ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 รวมทุกคำถามที่พบบ่อย - ขั้นตอนลงทะเบียน

ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 รวมทุกคำถามที่พบบ่อย - ขั้นตอนลงทะเบียน

"ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565" รวมทุกคำถามที่พบบ่อย พร้อมขั้นตอนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ง่าย ๆ และจุดรับลงทะเบียนมีที่ไหนบ้าง เช็กเลยที่นี่!

หลังจากที่เมื่อวานนี้(5 กันยายน 2565) กระทรวงการคลังได้เปิดให้ประชาชน "ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565" โดยครั้งนี้จะใช้เกณฑ์ใหม่โดยจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนและครอบครัวของผู้ลงทะเบียนด้วย ทั้งนี้ได้เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2565 - 19 ตุลาคม 2565 ซึ่งมีขั้นตอนการลงทะเบียนง่าย ๆ ดังนี้

 

 

ขั้นตอน ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 ผ่านเว็บไซต์

 

1. เข้าเว็บไซต์ https://บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https://welfare.mof.go.th กด "ลงทะเบียน"

 

2. กรอกข้อมูลบัตรประชาชน และเลข Laser หลังบัตรประชาชน เลือก "ขั้นตอนถัดไป"

 

3. กรอกข้อมูล 4 ส่วน ได้แก่ 

  • ข้อมูลส่วนตัวของผู้ลงทะเบียน
  • การประกอบอาชีพ
  • รายได้และหนี้สินของผู้ลงทะเบียน
  • ความต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ

 

4. ผู้ลงทะเบียนที่จดทะเบียนสมรส หรือมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ เลือกหน่วยรับลงทะเบียนที่จะไปยื่นเอกสาร

 

5. ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง แล้วกดยืนยัน

 

6. "ไม่มีครอบครัว" รอผลการตรวจสอบสถานะบุคคล / "มีครอบครัว" ไปแสดงตัวตนและยื่นเอกสารยังหน่วยรับลงทะเบียนที่เลือกไว้

 

ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 รวมทุกคำถามที่พบบ่อย - ขั้นตอนลงทะเบียน

 

ลงทะเบียนผ่านหน่วยรับลงทะเบียน

 

  1. ธนาคารกรุงไทย
  2. ธนาคารออมสิน
  3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  4. สำนักงานคลังจังหวัด (ไม่รวมกทม.)
  5. สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร
  6. ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ
  7. สำนักงานเมืองพัทยา

 

*สามารถค้นหาหน่วยรับลงทะเบียนได้ผ่านทางเว็บไซต์โครงการ

 

ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 รวมทุกคำถามที่พบบ่อย - ขั้นตอนลงทะเบียน

 

กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว

 

  • แบบฟอร์มลงทะเบียน
  • บัตรประจำตัวประชาชน (ผู้ลงทะเบียน)

 

กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว

 

  • แบบฟอร์มลงทะเบียน
  • บัตรประจำตัวประชาชน (ผู้ลงทะเบียน)
  • สำเนาบัตรประชาชน คู่สมรส และบุตร หรือสำเนาสูติบัตร
  • พร้อมลงลายมือชื่อ

 

*กรณีที่คู่สมรสและบุตรของผู้ลงทะเบียนเดินทางมาแสดงตัวที่หน่วยรับลงทะเบียน พร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน

 

 

ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุ ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาลงทะเบียนแทนได้ โดยใช้เอกสารดังนี้

 

  • แบบฟอร์มลงทะเบียน
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ผู้ลงทะเบียน) พร้อมลงลายมือชื่อ
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ลงทะเบียน คู่สมรส บุตร หรือสำเนาสูติบัตร
  • พร้อมลงลายมือชื่อ

 

เอกสารสำหรับการมอบอำนาจ ได้แก่

 

  • หนังสือมอบอำนาจ (ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์โครงการฯ)
  • บัตรประจำตัวประชาชน (ผู้ได้รับมอบอำนาจ)
  • สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการ (ถ้ามี) หรือ ใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี)

 

