เวียดนาม & อินโดนีเซีย 2 ดาวรุ่ง สวนกระแส Recession

เวียดนาม & อินโดนีเซีย 2 ดาวรุ่ง สวนกระแส Recession

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ "โดดเด่น" นโยบายภาครัฐที่เป็นไปในทิศทางผ่อนคลาย ระดับราคาหุ้นที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว ทำให้ทั้ง "เวียดนามและอินโดนีเซีย" กลายเป็น "ดาวรุ่ง" พุ่งแรง ที่คาดจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง

ท่ามกลางความผันผวนของตลาดหุ้นและกระแส Recession ของเศรษฐกิจโลก หากหันกลับมามองฝั่งเอเชียจะพบว่ามีบางประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัวอย่างโดดเด่นสวนทิศทางของเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจนและเป็นที่น่าดึงดูดในการลงทุน ซึ่งก็คือ เวียดนามและอินโดนีเซีย 

เศรษฐกิจเวียดนาม เติบโตได้อย่างโดดเด่นหลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยล่าสุดในไตรมาส 2 ปี 2022 นี้ GDP เวียดนามขยายตัวได้ถึง 7.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของเวียดนามยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือนกรกฎาคมของเวียดนามชะลอตัวลงมาที่ 3.14% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ 4% ทำให้เวียดนามยังสามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ในขณะที่ประเทศอื่นต้องใช้นโยบายแบบเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดย IMF คาดว่า GDP เวียดนามจะเติบโตได้ที่ 6% ในปี 2022 นี้ และ 7.2% ในปี 2023 

ในมุมของตลาดหุ้นเวียดนาม ปี 2021 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวขึ้นถึง 36% อย่างไรก็ตาม ปีนี้ตลาดหุ้นเวียดนามย่อตัวลงตามตลาดหุ้นทั่วโลกประมาณ 20% ในครึ่งปีแรก เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนในประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายใหม่ที่เทขายหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการถูก Force Sell โดยที่นักลงทุนต่างชาติยังเป็นผู้ซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดย ณ ปัจจุบัน หุ้นเวียดนามซื้อขายในระดับราคาที่ต่ำมาก โดยมี Fwd P/E เพียง 11.9 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 15.9 เท่า 

ในฝั่งของอินโดนีเซีย มีการเติบโตอย่างโดดเด่นเช่นกัน โดย GDP ไตรมาส 2 ปี 2022 นี้ อยู่ที่ 5.44% และ IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า ปี 2022 นี้ GDP อินโดนีเซียจะอยู่ที่ 5.4% และ ปี 2023 จะเติบโตได้ถึง 6% 

จุดเด่นของอินโดนีเซีย คือ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ถ่านหิน นิกเกิล น้ำมันปาล์ม ทำให้อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกในสินค้ากลุ่มนี้ อย่างไรก็ดี อินโดนีเซียวางแผนปรับกลยุทธ์ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อที่จะเปลี่ยนจากการพึ่งพิงการส่งออกมาเป็นการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเพื่อให้มาตั้งฐานการผลิตในอินโดนีเซียแทน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องใช้นิกเกิลเป็นแร่ธาตุสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตแร่นิกเกิลมากที่สุดในโลก เราจะเริ่มเห็นบริษัทต่าง ๆ เข้าไปลงทุนและตั้งฐานการผลิตในอินโดนีเซียมากขึ้น เช่น TOYOTA Motor, Hyundai Motor และล่าสุด TESLA ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาทำข้อตกลงเพื่อที่จะตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในอินโดนีเซีย 

ในแง่ของตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ยังถือว่า Valutaion ไม่แพง โดยปัจจุบันซื้อขายที่ระดับ Fwd P/E 16.3 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 17 เท่า ในขณะที่ Bloomberg Consensus ประเมินอัตราการเติบโตของกำไร (EPS Growth) ของตลาดหุ้นอินโดนีเซียอยู่ที่ +58%YoY ในปี 2022 และ +12.7%YoY ในปี 2023 

ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น นโยบายภาครัฐที่เป็นไปในทิศทางผ่อนคลาย และระดับราคาหุ้นที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว ทำให้ทั้งเวียดนามและอินโดนีเซียกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่คาดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้อย่างต่อเนื่องและคาดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นของทั้ง 2 ประเทศนี้จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในกับพอร์ตลงทุนได้เช่นกัน 

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPT Wealth Manager ธนาคารทิสโก้