ส่องไอเดีย “นักอนุรักษ์" รุ่นเยาว์ สร้างสรรค์นวัตกรรม อนุรักษ์ทะเลไทย

ส่องไอเดีย “นักอนุรักษ์" รุ่นเยาว์ สร้างสรรค์นวัตกรรม อนุรักษ์ทะเลไทย

เยาวชน คนรุ่นใหม่ นับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ทางสังคม โดยเฉพาะ "สิ่งแวดล้อม" ในการคิดค้นนวัตกรรม ไอเดีย สู่การเป็น "นักอนุรักษ์" รุ่นเยาว์ เพื่อดูแลทรัพยากรที่สำคัญ ให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

“สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เราต้องอยู่กับมันตลอดไป และต้องส่งต่อลูกหลานในอนาคต หากเราใส่ใจตั้งแต่เนิ่นๆ อนาคตลูกหลานก็จะมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และคุณภาพอากาศที่ดี เพราะสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ก็นำพาให้คุณภาพชีวิตของเราไม่ดีตามไปด้วย” ตัวแทนจากทีม Scraber เผยถึง มุมมองด้านสิ่งแวดล้อม และตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 7 ซึ่งจัดโดย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ “ปตท.สผ.

 

“อพินญา คงคาเพชร” และ “ปาริฉัตร เศียรอินทร์” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนจากทีม Scraber ผู้ชนะเลิศการประกวด PTTEP Teenergy ปีที่ 7 หัวข้อ Provide จากผลงาน The automatic warning of carb molting detection by application ที่ได้ออกแบบระบบการตรวจจับการลอกคราบปูอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชัน โดยอาศัยการตรวจจับการลอกคราบของปูแบบเรียลไทม์

 

ตัวแทนจากทีม Scraber เล่าว่า การทำฟาร์มปูนิ่ม จำเป็นต้องอาศัยแรงงานคนที่ชำนาญ เป็นผู้ตรวจดูการลอกคราบของปูด้วยตาเปล่าในช่วงกลางคืน เพื่อคัดแยกปูที่ลอกคราบ ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดได้ โดย 3 หัวข้อการส่งนวัตกรรม ต้องเข้ากับแนวคิด คือ Protect , Preserve และ Provide 

 

ทั้งนี้ ทางทีมอยู่ในชุมชนที่ทำฟาร์มปูนิ่ม จ.สตูล และมองว่าเข้ากับหัวข้อ Provide สร้างโอกาสเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ตามรูปแบบเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) และ BCG Economy การที่เราได้ร่วมโครงการจะเป็นการลงพื้นที่จริง และได้ต่อยอด ช่วยชุมชนได้จริง ขณะเดียวกัน ยังมีความสนใจเรื่อง AI จึงต้องการที่จะนำ AI มาปรับใช้

 

ส่องไอเดีย “นักอนุรักษ์\" รุ่นเยาว์ สร้างสรรค์นวัตกรรม อนุรักษ์ทะเลไทย

ภายในแอปพลิเคชั่นจะระบุข้อมูลทั่วไปของฟาร์ม ภาพกล่องปูนิ่มแบบเรียลไทม์ และแสดงอัตราการลอกคราบของปูในแต่ละสัปดาห์ เพื่อให้เกษตรกรทราบถึงแนวโน้มของผลผลิตและทำการบริหารจัดการฟาร์มต่อไปสะดวกยิ่งขึ้น

 

หลังจากได้รับรางวัลในปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน ผลงานอยู่ระหว่างการดำเนินการต่อยอดเพิ่มเติม ในการลดทรัพยากรจากเดิมที่ต้องใช้กล้องหลายตัว มีการคิดค้นให้ตัวกล้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดการใช้ตัวกล้องลง ประหยัดงบประมาณมากขึ้น

 

“รวมถึงลงชุมชนเพิ่มเติม เพื่อศึกษาปัญหา และเทรนด์นวัตกรรมให้มีความสเถียรมากที่สุดก่อนที่จะให้เกษตรกรใช้จริง รวมถึงลงพื้นที่พูดคุยถึงปัญหาในการทำปูนิ่มของเกษตรกรเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดนวัตกรรมของเรา เป้าหมาย คือ การนำ AI มาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกร”

