ทำอย่างไร ? เมื่อต้องทำงานกับ “คนต่าง Gen” ที่ “คิดต่างกัน”

ทำอย่างไร ? เมื่อต้องทำงานกับ “คนต่าง Gen” ที่ “คิดต่างกัน”

ทำความเข้าใจความต่างของแต่ละ Gen ให้มากขึ้น เมื่อต้องทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงโดยเฉพาะ “Gen Z” ท่ามกลางองค์กรมีคนหลากหลาย “Gen” ที่ล้วนมีแนวคิดที่แตกต่างกัน

ประเด็นช่องว่างระหว่าง "Gen" หรือ "Generation" และวัฒนธรรมในที่ทำงาน ถูกจุดติดอีกครั้งเมื่อมีประเด็นการโพสต์ถึงพฤติกรรมของเด็กฝึกงาน ที่ดูวางเฉยกับการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในองค์กรจนคนเจนอื่นๆ รู้สึกประหลาดใจ

แม้โพสต์ต้นเรื่องได้ลบโพสต์ดังกล่าวและออกมาขอโทษจากไปเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งน่าสนใจที่ซ่อนอยู่ในเรื่องนี้ คือองค์กรในยุคใหม่กำลังเผชิญความท้าทายของ “เจนเนอเรชัน” ที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะน้องใหม่อย่าง “Gen Z” ที่กำลังเข้าสู่วัยแรงงาน ที่เจนเนอเรชันก่อนๆ ต้องลองเรียนรู้ความเป็นไปของพวกเขาแบบไม่ตัดสิน

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ในประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับปัญหาความต่างวัยนี้ แต่เป็นสิ่งที่องค์กรทั่วโลกต้องเผชิญ เนื่องจากเวลานี้เป็นช่วงเวลาเบ่งบานของ Gen Y ตอนปลาย หรือ Gen Z ที่กำลังเติบโตมาอยู่ในฐานะ “เพื่อนร่วมงาน” ในทุกๆ องค์กร 

  •  รู้จัก Gen Z, Gen Me! 

ความท้าทายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องความสามารถและศักยภาพของคนรุ่นใหม่ แต่เป็น “แนวคิด” และ “มุมมอง” ทั้งด้านการทำงานและใช้ชีวิต ที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้าแทบจะสิ้นเชิง 

การแบ่งกลุ่มช่วงอายุในเจนเนอเรชันต่างๆ มีความแตกต่างกันออกไปตามการศึกษา ส่วนใหญ่พบว่าคนทำงาน Gen Y เป็นนิยามของคนที่เกิดในช่วง พ.ศ.2523-2540 ส่วนคน Gen Z คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2540 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ยังมีนิยามว่าเป็นกลุ่มรอยต่อระหว่าง Gen Y กับ Gen Z คือกลุ่มคนที่เกิดช่วงปี พ.ศ.2529-2538 ถูกให้นิยามเป็นอีกชื่อหนึ่งว่า “Generation Me” หรือ “Gen Me” ที่อีกนัยหนึ่งหมายถึงตนเอง มักถูกมองว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมองว่า “ตัวเองสำคัญที่สุด” 

ไม่ว่าจะแบ่งเจนเนอเรชันอย่างไร แต่ด้วยบริบททางสังคมตั้งแต่เกิด การใช้ชีวิตที่ห้อมล้อมด้วยเทคโนโลยีที่ความสะดวกสบายแบบสั่งได้ ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป จึงไม่น่าแปลกใจที่คนในช่วง Gen Y ตอนปลาย ถึง Gen Z จะมองเห็นโอกาสต่างๆ ในชีวิตต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้า หรือมีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะมุมมอง “ความสำเร็จในการทำงาน

  •  งานไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต 

คนรุ่นใหม่จะไม่อนุญาตให้งานเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากเกินไป มักมีแนวคิดว่า “งานไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต” แต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสำคัญคือ “การได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบ แม้ว่าจะมีรายได้น้อยกว่าก็ตาม” แนวคิดนี้มีส่วนทำให้เด็ก Gen Z กว่า 87% มักทำงานเสริม เพราะเงินจากรายได้หลักไม่เพียงพอต่อการครองชีพ

ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้ “มีความเป็นตัวเองสูงมาก” เน้นการทำงานที่ตนเองพึงพอใจ ไม่ค่อยชอบเงื่อนไขที่ยุ่งยาก ไม่ชอบพิธีรีตอง แต่ก็มีจุดเด่นที่มีความสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ดี เพียงแต่ต้องทำใจธรรมชาติของพวกเขา และหาวิธีดึงศักยภาพออกมาให้ได้

