เซ็นทรัลพัฒนา ผนึก ททท. ปลุกพลัง "ทัวริสซึ่ม อีโคซิสเท็ม" เร่งฟื้นท่องเที่ยว

เซ็นทรัลพัฒนา ผนึก ททท. ปลุกพลัง "ทัวริสซึ่ม อีโคซิสเท็ม" เร่งฟื้นท่องเที่ยว

บิ๊กคอร์ป “เซ็นทรัลพัฒนา” เจ้าของอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ภายใต้โมเดล Retail-led mixed use ครอบคลุมธุรกิจศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และโรงแรม ครอบคลุมทั่วประเทศ ร่วมกับ ททท. และพันธมิตรธุรกิจหลากหลาย วางยุทธศาสตร์สร้าง “ระบบนิเวศท่องเที่ยว” ครบวงจร

ตั้งแต่ต้นน้ำจรดปลายน้ำ  สร้างพลังในการกระตุ้นการท่องเที่ยว นำสู่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย! หนุนประเทศไทยแชมป์เดสติเนชั่นระดับโลก! ยุคหลังโควิด-19

ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งหลังปี 2565 ประเมินว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องหลัง “เปิดประเทศ” และการผลักดันให้โควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยได้สะดวกกว่าเดิม ประกอบกับผู้คนคุ้นเคยกับโควิด กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติมากขึ้น

สะท้อนจากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการศูนย์การค้าฟื้นตัวกว่า 90% ในบางพื้นที่กลับมาเทียบเท่าช่วงปี 2562 ก่อนวิกฤติโควิด สัดส่วนลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติฟื้นขึ้นมาประมาณ 10% เทียบกับปีปกติอยู่ที่ 30% ถือว่าดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่หายไปเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะ ทัวริสต์มอลล์ในกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา 

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังพุ่งทะยานเวลานี้ เป็นจังหวะและโอกาสเร่งเครื่องยนต์! และต่อยอดเครือข่ายศูนย์การค้า37 แห่งของ "เซ็นทรัลพัฒนา" ที่มีอยู่ทั่วประเทศทั้งเมืองหลักเมืองรอง ร่วมกับ ททท. เปิดแคมเปญใหญ่ “The Great Collaboration for Thailand’s Tourism Ecosystem” รองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด โดยวางยุทธศาสตร์ศูนย์การค้าเป็น “Cross-Region Platform” กระตุ้นท่องเที่ยวเมืองหลักเมืองรอง-กระจายรายได้ พร้อมอัดโปรโมชั่นดึงดูด กระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ

ผลักดันไทยเป็น “Global Preferred Destination” ด้วย 3 กลยุทธ์ เริ่มจาก "Stimulate Spending & Spread income" ชูบทบาทศูนย์การค้าเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง Retail & Tourism Ecosystem เติมเต็มการท่องเที่ยวทั้งระบบ! ด้วยจุดแข็งของศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วประเทศ โดยมี 19 สาขาอยู่ใน 15 จังหวัดท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรอง เช่น การจัดงานโปรโมทการท่องเที่ยว, งาน Hotel Fair, OTOP Market และโปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนได้ทั่วประเทศแบบข้ามภาค

“Springboard Rising Cities” ขยายโครงการต่อเนื่อง ปั้นเมือง Rising Cities โปรโมทเมืองรอง จับคู่กับเมืองหลัก เช่น กรุงเทพฯ-ไปอยุธยา-สุโขทัย, เชียงใหม่-ไปลำพูน-ลำปาง และ ภูเก็ต-ไปกระบี่ ด้วยการชูจุดแข็งโครงการของเซ็นทรัลที่เป็นมิกซ์ยูสแบบครบวงจร ยกตัวอย่างโมเดลปั้นเมืองรองที่ประสบความสำเร็จ เช่น เซ็นทรัล อยุธยา และเซ็นทรัล จันทุบรี

และ "Spotlight on Global Shopping Destination" ผลักดัน “กรุงเทพฯ” และ “ภูเก็ต” เป็น “เมืองชอปปิงระดับโลก” จากหลากหลายฟอร์แมตเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทุกประเภท

“นักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปลายปีเข้าสู่ไฮซีซั่น ซึ่งเห็นยอดจองตั๋วเครื่องบินเริ่มมีเข้ามามากขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่เป็นตลาดระยะใกล้ เช่น อินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์”