 

ส่องไอเดีย “นักอนุรักษ์\" รุ่นเยาว์ สร้างสรรค์นวัตกรรม อนุรักษ์ทะเลไทย

 

ตั้งเป้า ศึกษาปูชนิดอื่น ขยายตลาด

 

ทั้งนี้ จากการทำงานที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจากชุมชนเป็นอย่างดี ทั้งการให้ความรู้ ให้คำปรึกษา และคนในชุมชนยินดีให้ความช่วยเหลือ เพราะเขารู้ว่าทุกครั้งที่เราเข้าไปจะเป็นการยกระดับชุมชนของเขา ขณะเดียวกัน สิ่งที่ยังต้องการการสนับสนุนเพื่อต่อยอดนวัตกรรม คือ ความรู้ด้านปู

 

จากเดิมที่มีการศึกษาแค่ปูม้า แต่ต่อไปอาจจะต้องศึกษาปูชนิดอื่นๆ ว่ามีการลอกคราบอย่างไร เพื่อที่จะมาพัฒนาผลงานของเราให้มีประสิทธิภาพได้เพิ่มมากขึ้น หากสามารถปรับใช้กับปูชนิดอื่นๆ ได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพื่อจะขยายตลาดของชุมชนได้มากขึ้น

“สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เราต้องอยู่กับมันตลอดไป และต้องส่งต่อลูกหลานในอนาคต หากเราใส่ใจตั้งแต่เนิ่นๆ อนาคตลูกหลานก็จะมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และคุณภาพอากาศที่ดี เพราะสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ก็นำพาให้คุณภาพชีวิตของเราไม่ดีตามไปด้วย” ตัวแทนจากทีม Scraber กล่าว

 

ชุดปลูกต้นโกงกางอัจฉริยะ

 

ขณะที่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวด PTTEP Teenergy ปีที่ 7 จากผลงาน "IMPOT ชุดปลูกต้นโกงกางอัจฉริยะเพื่อการจัดการป่าชายเลนอย่างมีระบบ" หัวข้อ Preserve มีตัวแทนจากทีม Green Grove ร่วมแชร์ไอเดีย 2 คน ได้แก่ “อัครพันธ์ ทวีศักดิ์” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา หลักสูตรนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ “กาญจน์หทัย ขันติยู” นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีการศึกษา เอกเทคโนโลยีการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

สำหรับที่มาของผลงานดังกล่าว มาจากการเล็งเห็นว่า ปัจจุบัน ผู้คนหันมาสนใจฟื้นฟูป่าชายเลนมากขึ้น จึงนิยมเพาะชำต้นโกงกางใบใหญ่ในถุงเพาะปลูกพลาสติก แต่ประสบปัญหาการนำต้นกล้าออกจากถุงได้ค่อนข้างยาก จึงทำให้ต้นกล้ามีอัตราการรอดชีวิตต่ำ และถุงเหล่านั้นจะกลายเป็นขยะในภายหลัง

 

ส่องไอเดีย “นักอนุรักษ์\" รุ่นเยาว์ สร้างสรรค์นวัตกรรม อนุรักษ์ทะเลไทย

 

ซึ่งทีม Green Grove ได้ประดิษฐ์ชุดปลูกต้นโกงกางอัจฉริยะเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างมีระบบ ภายใต้ชื่อว่า "IMPOT" ซึ่งมาจากคำว่า Intelligence และ M มาจากคำว่า Mangrove โดยวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกป่าชายเลนด้วยต้นโกงกางใบใหญ่ และลดปริมาณขยะจากถุงพลาสติก โดยเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่าง วัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร และเปลือกหอย มาผลิตเป็นกระถางสำหรับบรรจุดินหรือต้นกล้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างมีระบบและยั่งยืน

 

