ส่องผลงาน “เครื่องดื่ม” ยักษ์ใหญ่ รายได้ - กำไร ใครโต - หดตัว!

ส่องผลงาน  “เครื่องดื่ม” ยักษ์ใหญ่ รายได้ - กำไร ใครโต - หดตัว!

ผ่านพ้นครึ่งปีแรก 2565 ด้วยความท้าทาย สำหรับภาคธุรกิจต่างๆ เพราะทุกรายต่างเผชิญกับแรงกดดันด้าน “ต้นทุนพุ่ง” วัตถุดิบในการผลิตสินค้าขยับราคากันถ้วนหน้า ส่วนการขนส่ง และกระจายสินค้าต้องเจอกับ “ราคาน้ำมัน” ที่เพิ่มขึ้นไม่แพ้กัน

สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เป็นอีกหนึ่งหมวดในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลระดับ “แสนล้านบาท” เมื่อเจาะลึกเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ยังมีผู้เล่น “บิ๊กเนม” มากมาย ยึดหัวหาดทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ(ฟังก์ชันนอลดริ้งค์) เครื่องดื่มน้ำอัดลม น้ำดื่ม ชาเขียว ฯลฯ

ผลการดำเนินงานในช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 2565 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบประมาณไตรมาส 2 มีบางบริษัทที่เป็นไตรมาส 3 สถานการณ์เป็นอย่างไร กรุงเทพธุรกิจ ชวนดู ข้อมูลผลประกอบการ “ค่ายไหน?” เติบโตเด่น หรือตลาดไหนที่ซบเซา จากสารพัดปัจจัยลบ

กลุ่มเครื่องดื่มโอสถสภาในประเทศหดตัว 

ฟากคาราบาว กรุ๊ป ตลาดต่างแดนดิ่ง!

ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังราว 30,000 ล้านบาท ผู้เล่นเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ทำผลงานทั้งเติบโต และหดตัวแตกต่างกันในแต่ละตลาด

โดยบริษัท โอสถสภา จำกัด(มหาชน) มีรายได้จากการขายไตรมาส 2 ที่ 7,184 ล้านบาท เติบโต 3.9% แรงส่งการเติบโตมาจากธุรกิจต่างประเทศ สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล(เพอร์ซันนอลแคร์) ขณะที่กลุ่มเครื่องดื่มในประเทศ “หดตัวลง” เนื่องจากบริษัทกำลังเปลี่ยนผ่านกลยุทธ์มุ่งดันสินค้าพรีเมียม เพื่อฉีกหนีการแข่งขันที่ผู้เล่นรายอื่นต่างห้ำหั่นด้านราคา

ทั้งนี้ เครื่องดื่มเป็นสินค้าทำเงินพอร์ตหลักของบริษัท มีสินค้าพระเอกอย่างเครื่องดื่มชูกำลังเอ็ม-150 เครื่องดื่มวิตามินซีแบบช็อตแบรนด์ซีวิท  โดยรายได้จากการขายไตรมาส 2 อยู่ที่ 5,857 ล้านบาท ลดลง 1.4% แม้การขายจะหดตัวลงเล็กน้อย แต่บริษัทยังรักษาส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ในระดับสูง โดยเครื่องดื่มชูกำลังอยู่ที่ 49.1% ซีวิท 40.1% เติบโต 7.3%

ส่องผลงาน  “เครื่องดื่ม” ยักษ์ใหญ่ รายได้ - กำไร ใครโต - หดตัว!