สำหรับเกณฑ์ใหม่ที่จะใช้ในการตรวจสอบคุณสมบัติของ "ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565" มีดังนี้


คุณสมบัติผู้ลงทะเบียน

 

1) มีสัญชาติไทย

 

2) มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

 

3) ไม่เป็นบุคคลดังต่อไปนี้ ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ฯ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา

 

4) รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว รายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมรายได้ของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)

 

5) ทรัพย์สินทางการเงินได้แก่ เงินฝาก สลาก พันธบัตรและตราสารหนี้ภาครัฐ ของผู้ลงทะเบียนต้องมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว ทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมมูลค่าทรัพย์สินทางการเงินของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)

 

ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 รวมทุกคำถามที่พบบ่อย - ขั้นตอนลงทะเบียน

 

6) อสังหาริมทรัพย์ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

6.1 กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว

 

(1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)

1.1 กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว

- บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
- ห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

1.2 กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

(2) ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย

2.1 ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

2.2 ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่

 

6.2 กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว

(1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)

 

1.1 กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว

1.1.1 กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดิน ที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา

กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดินที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา

1.1.2 กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

1.2 กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่

 

(2) ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย

2.1 ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่

2.2 ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่

 

7) ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีบัตรเครดิต ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง

 

8) ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ ดังนี้

  • วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
  • วงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท

 

ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565 รวมทุกคำถามที่พบบ่อย - ขั้นตอนลงทะเบียน


รวมทุกคำถามการ "ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2565" ที่พบบ่อย

 

คุณสมบัติและหลักเกณฑ์

 

สมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน ได้แก่ บุคคลใดบ้าง?

ตอบ : ผู้ลงทะเบียน คู่สมรส (สามีหรือภรรยาที่จดทะเบียนสมรส) และบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ เฉพาะที่ยังมีชีวิตอยู่ตามข้อมูลของกรมการปกครอง (แต่ไม่รวมบุตรบุญธรรม)

 

กรณีบุตรของผู้ลงทะเบียนมีอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์ และยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ผู้ลงทะเบียนจะต้องดำเนินการอย่างไร?

ตอบ : ในกรณีที่บุตรของผู้ลงทะเบียนมีอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์ และยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ผู้ลงทะเบียนสามารถกรอกเลขประจำตัวประชาชนของบุตรตามที่ปรากฏในสูติบัตร และต้องยื่นเอกสารสำเนาสูติบัตรของบุตรที่หน่วยงานรับลงทะเบียนพร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง

 

ผู้ลงทะเบียนต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ นับอย่างไร?

ตอบ : ผู้ลงทะเบียนจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปนับถึงวันสุดท้ายที่เปิดรับลงทะเบียน (19 ตุลาคม 2565)

 

ผู้ลงทะเบียนมีบุตรอายุต่ำกว่า 18 ปี และเกิน 18 ปี ต้องระบุข้อมูลอย่างไร?

ตอบ : ระบุข้อมูลในแบบฟอร์มเฉพาะบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์นับถึงวันสุดท้ายที่เปิดรับลงทะเบียน (วันที่ 19 ตุลาคม 2565)

 

บุตรของผู้ลงทะเบียนจะต้องลงนามในแบบฟอร์มอย่างไร?

ตอบ : 1. บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุเกินกว่า 10 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ให้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง 2. บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุไม่เกิน 10 ปีบริบูรณ์นับถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ให้ผู้ลงทะเบียนเป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนบุตร

 

ผู้ถือบัตรสวัสดิการปัจจุบัน ต้องลงทะเบียนใหม่หรือไม่?

ตอบ : ผู้ที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องลงทะเบียนใหม่ทุกคน ทั้งผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในปัจจุบัน และผู้ที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

 

หากผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว จะต้องลงทะเบียนทั้งสามี และภรรยาหรือไม่ และจะได้รับสิทธิคนละสิทธิใช่หรือไม่?