“อัครพันธ์” อธิบายเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวเป็นคนชอบด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว จากเดิมที่เราเคยไปทำกิจกรรมป่าชายเลนหลายครั้ง และเราเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ดี แต่การปลูกป่าชายเลนทำให้เกิดขยะ เช่น ถุงพลาสติกสีดำ ที่คนปลูกและทิ้งไว้ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลเป็นการอนุรักษ์ที่แท้จริง และสามารถนำความรู้เรื่องนวัตกรรมมาต่อยอดให้กับชุมชน และสามารถใช้ได้จริง

 

ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร

 

สำหรับ ชุดปลูกต้นโกงกางอัจฉริยะ คือ การจัดการระบบเพื่อให้คนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการปลูกต้นโกงกาง สามารถปลูกได้โดยง่าย และให้ต้นโกงกางสามารถอยู่รอดได้ นวัตกรรมนี้มีจุดเริ่มต้นจากไอเดีย ไม่มีสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิม พอได้รับทุนสนับสนุน จึงมาทดลองนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เปลือกข้าวโพด ฟางข้าว ชานอ้อย ซึ่งเป็นของเหลือทิ้งทางการเกษตร อัดขึ้นรูปเป็นกระถาง ด้วยเครื่องจักรที่ทางทีมลงมือทำด้วยตัวเอง และลองผิดลองถูกว่าสามารถขึ้นรูปได้หรือไม่

 

สิ่งที่พบ คือ ความคุ้มค่า ปริมาณ และระยะเวลา เราสามารถนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มาทำนวัตกรรม เพิ่มมูลค่า และสามารถนำมาปลูกได้ เป็นการลดการใช้ถุงพลาสติก หันมาใช้วัสดุที่สามรถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ รวมถึงออกแบบการปลูกต้นไม้ให้มีการเว้นระยะห่าง เพื่อให้ต้นไม้สามารถแผ่ราก ให้มีระยะห่างอย่างเหมาะสมได้อีกด้วย

 

ส่องไอเดีย “นักอนุรักษ์\" รุ่นเยาว์ สร้างสรรค์นวัตกรรม อนุรักษ์ทะเลไทย

 

เล็งพัฒนาเรื่องการย่อยสลาย

 

สิ่งที่ยังเป็นข้อจำกัด คือ การทดสอบต่อไป เพราะการขึ้นรูป การนำไปใช้จริง อาจจะอยู่ในน้ำได้ในระยะเวลาสั้นๆ ต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของวัสดุ เพราะเป็นเรื่องที่ใหม่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม คือ ตอนนี้ยังคงมีปัญหาในเรื่องของการทดสอบความคงทนของชิ้นงาน อยากจะได้ความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความรู้เรื่องวัสดุ ว่าเราจะออกแบบอย่างไรให้เหมาะสมในระยะเวลาการย่อยสลาย

 

จึงต้องการความสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการที่มีความรู้เรื่องวัสดุศาสตร์มาให้ความรู้เรื่องนี้ หากมีการพัฒนาได้สำเร็จระยะหนึ่ง จะนำไปลองใช้กับสภาพแวดล้อมของป่าชายเลนว่าสามารถย่อยสลายได้จริงหรือไม่ เนื่องจากกระแสน้ำค่อนข้างเยอะ ทำให้เราไม่สามารถคำนวณ หรือ คาดเดาว่าจะย่อยสลายได้เมื่อไหร่ จึงยังต้องปรับปรุงตรงนี้

 

ทั้งนี้ นอกจากสามารถปลูกในทะเลได้แล้ว หากก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพ จะสามารถขยายตลาดสู่การพัฒนากระถางในการปลูกบนบกได้ เพื่อทดแทนถุงพลาสติก

 

สิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เทรนด์

 

อัครพันธ์ กล่าวต่อไปว่า โดยส่วนตัวชอบเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลาย และทำกิจกรรมสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องในระดับมหาวิทยาลัย มองว่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของ องค์การสหประชาชาติ หากต้องการจะทำให้ครบทั้ง 17 เป้าหมาย ให้สำเร็จภายใน 2030 สามารถแยกย่อยได้ 3 ส่วน คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพราะทั้งสามส่วนสำคัญทั้งหมด

 

