MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 15-19 สิงหาคม 2565

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 15-19 สิงหาคม 2565

เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่หุ้นไทยลดช่วงบวกลงช่วงท้ายสัปดาห์  เงินบาทพลิกอ่อนค่ากลับมาทดสอบแนว 35.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นรับสัญญาณคุมเข้มของสหรัฐฯ โดยเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าเงินเฟ้อจะอยู่ภายใต้การควบคุม

•    หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงปลายสัปดาห์แต่ยังไม่หลุดแนว 1,600 จุด ขณะที่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง

 

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทอ่อนค่าทดสอบระดับ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท้ายสัปดาห์ โดยเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่า หลังตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 2/65 ของไทยขยายตัวเพียง 2.5% YoY ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ นอกจากนี้สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวอ่อนค่าลงตามค่าเงินหยวนท่ามกลางการคาดการณ์ว่า สัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนอาจทำให้ทางการจีนต้องออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม 

ส่วนเงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นตามสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ หลังรายงานการประชุมเฟดและมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟด ตอกย้ำว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับลงมาอยู่ในระดับที่ควบคุม/ยอมรับได้ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยบวกจากตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงมากกว่าที่คาดด้วยเช่นกัน 

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 15-19 สิงหาคม 2565

ในวันศุกร์ที่ 19 ส.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.19 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (11 ส.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 15-19 ส.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องอีก 24,208 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น NET INFLOW เข้าตลาดพันธบัตรเพียง 410 ล้านบาท (แม้ซื้อสุทธิพันธบัตร 3,783 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 3,373 ล้านบาท)
 

สัปดาห์ถัดไป (22-26 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 35.20-36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานเฟดจากงานสัมมนาประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole สถานการณ์สหรัฐฯ-จีน และตัวเลขการส่งออกเดือนก.ค. ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และตัวเลข PCE/Core PCE Price Indices เดือนก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ของผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนส.ค. และจีดีพีไตรมาส 2/65 (ครั้งที่ 2) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีน ผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซียและธนาคารกลางเกาหลีใต้ รวมถึงดัชนี PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ  

 

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับทิศทางหุ้นภูมิภาค ทั้งนี้ SET Index ปรับตัวขึ้นช่วงต้น-กลางสัปดาห์ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนมองว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจผ่านพ้นจุดสูงสุดมาแล้ว ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังมีสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นบิ๊กแคปในกลุ่มแบงก์ ไฟแนนซ์และพลังงาน อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟด ซึ่งระบุว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะสามารถคุมเงินเฟ้อได้ ประกอบกับนักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอติดตามหลายปัจจัยที่มีความสำคัญในสัปดาห์หน้า

MONEY AND STOCK MARKET วันที่ 15-19 สิงหาคม 2565

 

ในวันศุกร์ (19 ส.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,625.92 จุด เพิ่มขึ้น 0.23% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 74,317.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.62% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.26% มาปิดที่ 624.76 จุด     
 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (22-26 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,610 และ 1,600 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,645 และ 1,665 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนก.ค. ของไทย ประเด็นการเมืองในประเทศ การประชุมประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole สถานการณ์ตึงเครียดในภูมิภาค และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และดัชนี PCE/Core PCE Price Indices เดือนก.ค. รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/65 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนส.ค. ของจีน รวมถึงดัชนี PMI เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