The Merge คืออะไร? ทำไมมันถึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ Ethereum

The Merge คืออะไร? ทำไมมันถึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ Ethereum

ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นและ Cryptocurrency ต่างพากันราคาร่วงกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ Cryptocurrency ที่มีราคาร่วงอย่างรุนแรงมากกว่าหุ้น โดยราคาของ Bitcoin นั้นร่วงมาจากจุดสูงสุดประมาณ 70% และราคา Ethereum ร่วงมากกว่า Bitcoin ถึง 80% จึงทำให้นักลงทุนต่างหวาดกลัวและหนีออกจากตลาดไปมากพอสมควร

แต่ในช่วงนี้ราคาของ Cryptocurrency หลายๆสกุลก็ต่างพากันเด้งกันเป็นจำนวนมาก โดย Cryptocurrency ที่มีราคา Outperform ที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นเหรียญ Ethereum ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน Smart Contract ที่สามารถให้นักพัฒนาเข้ามาสร้างแพลตฟอร์มทางการเงิน

ไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ (Decentralized Exchange), แพลตฟอร์มกู้ยืมเงิน (Lending Protocol) รวมไปถึงเข้ามาสร้างแพลตฟอร์มเกี่ยวกับ NFT, GameFi หรือ Metaverse ก็ได้เช่นกัน หรือหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ Ethereum นั้นเปรียบเสมือน App Store หรือ Play Store ที่เปิดให้นักพัฒนาหรือบริษัทเข้ามาสร้างแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อให้บริการแก่คนทั่วไปได้นั่นเอง

โดยข่าวดีของ Ethereum ที่ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมากในตอนนี้ ก็คงหนีไม้พ้นเรื่องความพร้อมในการอัพเกรดเครือข่ายให้กลายเป็น Ethereum 2.0 ซึ่งขั้นตอนที่สำคัญที่จะเปลี่ยนเครือข่าย Ethereum ให้กลายเป็น Version 2.0 นั่นก็คือ The Merge นั่นเองครับ

The Merge คือขั้นตอนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเครือข่าย Ethereum จากระบบ Proof of Work ให้กลายเป็น Proof of Stake ซึ่งเดิมทีนั้นเครือข่าย Ethereum จะต้องอาศัยกำลังไฟจากการ์ดจอเครื่องขุดทั่วโลกในการช่วยเหลือเครือข่ายในการยืนยันธุรกรรม และเสริมความปลอดภัยให้กับเครือข่าย

แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะทำให้เครือข่าย Ethereum ไม่ต้องอาศัยกำลังไฟจากเครื่องขุดในการยืนยันธุรกรรม และเปลี่ยนให้ Validator Node ซึ่งเป็นซอฟแวร์สำหรับช่วยเหลือเครือข่ายในการยืนยันธุรกรรมแทน สิ่งนี้จะทำให้เครือข่าย Ethereum มีการประหยัดพลังงานมากขึ้นถึง 99.95% เพิ่มความเร็วในการยืนยันธุรกรรมของเครือข่าย และเพิ่มความยั่งยืนต่อเครือข่ายในระยะยาว

สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนระบบของเครือข่าย Ethereum ให้กลายเป็น Proof of Stake นั้น ก็มาจากปัญหาในตอนที่เครือข่าย Ethereum ถูกสร้างขึ้น ที่เครือข่ายสามารถรองรับธุรกรรมได้เพียง 15 ธุรกรรมต่อวินาทีเท่านั้น ซึ่งในตอนเริ่มต้นหลายๆคนยังจะไม่เห็นปัญหาเนื่องจากผู้ใช้งานเครือข่ายยังอยู่ในวงแคบเท่านั้น

แต่พอ Cryptocurrency ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น DeFi และ NFT มีการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นอย่างทวีคูณ การใช้งานเครือข่าย Ethereum ก็มีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สังเกตุได้จากมูลค่าตลาดของเหรียญ Ethereum จากเดิมช่วงต้นปี 2020 ที่มีอยู่เพียง 14,000 ล้านดอลลาร์ จนปัจจุบันเติบโตไปถึงจุดสูงสุดช่วงสิ้นปี 2021 ที่ราวๆ 548,000 ล้านดอลลาร์ หรือเติบโตมากถึง 40 เท่า