  •  องค์กรหลาก Gen ทำอย่างไร ให้ทำงานร่วมกันได้ดี 

การทำงานร่วมกันของคนต่างวัย ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกฎกติกาเข้มงวด แต่ “ความเข้าใจในความต่าง” ของแต่ละเจนคือกุญแจที่สามารถเปิดให้ทุกเจนสามารถทำความร่วมกันได้ดี

- คนทำงานกลุ่ม Baby Boomer (เกิดในช่วงพ.ศ. 2489-2507) มักจะเป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดในบริษัท คนวัยนี้ยังชอบการคุยงานแบบต้องเจอตัว ซึ่งตรงข้ามกับคนทำงานกลุ่ม Gen Y ที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารมากกว่า การทำงานร่วมกันจึงน่าจะใช้เหตุผลมาสนับสนุน และใช้ความยืดหยุ่นเป็นตัวเชื่อมให้สองเจนนี้เข้าถึงกันได้ แบบไม่ใช่การสั่งการในลักษณะออกคำสั่ง

- คนทำงาน Gen X (เกิดในช่วงพ.ศ. 2508-2522) คนเจนนี้ชอบความชัดเจน กระชับไม่อ้อมค้อม เริ่มยอมรับการสั่งงานผ่านทางช่องทางออนไลน์ตามความเหมาะสม เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนในกลุ่มนี้คือไม่ชอบถูกบงการ Gen X ชอบการมอบหมายงานแบบให้โจทย์ปลายเปิด ที่ทำมีโอกาสได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และได้ลองแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

- คนทำงาน Gen Y (เกิดในช่วงพ.ศ. 2523-2540) ไม่ชอบกฎระเบียบที่เข้มงวด และชื่นชอบความท้าทายใหม่ๆ การได้รับโจทย์ในบทบาทใหม่ หรือการสลับทำนั่นทำนี่ในเวลาเดียวกันช่วยกระตุ้นให้เจนนี้มีความกระตือรือร้นที่จะลองทำ หากต้องทำงานกับกลุ่มควรสร้างบรรยากาศการทำงานให้มีความผ่อนคลาย เป็นกันเอง เอื้อต่อการให้อิสระในการทำงาน และห้ามเพิกเฉยต่องานของพวกเขา รีบฟีดแบ็กให้ไว เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ชอบรออะไรนานๆ และไม่ชอบความไม่ชัดเจน

- คนทำงาน Gen Z (เกิดในช่วง พ.ศ. 2540 เป็นต้นไป) น้องใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน คนวัยนี้มองโลกในแง่ดี มีความมั่นใจสูง การทำงานกับ Gen Z จึงต้องเข้าใจว่าพวกเขามั่นใจในตัวเองค่อนข้างสูง เรียนรู้ได้เร็ว  และรับอิทธิพลจากเทคโนโลยีใหม่อย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่คนใน Gen มักจะไม่นั่งรอคำสั่ง แต่จะคิดแล้วเสนอออกมาเอง ฉะนั้นหัวหน้างานจึงควรเน้นสั่งให้น้อย ฟังให้เยอะ พร้อมรับฟังพวกเขาอย่างไม่ตัดสินไปก่อน

  •  วัฒนธรรมองค์กรเก่าๆ อาจสลัดคนรุ่นใหม่จากการทำงาน 

บ่อยครั้งที่คนในองค์กรมองว่าวัฒนธรรมในองค์กรนั้นดีหรือเหมาะสมอยู่แล้ว แต่สำหรับคนรุ่นใหม่อาจไม่ได้มองแบบนั้น เพราะนอกจากความแตกต่างของเจนเนอเรชันแล้ว ยังมีความแตกต่างของปัจเจกที่ทำให้แม้แต่คนเจนเดียวกันก็คิดต่างกันด้วย

จึงเรียกได้ว่าวัฒนธรรมองค์กร เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งสำหรับผู้บริหารระดับสูง  ระดับกลาง ไปจนถึงหัวหน้างาน ที่ต้องหาจุดร่วมในการทำงานที่ลงตัวสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนองค์กรในอนาคต ที่หากปรับตัวไม่ได้คนรุ่นใหม่เหล่านี้อาจทิ้งองค์กรไว้ข้างหลังจนเติบโตไม่ทันการเปลี่ยนแปลง และจำต้องล้มหายไปในที่สุด

------------------------------

อ้างอิง: 
undubzapp
กรมสุขภาพจิต
jobsdb
bangkokbiznews