เช็กลิสต์! ปี’65 บริจาคอย่างไร ให้ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้สูงสุด 2 เท่า

เช็กลิสต์! ปี’65 บริจาคอย่างไร ให้ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้สูงสุด 2 เท่า

เปิดเช็กลิสต์ การ "บริจาคเงิน" เพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทราบหรือไม่ว่า ถ้าวางแผนภาษีดัๆ นอกจากจะได้บุญแล้ว การบริจาคเงินบางช่องทาง ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 2 เท่าเลยทีเดียว

ผู้มีรายได้ที่รู้ตัวว่าปีนี้ (2565) ตนเองมีรายได้ค่อนข้างสูง และอาจต้องเสียภาษีแน่ๆ ตอนยื่นภาษีสิ้นปี จึงควรวางแผนภาษีไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อนำมาใช้ลดหย่อนภาษีในปีหน้า หรือปีภาษี 2565

โดย "ค่าลดหย่อน" สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ผู้มีรายได้สามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้มี 4 กลุ่มใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย

1.กลุ่มเกี่ยวกับครอบครัว
2.กลุ่มเกี่ยวกับการประกันและการลงทุน
3.กลุ่มเกี่ยวกับการบริจาค
4.กลุ่มพิเศษ

ทั้งนี้ การวางแผนภาษีสำหรับหลายๆ คนเลือกใช้วิธี "บริจาคเงิน" เพราะนอกจากจะได้ทำบุญแล้ว กลุ่มเกี่ยวกับการบริจาคเงินบางช่องทาง ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 2 เท่าเลยทีเดียว

แต่การบริจาคต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปี’65 นี้ จะมีอะไรบ้าง ต้องบริจาคแบบไหน และเงื่อนไขเป็นอย่างไร จึงจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุด 2 เท่า รีบไปเช็กลิสต์พร้อมกัน

  • หลักการบริจาคที่นำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้

หลักการบริจาคทั่วไปที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้ในกลุ่มเกี่ยวกับบริจาค จะประกอบไปด้วย

- บริจาคสนับสนุนการศึกษา การกีฬา พัฒนาสังคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน

- บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศลทั่วไป ลดหย่อนได้ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน

- เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

  • สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการบริจาค กรณีผู้บริจาคเป็นบุคคลธรรมดา

สรรพากรได้ออกกฎเกณฑ์สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการบริจาค กรณีผู้บริจาคเป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งแบ่งเป็น 2 เงื่อนไข คือ

1.เงื่อนไข (A) หักได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ และ หักได้ 1 เท่า

2.เงื่อนไข (B) หักได้ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ

โดยการใช้สิทธิสามารถทำได้ 3 แบบ ดังนี้

- นำเงินบริจาคตามกรณีพิเศษ (A) ไปใช้สิทธิหักลดหย่อนก่อน จากนั้นจึงใช้สิทธิลดหย่อนเงินบริจาคตามกรณีทั่วไป (B)

- กรณีไม่ใช้สิทธิตาม (A) โดยจะใช้สิทธิตาม (B) ก็ได้

- หากใช้สิทธิตาม (B) แล้ว จะกลับไปใช้ (A) ไม่ได้

  • เงื่อนไข (A)

หักได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ

1.บริจาคให้สถานศึกษา ตามโครงการของกระทรวงศึกษาธิการ (พรฎ.420)

2.บริจาคให้กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (พรฎ.520)

3.รายจ่ายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดตั้ง หรือสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (พรฎ.526)

4.บริจาคให้

- สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเพื่อโครงการฝึกอบรมอาชีพ และกิจกรรมเกี่ยวกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์เด็ก

- ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม (พรฎ.541)

5.บริจาคให้แก่สถานศึกษา ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2556 ถึง 31 ธ.ค. 2558 (พรฎ.558)

6.บริจาคให้ กกท./กก.กีฬาจังหวัด/สมาคมกีฬาจังหวัด/สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย/กรมพลศึกษา กองทุทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2556 ถึง 31 ธ.ค.2558 (พรฎ.559)

