ประกาศิตผู้บริโภค “Climate Change” กฎเกณฑ์การค้าใหม่

ประกาศิตผู้บริโภค  “Climate Change”  กฎเกณฑ์การค้าใหม่

ดีมานด์ของผู้บริโภคคือประกาศิตของกฎการค้า ซึ่งสัญญาณแห่งอนาคตชัดเจนแล้วว่า เงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นกระแสหลักแห่งภาคธุรกิจในขณะนี้

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เล่าถึง การที่ไทยเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ Green supply chainในการแถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศมิ.ย. 2565 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การเปลี่ยนผ่านต้องเร่งการส่งออกเพื่อนำเงินมาเป็นต้นทุนที่จะมาใช้ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ เพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านในอนาคต รวมถึงการใช้มาตรการ

CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งนับเป็นแผนการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านภูมิอากาศ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดภาวะโลกร้อนของสหภาพยุโรป เป็นมาตรการที่ออกโดยคณะกรรมาธิการยุโรป โดยมีแนวคิดมาจากมาตรการที่สหภาพยุโรป

“เพื่อเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงทำให้การผลิตของผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นแม้ยังไม่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบันแต่จะบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า ระยะเวลาระหว่างนี้ จะเป็นการปรับตัวเพื่อรองรับการลงทุนในโลกอนาคต โดยเน้นเรื่องการส่งออกและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ”

ท่าทีของอียู สอดคล้องผลสำรวจล่าสุดในหัวข้อ “คนไทยสนใจสิ่งแวดล้อมหรือไม่” ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,000 คน ในเดือนมิ.ย. 2565 จัดทำโดย มาร์เก็ตบัซซ ร่วมกับ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยถึง 10 อันดับเรื่องที่คนไทยกังวลมากที่สุดในปัจจุบัน พบว่า ค่าครองชีพ สัดส่วนถึง 42% ขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อม/มลภาวะสัดส่วนถึง 37% และสภาพโดยรวมทางเศรษฐกิจ 29% 

ทั้งนี้ เมื่อถามต่อว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่ 62% ตอบว่า มีผลกระทบอย่างมาก รองลงมา 36% บอกว่า ค่อนข้างมีผลกระทบและ 2% บอกว่าไม่มีผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังเตือนอีกว่า เมื่อถามถึงแนวโน้มปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคต ส่วนใหญ่ 41% ตอบว่าแย่ลง 32% ตอบว่าเหมือนเดิมและ27% ตอบว่าดีขึ้น 

ดังนั้น เมื่อถามต่อไปอีกว่าจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมกันอย่างไร ส่วนใหญ่ 49% ตอบว่าไม่สนับสนุนการซื้อขายหรือบริโภคของป่าอย่างผิดกฎหมาย ขณะที่ 47% จะลดการใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน และ 43% จะใช้ถุงผ้าหรือบรรจุภัณฑ์ซ้ำ 41% บอกจะแยกขยะ 

“หากมองไม่มองกลับกันจากผู้บริโภคไทยเป็นผู้บริโภคในต่างประเทศซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าของไทยก็จะไม่แปลกใจว่าทำไมคำพยากรณ์ที่ว่าจากนี้กฎระเบียบทางการค้าจะเพิ่มมากขึ้นซึ่งแนวโน้มก็จะเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการดูแลสิ่งแวดล้อมนั่นเอง"