ตอบ : การลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 เป็นการลงทะเบียนเป็นรายบุคคล และตรวจสอบรายบุคคลและครอบครัว โดยมีขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติ 2 ขั้นตอน ดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 พิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนว่าผ่านตามเกณฑ์หรือไม่
  • ขั้นตอนที่ 2 พิจารณาคุณสมบัติตามเกณฑ์ของครอบครัว (กรณีที่ผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว)

ดังนั้น หากผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว สามารถลงทะเบียนได้ทั้งสามี และภรรยา ทั้งนี้หากสามีและภรรยาผ่านการตรวจสอบคุณสมบติก็จะได้รับสิทธิคนละ 1 สิทธิ

 

หากผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว แต่ไม่สามารถติดตามคู่สมรสหรือบุตรให้มาลงทะเบียนที่จุดรับลงทะเบียนหรือลงลายมือชื่อในเอกสารได้ต้องดำเนินการอย่างไร?

ตอบ : แบบฟอร์มลงทะเบียนจะต้องมีการลงนามที่ครบถ้วนหากมีครอบครัว (คู่สมรสและ/หรือบุตรที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องลงนามทุกคนให้ครบถ้วน ทั้งนี้ คู่สมรสและ/หรือบุตรที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่จำเป็นต้องเดินทางมายื่นแบบฟอร์มลงทะเบียนพร้อมกับผู้ลงทะเบียน แต่จำเป็นต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและ/หรือบุตรพร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้องมาพร้อมกับแบบฟอร์มลงทะเบียน

 

คนกลุ่มใดบ้างที่สามารถมอบอำนาจได้ และใช้เอกสารอะไรบ้าง?

ตอบ : บุคคลที่สามารถมอบอำนาจสำหรับการลงทะเบียน ได้แก่ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องมีเอกสารประกอบการลงทะเบียน ดังนี้

  1. หนังสือมอบอำนาจ (สำหรับผู้ลงทะเบียนที่เป็นผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง)
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ลงทะเบียน (ผู้มอบอำนาจ) พร้อมลงลายมือชื่อสำเนาถูกต้อง
  3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ พร้อมลงลายมือชื่อสำเนาถูกต้อง
  4. สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการ (ถ้ามี) หรือใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี)

 

ใครต้องลงลายมือชื่อในแบบฟอร์ม ในกรณีที่มีหนังสือมอบอำนาจจากผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง?

ตอบ : ผู้ลงทะเบียนเป็นผู้ลงนามในแบบฟอร์มลงทะเบียน ซึ่งผู้ลงทะเบียนดังกล่าวจะต้องเป็นผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ด้วยตนเอง

 

กรณีที่ผู้ลงทะเบียนเป็นคนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติ และหากต้องการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯสามารถลงทะเบียนได้หรือไม่ และถ้าหากลงทะเบียนได้ ผู้ลงทะเบียนจะต้องลงทะเบียนว่ามีครอบครัวหรือไม่?

ตอบ : ผู้ลงทะเบียนที่จดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติตามกฎหมายประเทศไทย คู่สมรสจะต้องขอ "บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย" หรือบัตรต่างด้าว ที่เขต/อำเภอ เพื่อให้คู่สมรสที่เป็นชาวต่างชาติ มีข้อมูลเลข 13 หลัก เพื่อใช้สำหรับลงทะเบียน

 

 

ขั้นตอนการลงทะเบียน

 

ผู้ลงทะเบียนลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์แล้ว ต้องมายื่นเอกสารที่หน่วยรับลงทะเบียนหรือไม่?

ตอบ : แบ่งตามสถานะของผู้ลงทะเบียน ดังนี้

1. ผู้ลงทะเบียนที่ไม่มีครอบครัว จบขั้นตอนที่เว็บไซต์โดยไม่ต้องเดินทางมายังหน่วยรับลงทะเบียน

2. ผู้ลงทะเบียนที่มีครอบครัวต้องเดินทางมาแสดงตัวตน และนำแบบฟอร์มลงทะเบียนพร้อมทั้งเอกสารประกอบการลงทะเบียนที่ลงนามครบถ้วน มายื่นที่หน่วยรับลงทะเบียนที่เลือกไว้ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาการเปิดรับลงทะเบียน

 

คู่สมรส และบุตรของผู้ลงทะเบียนต้องเดินทางมายังหน่วยรับลงทะเบียนเพื่อแสดงตัวตนด้วยหรือไม่?

