มหกรรมแก้หนี้ยั่งยืน รายได้ต้องถึงชาวบ้าน

มหกรรมแก้หนี้ยั่งยืน รายได้ต้องถึงชาวบ้าน

การแก้ปัญหาปากท้องประชาชนไม่ใช่แค่ “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” รัฐฯ ต้องเดินหน้าแก้หนี้อย่างยั่งยืน รายได้ต้องตกถึงมือประชาชน ไม่ใช่กระจุกแค่ในมือเจ้าสัวนักธุรกิจใหญ่ไม่กี่คน

วานนี้เริ่มต้นเดือนใหม่แต่ดูเหมือนประชาชนคนไทยต้องกระเป๋าฉีกอีกครั้งตามการขยับราคาของสินค้ากลุ่มพลังงาน ราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ปรับขึ้น 1 บาท/กก. ส่งผลให้ก๊าซหุงต้ม ประเภทถังขนาด 15 กก. ปรับราคาขึ้นอีกถังละ 15 บาท ราคาอยู่ที่ 408 บาท/ถัง จาก 393 บาท/ถัง 

โดยรัฐยังคงช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ100บาท/คน/3เดือนตั้งแต่วันที่ 1ก.ค. - 30 ก.ย.65  ส่วนค่าไฟฟ้ายังไม่มีแนวโน้มการเข้ามาอุดหนุนส่วนลดค่าไฟตามมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้ไฟกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ทำให้ค่าไฟงวดใหม่รอบเดือนก.ย. -ธ.ค.65 ปรับตามค่าเอฟทีที่ปรับขึ้นเป็นอัตรา 93.43 สตางค์/หน่วยจากงวดก่อนอยู่ที่ 68.66 สตางค์/หน่วย 

เมื่อรวมค่าไฟฐานจะส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 4.72บาท/หน่วย เป็นอัตราสูงสุดของไทยอีกครั้งจากงวดเดือนพ.ค. -ส.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่4บาท/หน่วย ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขึ้นราคาไปแล้ว 1 บาท ตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา 

ของพวกนี้มองข้ามไม่ได้เพราะค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ที่พอกพูนขึ้นแต่ค่าแรงยังเท่าเดิม หาได้เท่าไหร่ต้องไปเสียให้ค่าครองชีพที่เพิ่มสูง สุดท้ายรายได้ไม่พอรายจ่ายต้องไปกู้หนี้ยืมสิน จากหนี้ก้อนเล็กกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่บางคนหนี้สินล้นพ้นตัวดิ้นไม่หลุด 

เมื่อประชาชนเป็นหนี้มากเข้ารัฐบาลก็จำต้องลงมาช่วยแก้ไข อย่าง “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ที่กระทรวงการคลังร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐเตรียมจัดขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและ 4 ภูมิภาคทั่วไทย 

แต่รัฐบาลก็เช่นเดียวกับประชาชนจะนำเงินไปใช้จ่ายอย่างไรต้องอาศัยงบประมาณซึ่งก็มาจากรายได้ของรัฐนั่นเอง ที่เป็นความหวังตอนนี้คือการท่องเที่ยว อาศัยช่วงจังหวะผู้คนอัดอั้นมาเกือบสามปี 

เห็นได้ชัดว่าเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายตอนนี้เริ่มเห็นชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ห้างสรรพสินค้าบางแห่งเผยยอดขายเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นเริ่มกลับมาชี้ให้เห็นว่า คนไทยก็ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านหลังโควิด นับว่าเป็นข่าวดีให้พอชื่นใจบ้าง  

เวลาที่เหลือสี่เดือนนี้จึงเป็นช่วงที่รัฐบาลต้องทำงานหนัก หากจะหารายได้อย่างรวดเร็วจากการกินทุนเก่าด้วยการท่องเที่ยวก็ต้องโปรโมตให้ดี ช่วงปลายปีเป็นจังหวะผู้คนหนีหนาวจากยุโรป การประชุมผู้นำเอเปคในเดือน พ.ย.ที่ไทยเป็นเจ้าภาพถือเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ประเทศไทยที่ดีทางหนึ่ง 

และที่สำคัญต้องทำให้มั่นใจได้ว่า เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น รายได้ที่พวกเขานำเข้ามาได้ตกถึงมือคนท้องถิ่นหรือคนทำงานจริงๆ ไม่ใช่กระจุกแค่ในมือเจ้าสัวนักธุรกิจใหญ่ไม่กี่คน ไม่เช่นนั้นแล้วรัฐบาลคงจัดมหกรรมแก้หนี้อย่างไม่รู้จบ