เซ็นทรัลพัฒนา ผนึก ททท. ปลุกพลัง \"ทัวริสซึ่ม อีโคซิสเท็ม\" เร่งฟื้นท่องเที่ยว

ทางด้าน ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ททท.ตั้งเป้าหมายปี 2565 มีรายได้รวมการท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 50% เมื่อเทียบกับรายได้รวม 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด โดยมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 160 ล้านคน-ครั้ง

จากการประเมินแนวโน้มรายได้รวมปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะได้จริง น่าจะอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นตลาด “วีคเอนด์ เดสติเนชั่น” เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ ททท.จึงคาดหวังว่านักท่องเที่ยวตลาดระยะไกล เช่น จากยุโรป รวมถึงตลาดอื่นๆ จะมีการใช้จ่ายและพำนักในไทยมากขึ้นในช่วงไฮซีซั่นนี้

หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.) เพิ่งมีมติให้ “ขยายระยะเวลาพำนักในไทย” ให้กับชาวต่างชาติจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า ให้อยู่ในไทยได้นานขึ้นจากไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน และขยายเวลาให้กับผู้ที่มาขอวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arrival: VoA) จากไม่เกิน 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565-31 มี.ค.2566 ตลอดช่วงไฮซีซั่น

“จากแรงส่งเรื่องบรรยากาศการเดินทาง มาตรการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว รวมถึงการผนึกความร่วมมือกับภาคเอกชน ททท.คาดว่าปี 2566 ประเทศไทยจะมีรายได้รวมการท่องเที่ยวที่ 2.4 ล้านล้านบาท ฟื้นตัว 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 180 ล้านคน-ครั้ง”

ด้านข้อเสนอมาตรการ “บูสเตอร์ช็อต” (Booster Shot) ทาง ททท.ได้นำส่งโครงการกระตุ้นตลาดเพื่อฟื้นฟูประเทศด้วยการท่องเที่ยว ไปยังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เพื่อบรรจุลงในวาระการประชุม ศบศ.แล้ว

โดยเสนอของบประมาณกระตุ้นรวม 1,135 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ 37 โครงการ เพื่อให้มั่นใจว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจะเป็นกำลังสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับวัตถุประสงค์ของมาตรการบูสเตอร์ช็อต กระตุ้นตลาดการท่องเที่ยว ททท.จะนำงบประมาณที่ได้ไปใช้ส่งเสริมให้ “สายการบิน” เพิ่มความถี่เที่ยวบินและจำนวนที่นั่ง ตามแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้า และแผนการบินภายในประเทศ ทั้งในเส้นทางบินเดิม เส้นทางบินใหม่ รวมถึงเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) เพื่อช่วย “ลดต้นทุนการเดินทาง” ในช่วงที่ต้องรับมือกับผลกระทบด้านราคาน้ำมันแพงจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน 

โดยตั้งเป้าหมายฟื้นความถี่เที่ยวบินและจำนวนที่นั่งตามแผนการบินระหว่างประเทศขาเข้าและแผนการบินภายในประเทศภายในสิ้นปี 2565 กลับมาไม่น้อยกว่า 50% ของปี 2562 โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ระบุว่าปัจจุบันกลับมาแค่ 30.9%

ททท.ยังมีแผนเตรียมนำผู้ประกอบการทำการตลาดเชิงรุก ด้วยการเข้าร่วมงานส่งเสริมการขาย ทั้งเทรดโชว์และโรดโชว์อย่างเข้มข้นในต่างประเทศ ควบคู่กับการทำงานร่วมกับพันธมิตรส่งเสริมการขายด้วย

ส่วนตลาดในประเทศ มุ่งกระตุ้นเพิ่มวันพักค้างและความถี่ในการเดินทาง ตั้งเป้าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศของโรงแรมที่กลับมาเปิดให้บริการ อยู่ในระดับไม่น้อยกว่า 55% ภายในสิ้นปีนี้ ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าและบริการท่องเที่ยวที่ต้องพักค้างกระจายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจและโรงแรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่อยู่ในระบบฐานภาษี โดยจัดส่งเสริมการตลาดให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านห้อง/คืน การทำคูปองท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และการสนับสนุนรถทัวร์เพื่อใช้ในการเดินทางศึกษาดูงานหรือการประชุมสัมมนาในต่างจังหวัด

เซ็นทรัลพัฒนา ผนึก ททท. ปลุกพลัง \"ทัวริสซึ่ม อีโคซิสเท็ม\" เร่งฟื้นท่องเที่ยว