สศช.จับตาภาวะเงินเฟ้อกระทบแรงงาน หลังค่าจ้างที่แท้จริงลดลง

สศช.จับตาภาวะเงินเฟ้อกระทบแรงงาน หลังค่าจ้างที่แท้จริงลดลง

สศช.จับตาภาวะเงินเฟ้อเพิ่มต่อเนื่องกระทบแรงงาน ส่งผลค่าจ้างที่แท้จริงลดลง ลุ้นมาตรการรัฐพยุงค่าครองชีพ - ปรับค่าจ้างขั้นต่ำหนุนวิกฤต

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยไตรมาสสองปี 2565 พบความเคลื่อนไหวสำคัญ ได้แก่ สถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาสสองปี 2565 สะท้อนการฟื้นตัวจาก COVID-19 อย่างชัดเจน โดยการจ้างงานและชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งอัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยโดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.0 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงาน 27.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยเฉพาะสาขาการผลิต สาขาขายส่ง/ขายปลีก และ สาขาการขนส่ง/เก็บสินค้าที่ขยายตัวได้ร้อยละ 6.1 12.1 และ 4.9 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี สำหรับสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร โดยการจ้างงานหดตัวร้อยละ 5.4 และ 2.6 ตามลำดับ

ซึ่งการจ้างงานที่ชะลอตัวในสาขาการก่อสร้าง เนื่องจากความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจที่แม้จะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร การจ้างงานปรับตัวลดลง เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว สำหรับภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 11.7 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมกลับไปทำงาน ในสาขาเดิมตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ขณะที่ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงปกติ โดยภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 42.3 และ 46.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่เป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 จำนวนผู้เสมือนว่างงานปรับตัวลดลงจาก 2.8 ล้านคนในไตรมาสสอง ปี 2564 เหลือ 2.2 ล้านคน ในปัจจุบัน และผู้ทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์) มีจำนวน 6.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว

ด้านอัตราการว่างงานในไตรมาสสองปี 2565 ลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 5.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.37 ลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน ขณะเดียวกัน การว่างงานยังปรับตัวดีขึ้นในทุกกลุ่ม โดยผู้ว่างงานระยะยาว (ผู้ว่างงานนานกว่า 1 ปี) มีจำนวน 1.5 แสนคน ลดลงร้อยละ 1.2 จากไตรมาสสองปี 2564

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป

1. ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อต่อแรงงาน โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงลดลง โดยเฉพาะของแรงงานทักษะต่ำ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน ได้แก่ มาตรการลดค่าไฟฟ้า มาตรการลดค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 นอกจากนี้คณะกรรมการค่าจ้างอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับแรงงานจากราคา สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้บ้าง

2. การขาดแคลนแรงงาน จากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวทำให้ความต้องการ แรงงานเพิ่มขึ้นและเริ่มมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แบ่งเป็น

  • การขาดแคลนแรงงานทักษะปานกลาง-สูง พบว่า มีความไม่สอดคล้องของทักษะแรงงานและความต้องการ สะท้อนจากความต้องการแรงงานที่ส่วนใหญ่เป็น ความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการประกอบชิ้นส่วนตามการขยายตัวของการส่งออก ขณะที่ผู้ว่างงานส่วนใหญ่กลับจบการศึกษาในด้านบริหารธุรกิจ สังคมศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ ซึ่งอาจต้องเร่งรัดให้มีการ ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการ
  • การขาดแคลนแรงงานทักษะต่ำ สะท้อนจากจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงปกติ หรือช่วงปี 2562 ที่เป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาด โดยปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้มีการเปิดให้นายจ้าง/สถานประกอบการดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความ ต้องการจ้างแรงงาน 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม) เพื่อสามารถอยู่และทำงานได้ถึงเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2568 ซึ่งอาจช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้บางส่วน
  • ปัญหาการหมดไฟในการทำงาน ปัจจุบันแรงงานทั่วโลกจำนวนมากเริ่มมีภาวะหมดไฟในการทำงาน และลาออกจากงานมากขึ้น ซึ่ง การสำรวจของวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดลที่สำรวจแรงงานในกรุงเทพมหานครปี 2562 พบว่าแรงงานในทุกกลุ่มอาชีพมีภาวะหมดไฟในระดับสูง กล่าวคือ พนักงานรัฐวิสาหกิจมีภาวะหมดไฟร้อยละ 77 รองลงมาเป็น บริษัทเอกชน ร้อยละ 73 ข้าราชการ ร้อยละ 58 และธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 48 ดังนั้น นายจ้าง/องค์กรต่างๆ ต้องการกระตุ้นให้มีโครงการที่สร้างสรรค์และออกแบบให้คนในองค์กรมีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน