ เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามนโยบายการคลัง อนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ประกอบธุรกิจไมซ์ (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) เพื่อกระตุ้นการจัดกิจกรรมไมซ์ภายในประเทศ

รวมถึงการขยายระยะเวลาพำนักในไทยให้กับชาวต่างชาติจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า ให้อยู่ในไทยได้นานขึ้นจากไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน และขยายเวลาให้กับผู้ที่มาขอวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arrival: VoA) จากไม่เกิน 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 - 31 มี.ค.2566

และวีซ่าประเภทใหม่ “Long-Term Resident Visa: LTR Visa” ที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ย.2565 ให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนต่างชาติ เพื่อดึงดูดให้เข้ามาตั้งฐานธุรกิจในประเทศ กลุ่มใหม่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งด้านทักษะและความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผู้ที่มีความมั่งคั่ง ถือเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้มีนักท่องเที่ยวศักยภาพสูงเข้ามาและมีการพำนักอยู่ในไทยนานขึ้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุน

นอกจากนี้ ธุรกิจเชื่อมโยงอื่นๆ เช่น สายการบิน มีการเปิดเที่ยวบินใหม่ และกลับมาเปิดเที่ยวบินที่เคยระงับทำการบินในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19  โดยเฉพาะเส้นทางบินที่มาจากภูมิภาคอาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเชียใต้

“แม้จะมีปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง แต่ยังคงมีประเด็นสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ คือปัญหาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าและพลังงาน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในมุมมองของผู้ประกอบการมีผลต่อต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นและกระทบต่อกำไรในช่วงที่ธุรกิจกำลังฟื้นตัว รวมถึงเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจโรงแรมก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม” 

นางมาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า รายได้โรงแรมในเดือน ส.ค. ยังมีรายได้อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับก่อนโควิด-19 ระบาด แต่ส่วนหนึ่งรายได้เริ่มปรับดีขึ้นต่อเนื่องหลังมีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบเมื่อเดือน ก.ค. สะท้อนจากโรงแรมที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 34% ตามการฟื้นตัวของกลุ่มโรงแรมมาตรฐาน 4-5 ดาวเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม โรงแรมที่มีรายได้กลับมาไม่ถึง 30% มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากวันหยุดยาวที่น้อยกว่าเดือนก่อน

ด้านอัตราการเข้าพักเดือน ส.ค. เฉลี่ยอยู่ที่ 47.5% เพิ่มขึ้นจาก ก.ค. 65 ที่มี 45% ตามการยกเลิกลงทะเบียนผ่านระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) และขยายสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ตั้งแต่เดือนก่อน ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเอเชียและตะวันออกกลางเป็นสำคัญ ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเข้าพักลดลงบ้างจากวันหยุดยาวที่น้อยกว่าเดือนก่อน

“อัตราการเข้าพักของโรงแรมปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้และภาคตะวันออก ส่วนหนึ่งจากธุรกิจโรงแรมทยอยกลับมาเปิดตามปกติและแข่งขันกันมากขึ้น”

เมื่อเจาะเป็นรายภาค พบว่าภาคเหนือ เดือน ส.ค. มีอัตราการเข้าพัก 39.3% เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.ที่มี 39.1% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือน ส.ค.มีอัตราการเข้าพัก 51% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มี 48.7% ภาคตะวันออก เดือน ส.ค.มีอัตราการเข้าพัก 43% ลดลงจากเดือนก่อนที่มี 46.9% ภาคกลาง เดือน ส.ค.มีอัตราการเข้าพัก 54% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มี 44.1% และภาคใต้ เดือน ส.ค.มีอัตราการเข้าพัก 46.6% ลดลงจากเดือนก่อนที่มี 49%

ลูกค้าของโรงแรมส่วนใหญ่ยังคงเป็นลูกค้าชาวไทย แต่มีลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้น สะท้อนจากโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังมีการผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศตั้งแต่กลางปี 2565 ทั้งนี้ หากพิจารณากลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้าพักส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอเชียและตะวันออกกลาง รองลงมาคือยุโรปตะวันตก

“สมาคมฯคาดการณ์ว่าอัตราการเข้าพักในเดือน ก.ย.อยู่ที่ 40-45% อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเข้ามาต่อเนื่องอาจทำให้อัตราการเข้าพักดีกว่าที่คาด”

ด้านการจ้างงานในเดือน ส.ค. โรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 75.2% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดโควิก-19 ระบาด สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ทยอยปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นการจ้างพนักงานใหม่ที่ต้องใช้เวลาฝึกทักษะเพื่อเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4 ที่เข้าสู่ไฮซีซั่น