"ค้าปลีก" ชี้กำลังซื้อ-นักท่องเที่ยวฟื้น แรงส่งใช้จ่ายไฮซีซันคึกคัก

"ค้าปลีก" ชี้กำลังซื้อ-นักท่องเที่ยวฟื้น แรงส่งใช้จ่ายไฮซีซันคึกคัก

ค้าปลีกรับสัญญาณบวกเปิดประเทศ ผู้คนคลายกังวลโควิด ออกใช้ชีวิตนอกบ้าน หนุนบรรยากาศจับจ่ายคึกคัก หวังแรงส่งปลุกไฮซีซันโตก้าวกระโดด เดินหน้าลงทุน อัดฉีดงบกระตุ้นใช้จ่าย “พิพัฒน์” สั่งตั้งทีมศึกษา “ดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว” ช่วยทัวริสต์วางแผนใช้จ่ายเที่ยวไทย

สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายทำให้ประชาชนออกใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ส่งผลต่อการจับจ่ายสร้างเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ ประกอบการการ "เปิดประเทศ" ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณบวกและแรงส่งที่ดีต่อภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อไต่ระดับกลับสู่ขาขึ้น 

นางสาวรวิศรา จิราธิวัฒน์ ประธานบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวถึงสถานการณ์กำลังซื้อและเศรษฐกิจขณะนี้ว่าปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดใช้จ่ายของลูกค้าเซ็นทรัลเพิ่มขึ้น 20-30% นับเป็นจังหวะและโอกาสสำคัญในการเดินหน้ากลยุทธ์เชิงรุกสร้างแรงส่งในการใช้จ่ายให้คึกคักยิ่งขึ้นช่วงไฮซีซันซึ่งเป็นเทศกาลของการจับจ่ายใหญ่ประจำปี 

โดยห้างเซ็นทรัลและโรบินสัน เตรียมแคมเปญใหญ่ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี ได้แก่ แคมเปญดับเบิ้ลดิจิต (Double Digits) ตลอด 4 เดือนข้างหน้า ที่ใช้งบประมาณกว่า 250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวเทียบจากปีก่อน นอกจากนี้ยังมีงานใหญ่ฉลองครบรอบ 75 ปีเซ็นทรัล มิดไนท์เซล ซิกเนอเจอร์แคมเปญของแต่ละห้าง ฯลฯ 

"ช่วง 3-4 เดือนหลังเป็นห้วงเวลาสำคัญของธุรกิจค้าปลีก เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นมากต้องเร่งเครื่องให้แรงขึ้นเพื่อให้ลูกค้าจดจำและนึกถึงเราเมื่อต้องการใช้จ่าย เป็น Top of Mind Destination"

 

++ จัดหนักแคมเปญดับเบิ้ลดิจิต

โดยแคมเปญที่จะสร้างสีสันและกระตุ้นตลาดอย่าง “Double Digits" จะถูกโหมทำตลาดหนักตลอด 4 เดือนข้างหน้า และเป็นครั้งแรกที่ห้างเซ็นทรัล-โรบินสัน และ Central App ผนึกกำลังซินเนอร์ยีด้วยกลยุทธ์ "Together is Better Than One" ให้ดีลพิเศษที่ผสานความแกร่งทุกมิติ จัดกิจกรรมการตลาดที่แปลกใหม่เพื่อเป็น "The Winning Sale" ในการสร้างยอดขายรองรับพฤติกรรมการช้อปปิ้งของลูกค้าที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

"จุดเด่นของห้างเซ็นทรัลและห้างโรบินสันคือมีสาขาถึง 75 สาขา ครอบคลุมมากที่สุดในไทยจึงทำให้ลูกค้าอุ่นใจในทุกช่องทางช้อป โดยเฉพาะ Central App ที่โตก้าวกระโดดเพราะใช้งานง่าย เปิดแอปฯ บนมือถือก็เหมือนเดินช้อปปิ้งเองที่ห้าง จึงเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมจากลูกค้า"