แต่การจะพัฒนาต้องไปทีละขั้นตอน หากมองเรื่องของสิ่งแวดล้อม เราก็จะอยู่ไม่ได้ สังคมก็จะไม่มีความสุข เมื่อสังคมไม่มีความสุขก็ไม่สามารถหาประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจได้ ดังนั้น สิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานการพัฒนาทุกอย่าง ปัจจุบัน เรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสนใจ หากทุกคนร่วมมือกันเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

 

“แต่เดิมเรารู้จักแค่ “สิ่งแวดล้อมสีเขียว” แต่พอได้เข้าร่วมโครงการ ปตท.สผ. ทำให้ได้รู้จัก “สิ่งแวดล้อมสีฟ้า” เราจะอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลได้อย่างไร เราใช้ประโยชน์จากเขาเยอะมาก ถึงเวลาที่เราจะต้องร่วมกันพัฒนาทั้งเศรษฐกิจสีเขียว และ เศรษฐกิจสีฟ้า ไปพร้อมๆ กัน”

 

กาญจน์หทัย กล่าวเสริมว่า แต่ก่อนอาจจะเคยมีข่าวปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา แต่พอได้เข้าร่วมโครงการ ทำให้เห็นปัญหาลึกซึ้งขึ้น ทำให้ตระหนักได้ว่าในอนาคตสิ่งแวดล้อมเหล่านี้อาจจะหายไปได้ เราสามารถนำเทคโนโลยีมาสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้

 

ส่องไอเดีย “นักอนุรักษ์\" รุ่นเยาว์ สร้างสรรค์นวัตกรรม อนุรักษ์ทะเลไทย

 

ปั้นเยาวชน รักษ์สิ่งแวดล้อม

 

“ชยงค์ บริสุทธิ์สวัสดิ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล กิจการองค์กร และกำกับดูแล ปตท.สผ. กล่าวว่า สำหรับโครงการ Teenergy จัดมาแล้ว 7 ครั้ง และในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 8 อย่างไรก็ตาม ใน 6 ครั้งแรก เป็นการจัดในรูปแบบ ให้เยาวชนระดับ ม.ปลาย เข้าค่ายอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เพื่อปลูกฝังเยาวชนให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่ การจัดโครงการครั้งที่ 7 ปี 2564 ที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนคอนเซปต์เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนระดับป.ตรี และ ปวส. ในการคิดค้นนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะเรื่องของทะเล

 

“ปตท.สผ. ทำงานเกี่ยวกับท้องทะเล จึงมีกลยุทธ์และกิจกรรมเพื่อสังคมในเรื่องของ “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life) และคิดว่าการนำเยาวชนมาร่วมคิดนวัตกรรมในการปกป้อง รักษา เพิ่มคุณค่าให้ชุมชน ในเรื่องเกี่ยวข้องกับทะเล เป็นเรื่องที่น่าสนใจและถือเป็นการต่อยอดแนวคิด ทะเลเพื่อชีวิต อีกด้วย เป็นที่มาของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดโครงการ Teenergy ให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดค้นนวัตกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติในเรื่องของทะเล”

 

เยาวชนคนรุ่นใหม่มีความสนใจในเรื่องของนวัตกรรม ดังนั้น การที่เยาวชนได้เข้ามาในโครงการ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง โดยผู้เข้ารอบสุดท้ายจะมีผู้เชี่ยวชาญ แนะนำในการพัฒนานวัตกรรม ค้นค้น และทำให้นวัตกรรมมีมูลค่า สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล รวมถึง สามารถต่อยอด และสนับสนุนเพื่อให้นำไปใช้ได้จริง โดยผลงาน ในปีที่ผ่านมา จะมีการให้ทุนในการต่อยอด เพื่อคิดเป็นตัวต้นแบบ และดูการนำไปใช้จริงในตลาดต่อไป

 

ตอบโจทย์ ESG – BCG

 

โครงการ Teenergy จัดภายใต้ 3 ธีมหลัก ได้แก่ 1. Protect การปกป้องท้องทะเล จากภัยคุกคามต่าง ๆ โดยเฉพาะวิกฤติระดับโลก 3 ด้าน ได้แก่ มลภาวะจากขยะและน้ำเสีย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

 

2. Preserve: การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะระบบนิเวศชายฝั่ง ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนให้สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้เข้าถึงชุมชนทั้ง 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำให้มากขึ้น ชุมชนสามารถนำไปเป็นรายได้

 

3. Provide: การสร้างโอกาสเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามรูปแบบเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) และ BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

“โดยโครงการต่างๆ ได้ทำงานร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้สามารถนำความรู้ทั้งจากภาครัฐ และสถาบัน เข้าไปช่วยเหลือชุมชนได้ เพื่อให้ชุมชนมีแนวทางในการสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปทางอาหารทะเลได้ รวมถึงการหาตลาด สร้างช่องทาง สร้างรายได้ ตอบโจทย์ทั้ง BCG และ ESG”

 

ส่องไอเดีย “นักอนุรักษ์\" รุ่นเยาว์ สร้างสรรค์นวัตกรรม อนุรักษ์ทะเลไทย

 

เดินหน้าสู่ Net Zero

 

สำหรับ ปตท.สผ. ได้วางแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) ครอบคลุม Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง และ Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

 

ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ (Operational Control) และยังได้กำหนดเป้าหมายเพื่อลดปริมาณความเข้ม (Intensity) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายในปี 2573 และร้อยละ 50 ภายในปี 2583 (จากปีฐาน 2563) เพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2593 ดังกล่าว

 

“เรามีเป้าหมายในเรื่องของ Net zero ทะเลที่สมบูรณ์จะเป็นที่ดูดซับกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอย่างดี จากที่เราได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับขุดเจาะหลุมปิโตเลียมในอ่าวไทย เราได้เห็นวิวัฒนาการ และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศมาสักระยะ และพบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศต้องรักษาให้ดี โดยเฉพาะทางทะเล จะเป็นการสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับประเทศและกับโลก โดย ปตท.สผ. มีเป้าหมายในการปลูกป่าชายเลน 45,000 ไร่ ในระยะเวลา 10 ปี”

 

คาดมีเยาวชนสนใจกว่า 100 ทีม

 

ปีที่ผ่านมา มีเยาวชนให้ความสนใจส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 70 ทีม และในปีนี้คาดว่าจะมีผู้สนใจมากกว่า 100 ทีม ทั้งนี้ ทีมที่ชนะเลิศในแต่ละหัวข้อ จะได้รับเงินรางวัลทีมละ 130,000 บาท และเงินรางวัลพิเศษสำหรับนำผลงานนวัตกรรมไปพัฒนาต่อยอดอีกทีมละ 40,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัลทีมละ 40,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร และรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร รวมมูลค่าเงินรางวัลทั้งสิ้น 900,000 บาท

 

ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก จำนวน 15 ทีม จะได้สัมผัสกับประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรม Workshop ในรูปแบบไฮบริด เพื่อเพิ่มพูนความรู้ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ เพื่อนำมาต่อยอดผลงานจากนักวิชาการและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ โดยการตัดสินการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่

  • ชยงค์ บริสุทธิ์สวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล กิจการองค์กร และกำกับดูแล ปตท.สผ.
  • บุษบรรณ จีนเจริญ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม ปตท.สผ.
  • ไพรัตน์ สุทธิพล ผู้อำนวยการกองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  • ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ที่ปรึกษากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  • คุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
  • ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด

 

สำหรับเกณฑ์การคัดเลือก ผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ทั้งให้ความรู้ ตัดสิน โดยสิ่งแรกต้องเป็นนวัตกรรมที่เข้ากับ 3 แนวคิดหลัก คือ Protect , Preserve และ Provide และต้องตอบโจทย์ แก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และนำเสนอ

 

ผู้ที่สนใจสามารถสมัครพร้อมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้ตั้งแต่วันนี้ – 15 กันยายน 2565 ประกาศผลรอบคัดเลือก 3 ตุลาคม 2565 และ ตัดสินในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และติดตามข่าวสารได้ที่เฟซบุ๊ก PTTEP CSR