หักได้ 1 เท่า

- ค่าใช้จ่ายจัดให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พรฎ.519)

  • เงื่อนไข (B)

หักได้ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ

1.บริจาคให้

- วัด สภากาชาดไทย

- สถานพยาบาล สถานศึกษาของราชการ

- องค์การหรือสถานสถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษาอื่น ที่ รมว. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ม.47 (7))

2.บริจาคให้กองทุนสวัสดิการภายในส่วนราชการ (พรฎ.424)

3.บริจาคให้

- กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

- กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม

- กองทุนคุ้มครองเด็ก

- กองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ (พรฎ.428)

4.บริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ผ่านบริษัทหรือนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น (พรฎ.527)

5.บริจาคให้กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม (พรฎ.540)

6.บริจาคเพื่อการกีฬา (กฎกระทรวง 126 ข้อ 2 (68))

  • ปี’65 บริจาคเงินอย่างไร ได้ลดหย่อนภาษีสูงสุด 2 เท่า

จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การบริจาคเงินบางช่องทางสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า ซึ่งในปี 2565-2566 มีช่องทางบริจาคดังนี้

1.บริจาคเพื่อการศึกษา

เงินบริจาคช่วยเหลือการศึกษา (บริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) เท่านั้น) นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ของจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน ซึ่งต้องเป็นการบริจาคเพื่อ...

- อาคารสถานที่ ได้แก่ จัดสร้างอาคาร จัดหาที่ดินให้แก่สถานศึกษา

- สื่อการเรียนการสอน ได้แก่ ตำรา แบบเรียน อุปกรณ์เพื่อการศึกษา

- บุคลากร ได้แก่ ครู อาจารย์ เป็นต้น

2.บริจาคให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

บริจาคให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E–Donation) หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าคดหย่อน ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 

3.บริจาคด้านสาธารณสุข

บริจาคด้านสาธารณสุข เป็นการบริจาคเงินให้กับมูลนิธิต่างๆ รวมทั้งหมด 6 แห่ง ดังนี้

3.1 มูลนิธิโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช

3.2 มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี

3.3 มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า

3.4 มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพพระรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

3.5 มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

3.6 มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

นอกจากจะนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร มีผลถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 แล้ว

ยังได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากบริจาคให้แก่มูลนิธิทั้ง 6 แห่งด้วย

4.บริจาคเข้ากองทุนเพื่อพัฒนาและส่งเสริมด้านอื่นๆ

4.1 กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข

4.2 กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา

4.3 กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และกองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โดยบริจาคผ่านระบบ e-Donation ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักลดหย่อนแล้ว

5.มูลนิธิในพระอุปถัมภ์

เป็นการบริจาคเงินให้กับมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยบริจาคผ่านระบบ e-Donation หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักลดหย่อนแล้ว

สรุป

ทั้งนี้ การบริจาคด้วยวิธีการทั่วไป ที่ไม่ผ่านระบบ e-Donation ต้องเก็บหลักฐานไว้เพื่อใช้ลดหย่อนภาษี เช่น ใบอนุโมทนาบัตร หรือใบเสร็จรับเงินที่ต้องมีข้อความระบุชื่อหน่วยงานที่บริจาคเงิน วัน-เดือน-ปีที่บริจาค ชื่อผู้บริจาค และจำนวนเงินที่บริจาค

ส่วนการบริจาคเงินผ่านระบบ e-Donation ตามช่องทางที่กล่าวมาแล้ว จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า โดยไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาคไว้ เพราะเป็นระบบบริจาคเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่สรรพากรใช้รองรับข้อมูลการรับบริจาคของหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้บริจาคได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สะดวก และยังช่วยให้ได้รับเงินภาษีคืนเร็วขึ้นอีกด้วย

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่