รวมไปถึงจำนวนกระเป๋าเงินที่อยู่บน Ethereum จากเดิมช่วงต้นปี 2020 ที่มีอยู่เพียง 151,943 กระเป๋า จนในปัจจุบันมีจำนวนกระเป๋าทั้งหมดมากถึง 604,888 หรือเติบโตเกือบๆ 6 เท่าภายในระยะเวลา 2 ปีเลยทีเดียว

โดย The Merge คือการควบรวมสองบล็อกเชนของ Ethereum เข้าด้วยกัน ซึ่งประกอบไปด้วย Ethereum Mainnet ซึ่งเป็นบล็อกเชนหลักที่ใช้ระบบ Proof of Work ที่เรากำลังใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ นำมารวมเข้ากับ Beacon Chain ซึ่งเป็นบล็อกเชนที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับการ Staking เหรียญ Ethereum เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ Ethereum 2.0 

และก่อนที่เครือข่าย Ethereum จะผ่านสู่ขั้นตอน The Merge ได้ ทางทีมพัฒนาก็ได้มีการทดสอบควบรวม (Merge) เครือข่าย Ethereum ผ่านระบบ Testnet ไปแล้วมากถึง 3 ตัว

ได้แก่ Klin Testnet, Ropsten Testnet, Sepolia Testnet และ Goerli Testnet ที่กำลังจะทดสอบการ Merge ในวันที่ 10 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ก่อนจะเกิดการ Merge ตัว Ethereum Mainnet และ Beacon Chain จริงในวันที่ 19 กันยายนนี้

ซึ่งหลังเกิดการ The Merge ทั้งสองเครือข่ายของ Ethereum แล้วนั้น เครือข่ายจะเกิดความยั่งยืนในระยะยาวมากขึ้นจากการลดใช้พลังงานไปได้ประมาณ 99.95% โดยทุกวันนี้เครือข่ายใช้พลังงานราวๆ 6 Giga Watts ในระบบ Proof of Work ซึ่งหลังจากเปลี่ยนเป็น Proof of Stake แล้ว เครือข่ายจะใช้พลังงานเพียง 0.0025 Giga Watts หรือลดลงราวๆ 2,000 เท่า 

ข้อดีเรื่องที่สองคือ เครือข่ายยังลดอัตราการผลิตเหรียญ Ethereum ต่อวันอีกด้วย โดยจากเดิม เครือข่ายจะมีการผลิตเหรียญ Ethereum ราวๆ 16,600 ETH ต่อวัน ซึ่งมาจากการขุด (Proof of Work) ประมาณ 15,000 ETH ต่อวัน และมีอัตราการผลิตจาก Beacon Chain (Proof of Stake) ประมาณ 1,600 ETH ต่อวัน

โดยหลังจากการอัพเกรดเป็น Proof of Stake แล้ว เครือข่ายจะผลิตเหรียญ Ethereum เหลือเพียงแค่ในส่วน Proof of Stake ที่ประมาณ 1,600 ETH ต่อวันเท่านั้น ทำให้เครือข่ายเกิดสิ่งที่เรียกว่า “Hyper Deflationary” หรือภาวะการฝืดอย่างรุนแรงจากการลดอัตราการผลิตเหรียญลงมากกว่า 10 เท่า จึงทำให้ราคาของเหรียญ Ethereum มีโอกาสเติบโตสูงขึ้นในระยะยาว

โดยการมาถึงของ The Merge ก็ได้รับความเห็นเชิงบวกจากธนาคารยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯอย่าง Citibank ที่ได้พูดถึงข้อดีของการที่เหรียญ Ethereum จะกลายเป็นสินทรัพย์ที่เกิดภาวะฝืด (Deflationary Asset) และเกิดการลดการใช้พลังงานของเครือข่ายอย่างมหาศาล ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ Ethereum กลายเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ Cryptocurrency ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากในอนาคตนั่นเอง