ตอบ : สามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ

1. กรณีคู่สมรสและบุตรเดินทางมาที่หน่วยรับลงทะเบียน : คู่สมรสและ/หรือบุตร ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงเพื่อยืนยันตัวตนต่อเจ้าหน้าที่หน่วยรับลงทะเบียน และต้องลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มลงทะเบียนให้ครบถ้วน โดยไม่ต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและ/หรือบุตร

2. กรณีคู่สมรสและบุตรไม่ได้เดินทางมาที่หน่วยรับลงทะเบียน : คู่สมรสและ/หรือบุตรต้องลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มลงทะเบียนให้ครบถ้วน พร้อมทั้งแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรสและ/หรือบุตร

 

การลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มลงทะเบียน จะต้องลงลายมือชื่อในส่วนใดบ้าง หากลงลงลายมือชื่อไม่ครบถ้วนจะมีผลอย่างไร?

ตอบ : กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว ลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์โครงการฯ หรือยื่นแบบฟอร์มที่หน่วยงานรับลงทะเบียน จะต้องลงลายมือชื่อในส่วนที่ 7 และส่วนที่ 8 ให้ครบถ้วน มิฉะนั้นจะไม่ถือว่า "กระทรวงการคลังได้รับข้อมูลการลงทะเบียนของท่านครบถ้วนแล้ว" ดังนี้

 

1. ส่วนที่ 7 การรับรองความถูกต้องของผู้ลงทะเบียน : ผู้ลงทะเบียนลงลายมือชื่อ

 

2. ส่วนที่ 8 การยินยอมให้เปิดเผยและตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัว : ผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน (ถ้ามี) ลงลายมือชื่อ

 

3. ส่วนที่ 8 ความยินยอมให้ตรวจสอบข้อมูลกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด : ผู้ลงทะเบียนลงลายมือชื่อ

กรณีผู้ลงทะเบียนที่ไม่มีครอบครัว ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ไม่ต้องลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มลงทะเบียน แต่หากลงทะเบียนผ่านหน่วยรับลงทะเบียนต้องลงนามตามรายละเอียดด้านบน

 

ผู้ลงทะเบียนที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์และเลือกหน่วยรับลงทะเบียนที่จะไปแสดงตัวตนและยื่นเอกสารแล้วสามารถเปลี่ยนแปลงสถานที่ที่เลือกไว้ได้หรือไม่?

ตอบ : ผู้ลงทะเบียนสามารถทำการเปลี่ยนแปลงสถานที่ในการยื่นเอกสารลงทะเบียนได้ และไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยจะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงสถานที่ยื่นเอกสารผ่าน Website ก่อนที่จะเข้าไปยื่นเอกสาร ณ หน่วยงานรับลงทะเบียน ทั้งนี้ หากผู้ลงทะเบียนได้ยื่นเอกสารประกอบการลงทะเบียนที่หน่วยรับลงทะเบียน และได้รับหลักฐานยืนยันการลงทะเบียน (ส่วนที่ 11) แล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนสถานที่ยื่นเอกสารได้

 

บัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุ สามารถใช้ลงทะเบียนได้หรือไม่?

ตอบ : บัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุ สามารถใช้ลงทะเบียนได้ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (เพิ่มเติม ครั้งที่ 4) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565

 

ผู้ลงทะเบียนที่บัตรประชาชนแบบเก่าไม่ใช่ Smartcard สามารถลงทะเบียนได้หรือไม่?

ตอบ : สามารถลงทะเบียนผ่านหน่วยรับลงทะเบียนโดยกรอกข้อมูลหมายเลขบัตรประชาชนได้ ทั้งนี้แนะนำให้ผู้ลงทะเบียนเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนเป็นแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) เนื่องจากหากผู้ลงทะเบียนผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเป็นผู้ได้รับสิทธิโครงการจะต้องมีขั้นตอนในการยืนยันตัวตนที่จะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart card

 

หากผู้ลงทะเบียนยืนยันการลงทะเบียนแล้วสามารถแก้ไขข้อมูลได้หรือไม่?

