ลำดับขั้นของ ESG ในบริษัท | พสุ เดชะรินทร์

ลำดับขั้นของ ESG ในบริษัท | พสุ เดชะรินทร์

ปัจจุบัน ESG (Environment Social Governance) ได้กลายเป็นคำสามัญที่ใช้กันอย่างแพร่หลายไปแล้ว อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าการมุ่งเน้น ESG ของบริษัทต่างๆ นั้นก็ยังเป็นไปหลักการ รูปแบบ และลำดับขั้นที่แตกต่างกัน

พัฒนาการของการดูแลและรับผิดชอบต่อสังคมสำหรับองค์กรธุรกิจได้มีการพัฒนามาเป็นระยะๆ จาก CSR (Corporate Social Responsibility) ที่บริษัทให้ความช่วยเหลือต่อสังคมด้วยรูปแบบต่างๆ มาสู่ CSV (Creating Shared Value) ที่เป็นการทำเพื่อสังคมที่ทั้งสังคมและบริษัทได้รับคุณค่าด้วยกันทั้งคู่ มาสู่ ESG ที่มองในเชิงองค์รวมมากขึ้นทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล 

ยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากองทุนชั้นนำทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ที่ดี ยิ่งนำพากระแสความตื่นตัวเรื่อง ESG มาสู่ภาคธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น บริษัทในประเทศไทยได้มีการปรับตัวให้สอดรับกับกระแสของ ESG ด้วยรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกันไป ทำให้สามารถแบ่งออกได้เป็นแนวทางใหญ่ๆ ได้สองแนวทาง

แนวทางแรก เป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับแรงกดดันที่เกิดขึ้น โดยแรงกดดันในเรื่องของ ESG นั้นก็มาจากทั้งนักลงทุน หน่วยงานกำกับ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า สังคม หรือกลุ่มเอ็นจีโอ เป็นต้น บริษัทแต่ละแห่งก็ได้มีรูปแบบและแนวทางในการปรับตัวที่แตกต่างกันไป แต่พอจะแบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ ได้ดังนี้

1. การรวบรวมกิจกรรมต่างๆ ที่บริษัทได้ทำให้มาอยู่ในหมวดหมู่ของ ESG โดยกิจกรรมเหล่านี้เป็นกิจกรรม CSR/CSV ที่ทำโดยปกติเป็นประจำ เพียงแต่มาจัดหมวดหมู่ใหม่ให้อยู่ในรูปของ ESG เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทได้มีการดำเนินงานตามแนวทางของ ESG

2. การประกาศเป้าหมายด้าน ESG ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเข้าไปช่วยเหลือชุมชน หรือการเข้าร่วมองค์กรที่ต่อต้านคอร์รัปชันต่างๆ เป็นต้น

3. การประกาศนโยบายเกี่ยวกับ ESG ว่าบริษัทจะทำอะไรบ้างเพื่อลดโลกร้อน ช่วยเหลือสังคม หรือมีธรรมาภิบาลที่ดี ปกติแล้วการประกาศเป้าหมายและประกาศนโยบายก็มักจะมาควบคู่กัน และสุดท้ายพอถึงปลายปีสิ่งต่างๆ ที่ได้ทำตามนโบายที่ประกาศไว้ ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งรายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report

4. การปรับแนวทางในการดำเนินงานภายในให้สอดคล้องกับหลักของ ESG ตั้งแต่นโยบายการลงทุน การจัดสรรงบประมาณ จนกระทั่งถึงการตัดสินใจของผู้บริหารในเรื่องสำคัญต่างๆ โดยจะอิงจากหลักการของ ESG

5. การมีผลตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของบริษัทและผู้บริหาร ที่ผูกกับ ESG และบางบริษัทก็ก้าวถึงขั้นที่ผลตอบแทนของทั้งผู้บริหารและพนักงานก็ผูกกับตัวชี้วัดทางด้าน ESG ด้วย

ลำดับขั้นของ ESG ในบริษัท | พสุ เดชะรินทร์

การปรับตัวของบริษัทในแนวทางแรกเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการบูรณาการ ESG เข้ากับการบริหาร แต่เนื่องจากเป็นการปรับตัวเพื่อรองรับต่อแรงกดดัน ดังนั้น สำหรับบางบริษัท การดำเนินงานจึงเป็นไปในลักษณะเพื่อให้โลกรู้ว่าบริษัทเป็นบริษัทที่ดีและดำเนินการตามหลัก ESG แล้วเท่านั้น

แนวทางที่สอง เป็นการนำหลัก ESG มาใช้ในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ บริษัทประเภทนี้มักจะทำตามแนวทางแรกครบถ้วน และมองเห็นว่าการทำตาม ESG ไม่ใช่เรื่องของ Compliance เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของ Opportunities ด้วย

บริษัทเหล่านี้จะมองหาโอกาสทางธุรกิจจาก ESG แล้วออกกลยุทธ์ หรือ Business model ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เพียงแต่ได้แค่เรื่องภาพลักษณ์อย่างเดียว แต่ได้โอกาส ช่องทางในการเติบโตทางธุรกิจ และแนวทางในการทำให้บริษัทแตกต่างจากคู่แข่งขันด้วย

จะเห็นว่าการนำ ESG มาใช้ในภาคธุรกิจก็เปรียบเสมือนเป็นลำดับขั้นของการนำ ESG มาใช้ เริ่มจากพื้นฐานสุดคือเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันที่เกิดขึ้น จนถึงการสร้างกลยุทธ์และ Business model ใหม่ๆ บางบริษัทอาจทำเพียงแค่การประกาศเป้าและนโยบาย

บางบริษัทอาจจะปรับแนวทางการดำเนินงาน บางบริษัทผูกผลตอบแทนของผู้บริหารเข้ากับเป้าทาง ESG ขณะที่บางบริษัทก็ไปถึงขั้นของการหาโอกาสทางธุรกิจจาก ESG ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะก้าวไปสู่ขั้นไหน เมื่อไร และอย่างไร