เริ่มแมตช์แรก "9.9 Sale Fest" ภายใต้ธีม “ช้อปฟิน วินทุกดีล” ระหว่างวันที่ 1 ก.ย.-11 ก.ย. ตามด้วย 10.10, 11.11 และ 12.12 ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญทำให้เซ็นทรัลและโรบินสันเชื่อมต่อลูกค้าที่กำลังกลับเข้าสู่ตลาดในภาวะปกติ 

\"ค้าปลีก\" ชี้กำลังซื้อ-นักท่องเที่ยวฟื้น แรงส่งใช้จ่ายไฮซีซันคึกคัก

++ ต่างชาติฟื้นตัวแรงไฮซีซัน

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวเช่นเดียวกันว่าแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องหลังเปิดประเทศ โดยเฉพาะปลายปีเข้าสู่ไฮซีซั่น และการผลักดันให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยได้สะดวกกว่าเดิม ประกอบกับผู้คนคุ้นเคยกับโควิด กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติมากขึ้น

โดยพบว่าลูกค้าเข้ามาใช้บริการศูนย์การค้าฟื้นตัวกว่า 90% ในบางพื้นที่กลับมาเทียบเท่าช่วงปี 2562 ก่อนวิกฤติโควิด สัดส่วนลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติฟื้นกว่า 10% เทียบปีปกติอยู่ที่ 30% ถือว่าดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่หายไปเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะทัวริสต์มอลล์ในกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา

"อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังพุ่งทะยานเวลานี้ เป็นจังหวะและโอกาสเร่งเครื่องยนต์และต่อยอดเครือข่ายศูนย์การค้า 37 แห่งของเซ็นทรัลพัฒนาที่มีอยู่ทั่วประเทศทั้งเมืองหลักเมืองรองร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดแคมเปญใหญ่ The Great Collaboration for Thailand’s Tourism Ecosystem รองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก"

ทั้งนี้ ได้วางยุทธศาสตร์ศูนย์การค้าเป็น“Cross-Region Platform”กระตุ้นท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรอง-กระจายรายได้พร้อมอัดโปรโมชั่นดึงดูดกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ ผลักดันไทยเป็น“Global Preferred Destination”

"นักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปลายปีเข้าสู่ไฮซีซั่น ซึ่งเห็นยอดจองตั๋วเครื่องบินเริ่มมีเข้ามามากขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่เป็นตลาดระยะใกล้ เช่น อินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์"

++ โลตัสมั่นใจค้าปลีกคึกคัก

นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยกำลังไต่ระดับขาขึ้นแม้ตลาดจะเต็มไปด้วยปัจจัยลบ แต่เชื่อว่ามีปัจจัยบวกมากกว่าที่เป็นผลดีต่ออุตสากรรมค้าปลีกนับจากนี้ ทั้งการเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยมากขึ้นสร้างม็ดเงินสะพัดในระบบอย่างต่อเนื่อง ผู้คนมีความเชื่อมั่นออกมาใช้ชีวิตมากขึ้น กังวลต่อโรคโควิดน้อยลง นับเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ตลาดกลับมาคึกคัก

โดยปีนี้ โลตัสจัดสรรงบประมาณ 12,500-13,500 ล้านบาทลงทุนต่อเนื่องสำหรับการขยายสาขาใหม่มากกว่า 100  สาขา  ปรับปรุงสาขาเก่า ลงทุนระบบไอทีและช้อปปิ้งออนไลน์ รวมทั้งการ“รีแบรนด์”จากเทสโก้ โลตัส สู่ โลตัส และ โลตัส โก เฟรช ที่จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ พร้อมเปิดเกมรุกด้วยธุรกิจคอนเซปต์ใหม่มุ่งสู่การเป็น Everyday SMART Community Center และ Food Destination การปูพรมบริการออนไลน์ช้อปปิ้งจากเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ 2,300 แห่ง ที่จะทำหน้าที่ฮับส่งสินค้า ทั้งแบบ “on-demand”จากร้านโลตัส โก เฟรช ที่จัดส่งภายใน 1 ชั่วโมง และ ส่งสินค้าในวันถัดไป หรือ next-day จากร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตทุกสาขา สำหรับลูกค้าที่ซื้อตระกร้าใหญ่