ตอบ : หากยืนยันการลงทะเบียนแล้วจะไม่สามารถแก้ไขข้อมูลใดได้ อย่างไรก็ดี หากผู้ลงทะเบียนตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนแล้วพบว่า ผลการลงทะเบียนไม่สมบูรณ์ (เนื่องจากข้อมูลผู้ลงทะเบียนหรือข้อมูลสมาชิกในครอบครัวไม่ตรงตามฐานข้อมูลกรมการปกครอง) ผู้ลงทะเบียนสามารถติดต่อขอแก้ไขข้อมูลดังกล่าวได้ ณ หน่วยงานรับลงทะเบียนที่ผู้ลงทะเบียนได้ยื่นแบบฟอร์มและเอกสารประกอบไว้เท่านั้น

 

สามารถลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ได้ตลอดเวลาหรือไม่?

ตอบ : ระบบเปิดให้ลงทะเบียนเวลา 06.00 - 23.00 น.ของทุกวัน ระหว่างวันที่ 5 กันยายน 2565 - 19 ตุลาคม 2565


การตรวจสอบสถานะการลงทะเบียน

 

ผู้ลงทะเบียนสามารถตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนผ่านช่องทางใด?

ตอบ : สามารถตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนผ่าน 2 ช่องทาง ดังนี้

  1. ผ่านเว็บไซต์โครงการ โดยระบุหมายเลขบัตรประชาชนและวันเดือนปีเกิด ของผู้ลงทะเบียน
  2. หน่วยรับลงทะเบียน โดยการระบุหมายเลขบัตรประชาชนหรือ Dip Chip

 

ผู้ลงทะเบียนจะต้องผ่านการตรวจสอบขั้นตอนใดบ้าง ในการลงทะเบียนขอรับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565

ตอบ : ผู้ลงทะเบียนจะเป็นผู้รับได้รับสิทธิ์สวัสดิการตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 เมื่อ

  1. ผ่านการตรวจสอบสถานะบุคคลและความสัมพันธ์กับกรมการปกครอง
  2. ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ
  3. ผ่านการยืนยันตัวตนเพื่อใช้สิทธิ

 

กรณีประกาศผลการตรวจสอบสถานะบุคคลแล้วไม่ตรงกับข้อมูลในฐานของกรมการปกครองต้องทำอย่างไร?

ตอบ : กรณีที่ข้อมูลของผู้ลงทะเบียนและสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่ถูกต้องตามข้อมูลของกรมการปกครอง หลังจากวันที่ประกาศผลผู้ลงทะเบียนจะต้องแก้ไขข้อมูลของตนเองให้ตรงกับข้อมูลของกรมการปกครองที่หน่วยงานรับลงทะเบียนที่ตนได้ลงทะเบียนหรือได้ยื่นแบบฟอร์มลงทะเบียนไว้เท่านั้น และสำหรับผู้ลงทะเบียนที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ที่ไม่มีครอบครัว (โสด) สามารถไปแจ้งแก้ไขข้อมูลที่หน่วยงานรับลงทะเบียนใดก็ได้

 

กรณีประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติแล้วไม่ผ่านต้องทำอย่างไร?

ตอบ : ผู้ลงทะเบียนสามารถยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณาคุณสมบัติผ่านทางเว็บไซต์โครงการฯ และติดต่อหน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติที่ไม่ผ่าน เพื่อขอแก้ไขปรับปรุงข้อมูลโดยตรง

 

ผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ต้องดำเนินการอย่างไร?

ตอบ : ผู้ลงทะเบียนจะต้องยืนยันตัวตนผ่านอุปกรณ์การยืนยันตัวตน (Full E KYC) โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ณ ธนาคารตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ได้แก่ ธนาคารกรุงไทยฯ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน