เกษตร รุก อีอีซี ดันความร่วมมือเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตร

เกษตร รุก อีอีซี ดันความร่วมมือเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตร

ปลัดเกษตรฯ นำทีมหัวหน้าส่วน 25 จังหวัดภาคกลาง เยี่ยมชมบริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ในอีอีซี ดันความร่วมมือ โครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรฯ 25 จังหวัดภาคกลาง เปิดเผยว่า ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของ บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (TEGH) ณ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นผู้ผลิตและแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันรายใหญ่ในภาคตะวันออก ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเป็นผู้ผลิตพลังงานทดแทนประเภทพลังงานชีวภาพแบบครบวงจร รวมถึงใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตเน้นการพัฒนาในรูปแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ    เพื่อเติบโตไปพร้อมกับชุมชน และรักษาสภาพแวดล้อมอย่างสมดุล

เกษตร รุก อีอีซี ดันความร่วมมือเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตร เกษตร รุก อีอีซี ดันความร่วมมือเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตร

TEGH มีการดำเนินงานใน  3 กลุ่มธุรกิจ

1. ธุรกิจยางพารา โดยเป็นผู้ผลิตน้ำยางข้น ยางแท่ง และยางแท่งเกรดพิเศษ และเป็นผู้ประกอบการยางพารารายใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก

2.ธุรกิจปาล์มน้ำมันในการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และเป็นโรงงานสกัดน้ำมันเมล็ดในปาล์มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นำกากของเหลือทะลายปาล์ม แปรรูปเป็นเยื่อกระดาษ

 

และ 3. ธุรกิจพลังงานทดแทน โดยมีระบบผลิตก๊าซชีวภาพที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้เป็นพลังงานทดแทน LPG            ในกระบวนการอบยางแท่งได้ถึงร้อยละ 85 และสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้อีกกว่า 4 เมกกะวัตต์ และรับบริหารจัดการกากอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยแบคทีเรีย

"การเยี่ยมชมและศึกษาดูงานวันนี้ ทางบริษัท TEGH ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และได้แสดง   ให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็นบริษัทผู้นำในการผลิตวัตถุดิบที่มีความยั่งยืน (sustainable material) ในตลาดของประเทศไทย และพร้อมสำหรับการเติบโตสู่ตลาดโลก รวมถึงยังมีความตั้งใจที่จะเติบโตไปพร้อมกับชุมชนและเกษตรกร  พร้อมอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล"

 

สำหรับความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนี้มีการทำข้อตกลงความร่วมมืออยู่สองโครงการ 1.โครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม” (จากระยะที่ 1 สู่ระยะที่ 2) พื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ และ 2.โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ การยางแห่งประเทศไทย ในโครงการด้านการวิจัยและพัฒนาการปลูกพืชแซมในสวนยางพารา

               

 กระทรวงฯเกษตรฯ พร้อมสนับสนุน แลกเปลี่ยนข้อมูลและนวัตกรรมต่างๆ กับทาง TEGH โดยเฉพาะเกี่ยวกับโมเดล Bio-Circular-Green Economy หรือการผสมผสานของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งเป็นนโยบายการพัฒนาของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ

โดยทาง TEGH ได้ให้ความสนใจกับความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ผสานกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) โดยการสร้างเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทริน์ ซึ่งจะใช้เป็นศูนย์กลางการสร้างบุคลากร เทคโนโลยีและนวัตกรรม รองรับการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพขั้นปลาย ระดับ BIO MEDICAL HUB (ชีวการแพทย์) ที่มีมูลค่าสูงในทางเศรษฐกิจ และจะสร้างประโยชน์ต่อเกษตรกร และประเทศไทย