++ จัดทำ"ดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว"

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องการจัดทำดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว เพื่อให้นำกลับมาหารือกันในการประชุม ท.ท.ช. รอบต่อไป หลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอให้มีการจัดทำดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว ให้เหตุผลว่าเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ และกำกับดูแลราคาสินค้า

ทั้งนี้ ดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยวจะเป็นตัวช่วยให้นักท่องที่ยวสามารถนำไปวางแผนการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวได้อีกด้วย โดยเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยสร้างรายได้ 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 17.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ก่อให้เกิดการจ้างงาน ทั้งในภาคของการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โรงแรมที่พัก ภัตตาคารร้านอาหาร ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจก่อสร้าง เกิดการกระจายความเจริญและรายได้สู่ท้องถิ่นและชุมชน

++ หนุนดูแลราคาสินค้า-วางแผนใช้จ่าย

ดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยวจะช่วยสำรวจราคาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวในแต่ละจุดหมายปลายทาง โดยการจัดข้อมูลราคาสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยม อาทิ บริการแหล่งท่องเที่ยว การบริโภคสินค้า เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถเลือกปลายทางและวางแผนการเดินทางที่สอดคล้องกับงบประมาณที่มี ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นมีมุมมองที่ชัดเจนขึ้นในการวางแผนพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว

ภาครัฐหรือภาคเอกชนสามารถนำดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยวไปใช้ในการออกแบบมาตรการส่งเสริมหรือกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทบทวนบริการแหล่งท่องเที่ยว หรือแหล่งขายสินค้าที่ระลึกด้านการท่องเที่ยว ช่วยให้การกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการในเมืองท่องเที่ยวมีประสิทธิภาพ

สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับในเชิงคุณภาพของดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว ได้แก่ การกำหนดนโยบายกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่และภาพรวมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการในเมืองท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดภายในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ให้เหตุผลว่าหากมีดัชนีค่าครองชีพเมืองท่องเที่ยว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมราคา จะสามารถกำหนดราคาสินค้าในเมืองท่องเที่ยวได้เหมาะสม สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยว และอาจเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างเป็นทางการสำหรับคู่มือการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เช่น Lonely Planet และ Michelin Green Guide

++ ลุ้นโค้งสุดท้ายแบรนด์เทงบลุยตลาดเพิ่ม

ด้าน สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT จัดงานประจำปี DAAT DAY ปี 2565  ธีม “ERA OF EFFECTIVENESS - ยุคแห่งการทำการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ” โดยคาดการณ์ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาดิจิทัลปี 2565 เติบโตจากแบรนด์ต่างๆ ที่ใช้เงินมากขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

นายภารุจ ดาวราย นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาดิจิทัลมีการเติบโตต่อเนื่องกว่า 10 ปีที่ผ่านมา และอยู่ในอัตรา 2 หลัก กระทั่งปี 2563 ซึ่งเกิดวิกฤติโควิด-19 ฉุดการเติบโต 8% เป็นอัตรา 1 หลักครั้งแรก ขณะที่ปี 2565 แม้สถานการณ์โควิดคลี่คลาย ธุรกิจเริ่มฟื้นตัว แต่สมาคมฯ ประเมินการเติบโตเพียง 7% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 11 ปี และมีมูลค่า 26,623 ล้านบาท

ด้านนางพัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ นายราชศักดิ์ อัศวศุภชัย และนายชาญชัย พงศนันทน์ ในฐานะกรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ร่วมให้เหตุผลสถานการณ์อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาที่โตต่ำ เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงรายล้อม ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อลดลง ต้นทุนการผลิตสินค้าพุ่ง เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น เป็นต้น

มองอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาดิจิทัลยังมีทั้งขาขึ้นและขาลง จากคาดการณ์ปีนี้จะเห็นการเติบโต 7% โดยได้อานิสงส์จากโควิดคลี่คลาย นโยบายการเปิดประเทศ การท่องเที่ยวฟื้นตัว ทำให้สินค้าบางหมวดใช้จ่ายเงินผ่านสื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมาธุรกิจผ่านความยากลำบากพอสมควร”

++ ยานยนต์ธงนำสินค้าใช้จ่ายสูง

แนวโน้มปี 2565 หมวดสินค้าที่ยังคงใช้จ่ายสูงสุด 5 ลำดับแรก ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมยานยนต์ มูลค่า 3,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากค่ายรถหันมาทำตลาดสร้างการรับรู้เกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(อีวี)มากขึ้น และจะมีแบรนด์ใหม่เปิดตัวบุกตลาดเพิ่ม น้ำมันแพงทำให้ผู้บริโภคมองหารถยนต์พลังงานทางเลือก รวมถึงผู้คนกลับมาใช้ชีวิกปกติมากขึ้น 2.เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2,464 ล้านบาท ลดลง 8% เพราะปีก่อนเกิดโรคระบาดทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าตุนไว้ ทำให้การใช้จ่ายเงินของแบรนด์เพิ่มแบบก้าวกระโดด

3. สื่อสาร 2,419 ล้านบาท ลดลง 6% 4.ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ 2,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เพราะแบรนด์ใช้สื่อดิจิทัลเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น 5.ผลิตภัณฑ์นม 1,709 เพิ่มขึ้น 3% เป็นการเติบโต 6.ร้านค้าปลีก 1,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% 7.ธนาคาร 1,130 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% 8.กลุ่มวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 848 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% 9.ประกัน 731 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนใช้ 690 ล้านบาท และอสังหาริมทรัพย์ 717 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41%

"ช่วงนี้เป็นยุคของแพงค่าแรงถูก ทำให้ผู้บริโภคมีเงินในกระเป๋าน้อยลง จึงเป็นโอกาสที่สถาบันการเงิน ให้ความสำคัญกับการนำเสนอสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถ ตอบสนองผู้บริโภคที่มองหาและต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ส่วนกลุ่มวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นอกจากมีแบรนด์โลคัลทำตลาดเพิ่ม ผู้ประกอบการยังเริ่มโปรโมทการรับรู้เกี่ยวกับสินค้ากัญชากัญชงด้วย"

++ แพลตฟอร์มติ๊กต๊อกมาแรงเข้าถึงลูกค้า

สำหรับแพลตฟอร์มที่ครองเม็ดเงินโฆษณาสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม มูลค่า 8,691 ล้านบาท เติบโต 8% ยูทูป 3,875 ล้านบาท ลดลง 8% แต่ลูกค้าโยกเงินใช้ผ่านการค้นหา(Search)ผ่านกูเกิลแทน ส่วนวิดีโอออนไลน์ 2,738 ล้านบาท เติบโต 53% สื่อสังคมออนไลน์ 2,280 ล้านบาท เติบโต 1% และครีเอทีฟ มูลค่า 1,804 ล้านบาท ลดลง 9%

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มติ๊กต๊อก ยังมาแรง ครองเม็ดเงินโฆษณา 840 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 132% จากฐานผู้ใช้งาน 42 ล้านราย โดยวิดีโอติ๊กต๊อกโกยยอดวิวมากถึง 200 ล้านวิวต่อเดือน จากปริมาณวิดีโอ 100 ล้านวิดีโอต่อเดือน หรือ 1 วิดีโอสามารถสร้างยอดวิวได้หลักล้านวิว

"ปัจจุบันแบรนด์เทงบโฆษณาบนสื่อดิจิทัล 80-100% เพื่อสื่อสารตลาดให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ จากเดิมจัดสรรงบเพียง 20% เท่านั้น ขณะที่ภาพรวมสื่อโฆษณาดิจิทัลปีนี้จะโต 7%เป็นตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นถึงความระมัดระวังในการลงทุนเนื่องจากปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังกลับมาไม่เต็มที่"