เขย่าหุ้นคริปโทเคอเรนซี่ ไล่เซ็คจุดบอด “เหมืองทิพย์’ บิทคอยน์

เขย่าหุ้นคริปโทเคอเรนซี่   ไล่เซ็คจุดบอด “เหมืองทิพย์’  บิทคอยน์

ข่าวใหญ่กระหึ่มตลาดคริปโทเคอเรนซี่และยังลามไปยังตลาดหุ้นไทยหนีไม่พ้นการออกข่าวใหญ่ไล่เช็คธุรกิจ “เหมืองบิทคอยน์” ที่อาจจะกลายเป็น “เหมืองทิพย์” ไม่มีการทำธุรกิจอยู่จริงแต่ให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดการลงทุน

         ข้อมูลเบื้องต้นที่ออกมาได้มีการแตะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่เข้าข่ายในการตรวจสอบถึง 10 บริษัท เรื่องนี้ถือว่าไม่ธรรมดาทั้งในแง่ของข่าวข้อเท็จจริง และการตรวจสอบเพราะข้อมูลที่ออกมาไปในทาง “เชิงลบ” จากการระบุของสำนักงานการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.)  

            “ดำเนินการตรวจสอบบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประกอบกิจการเหมืองขุดเงินตระกูลดิจิทัล หลังพบความผิดปกติในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ พบว่ามีอย่างน้อย 10 บริษัท ที่มีการเผยแพร่ข่าวสารหรือการให้ข้อมูลต่อประชาชนผ่านสำนักข่าวต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อราคาของหลักทรัพย์อย่างผิดปกติจากสภาพของตลาด หรือเป็นการ “ปั่นหุ้น” ทั้งในทางราคาขึ้น ราคาลง หรือราคาคงตัว โดยไม่ปรากฏการพัฒนาที่สำคัญของบริษัทจดทะเบียนแต่อย่างใด “

          สร้างความตื่นตะหนกในธุรกิจดังกล่าวทันที ว่าจะเจอ “แจ็คพอร์ต” เป็นรายใดหรือบริษัทไหน   เพราะกระแสบูมคริปโทฯ ที่ลากยาวมาตั้งแต่โควิด-19 ส่งผลทำให้หลายบริษัทให้ความสนใจในเหรียญดิจิทัลสกุลหลักอย่าง  “บิทคอยน์”  ด้วยการนำไปชำระราคาสินค้าและบริการแทนเงินสดจนไปถึงนำไปใช้เพื่อกระตุ้นยอดขาย ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีก จนเจอการสกัดจากแบงก์ชาติด้วยกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด

            จนไปถึงการเป็นผู้ประกอบการต้นน้ำลงทุน “ขุดบิทคอยน์” กลายเป็นเทรดที่ฮือฮาในช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมามีหลายบริษัทประกาศตัวอย่างจริงจังการเป็นผู้ขุดเหมืองบิทคอยน์  หากแต่กระแสยังไม่ทันได้เห็นผลตอบบแทนจากการลงทุน   กลับเจอสถานการณ์ตลาดคริปโทฯ แตกนักลงทุนเจอล้างพอร์ตรอบใหญ่หลายระลอกจึงทำให้ไม่เกิดความตื่นตะหนกเทขายหุ้นจากประเด็นดังกล่าวมากนัก

          จากการราคาเหรียญหลัก บิทคอยน์  ที่ลดลงกลายเป็นขาลงราคาอยู่ที่ 68,000 ดอลลาร์ ปี 2564  เปิดมาปีนี้ราคาอยู่ที่ 47,320 ดอลลาร์ หลุดระดับ 40,000 ดอลลาร์ จนมาอยู่ที่ 36,265 ดอลลาร์  ทำราคาต่ำที่ระดับ 19,000 ดอลลาร์  เป็นการลดลง 60 % ปัจจุบันอยู่ที่ 21,000 ดอลลาร์  เพียงพอทำให้การลงทุนเริ่มไม่คุ้มกับต้นทุนการขุดเหมือง

          อ้างอิง JPMorgan Chase & Co. ระบุว่า ต้นทุนในการขุด  ลดลงจาก 24,000 ดอลลาร์เมื่อต้นเดือนมิ.ย. มาอยู่ที่ประมาณ 13,000 ดอลลาร์ จากเดิมมีการประมาณอยู่ที่ 20,000 -22,000 ดอลลาร์ และถือว่าเป็นสัญญาณเชิงลบต่อแนวโน้มของราคาในอนาคตต่อการปรับขึ้นหลังจากนี้ 

         ดังนั้นในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 การลงทุนขุดเหมืองบิทคอยน์จึงไม่ใช่โอกาสทองเมื่อวัดจากตัวเลขกำไรที่ประกาศของมา ซึ่งรายใหญ่และผู้นำธุรกิจดังกล่าว JTS รายงานกำไร  34.73 ล้านบาท ลดลง 6.91 %

            รายงานชัดเจนต้นทุนขายและบริการเพิ่มขึ้นจาก ต้นทุนเหมืองขุดบิทคอยน์ และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น  95.78 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 88.17 ล้านบาท จากไตรมาสที่ 1 ปี 2565

            ด้าน ZIGA  ลงทุนใน Bitcoin Mining  400 เครื่อง เทียบเท่าจ านวน 41,600 TH/s  และปรับลงทุนราคาเหรียญต่ำกว่าปกติ หยุดเครื่องขุดบิทคอยน์ชั่วคราว และซื้อเหรียญแทน  รวมทั้งเจอต้นทุนเหล็กจากธุรกิจหลักพุ่งสูงทำให้รายงานขาดทุน  27.81 ล้านบาท  ลดลง155 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน  

            ส่วน AJA ขาดทุนหนัก 54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 225 %จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งนอกจากต้นทุนอื่นแล้ว ขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัล เท่ากับ 32.32 ล้านบาท จากการบันทึกด้อยค่ามูลค่า เหรียญตามมูลค่ายุติธรรม (ราคาตลาด)

            หรือ SCI  ขาดทุน 56.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  277 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งหลักๆยังมาจากธุรกิจหลักตามต้นทุนขายเพิ่มขึ้นหลังราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มทั้งเหล็กและสังกะสี    ส่วนรายที่มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

           UPA  มีกำไร 20.75 ล้านบาท  โดยมีการชี้แจงชัดเจนยังไม่มีรายได้ และต้นทุนจากธุรกิจเหมืองบิทคอยน์เพราะอยู่ระหว่างการจัดตั้ง บริษัทต่างๆ และดำเนินการจัดทำ Share purchase agreement (SPA) จึงยังไม่มีการรับรู้รายได้และบันทึกบัญชีเข้า ไปในงบการเงินของกลุ่มบริษัท ซึ่งคาดว่าจะลงนาม SPA ได้ภายในไตรมาสที่ 3/2565  

            โครงการเริ่มขุดเหรียญบิทคอยน์เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 โดยสิ้นไตรมาสที่ 2 ขุดเหรียญได้จำนวน 137.74 เหรียญบิทคอยน์โดยติดตั้งเครื่องขุด จำนวน 3,788 เครื่อง ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 จากจำนวนเป้าหมาย 6,000 เครื่อง

            ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าข้อมูลบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นมีการชี้แจงชัดเจนในการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ใช่รายได้หลักแต่มีผลต่อกำไร-ขาดทุน ซึ่งทำให้สร้างความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่งว่ามีการเปิดเผยข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่าย แต่ทำให้นักลงทุนมองรอบด้านในการลงทุนมากขึ้น