ด้านกำไรสุทธิไตรมาส 2 อยู่ที่ 604 ล้านบาท ลดลง 26.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากเผชิญต้นทุนราคาพลังงานสูงขึ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์(Commodity)เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รวมยอดขายครึ่งปีแรกอยู่ที่ 14,656 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% มีกำไรสุทธิ 1,354 ล้านบาท “ลดลง” 25.8%

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของโอสถสภาในการให้น้ำหนักสินค้าพรีเมียม ถือเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว และผลักดันการเติบโต ตลอดจนสร้างกำไรอย่างยั่งยืนด้วย

ฟาก บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) รายได้จากการขายไตรมาส 2 อยู่ที่ 5,247 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% โดยรายได้จากการขายสินค้าภายใต้แบรนด์ตัวเองอยู่ที่ 3,581 ล้านบาท “ลดลง” 9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เจาะลึกรายสินค้า เครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวแดงยอดขายเติบโต 8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

 เมื่อดูยอดขายในประเทศทำเงิน 3,148 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนยอดขายต่างประเทศอยู่ที่ 2,099 ล้านบาท ลดลง 17% โดยตลาดที่หดตัว เช่น กลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม(ซีแอลเอ็มวี)ลดลง 9% โดยตลาดเมียนมาหดตัวแรง 20% และจีนลดลง 49% เป็นต้น

ด้านกำไรสุทธิไตรมาส 2 อยู่ที่ 742 ล้านบาท ลดลง 23% เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอะลูมิเนียม ส่วนรายได้รวมครึ่งปีแรกอยู่ที่ 10,141.71 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,402.7 ล้านบาท

บิ๊กชาเขียว ‘โออิชิ’ กำไรโต ‘อิชิตัน’ กำไรลด!

ตลาดชาเขียวหมื่นล้านคือ สมรภูมิที่ขับเคี่ยวของ 2 ยักษ์ใหญ่ อย่าง “โออิชิ-อิชิตัน” มาดูผลงาน 2 บริษัท เป็นดังนี้ 

บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) สร้างรายได้จากการขาย และบริการในไตรมาส 3(ปีงบประมาณ ต.ค.64-ก.ย.65) อยู่ที่ 3,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 358 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120.5% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

เมื่อแบ่งตามหมวด ธุรกิจเครื่องดื่มสร้างรายได้จากการขาย 1,957 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% จากแคมเปญ “ดาบพิฆาตอสูร” และการออกสินค้าใหม่ โออิชิ กรีนที ฮันนี่ เลมอน น้ำตาล 0% ส่วนธุรกิจอาหารมีรายได้ 1,412 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.4% จากการกลับมาเปิดร้านให้บริการนั่งรับประทานได้ตามปกติ(Dine-in) การเปิดสาขารองรับการเติบโต การเปิดร้านโมเดลใหม่ ชาบู บาย โออิชิ เป็นต้น

ดังนั้น 9 เดือนแรก บริษัทมีรายได้จากการขาย และให้บริการรวม 9,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.6% โดยธุรกิจเครื่องดื่มทำเงิน 5,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.6% ธุรกิจอาหาร 3,962 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.4% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92%

ส่องผลงาน  “เครื่องดื่ม” ยักษ์ใหญ่ รายได้ - กำไร ใครโต - หดตัว!

ส่วนบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) รายได้จากการขายไตรมาส 2 อยู่ที่ 1,616.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น 11.4% ส่วนต่างประเทศหดตัว 11.5% จากผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ด้านกำไรสุทธิอยู่ที่ 152.6 ล้านบาท ลดลง 11.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ภาพรวม 6 เดือน มียอดขาย 3,058.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ยอดขายในประเทศเติบโต 14.2% และยอดขายต่างประเทศลดลง 16.8% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 256.4 ล้านบาท ลดลง 10.3%

ท่องเที่ยวฟื้น ความหวังน้ำอัดลม

ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดน้ำอัดลมมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท(น้ำดำ+น้ำสี) และทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต จัดจำหน่ายและกระจายสินค้าด้วย 2 ค่ายสำคัญ คือ "หาดทิพย์” ที่ดูแลตลาดภาคใต้ 14 จังหวัดให้กับโค้ก แฟนต้า มินิทเมด น้ำทิพย์ ฯลฯ  อีกรายคือ “เสริมสุข” ในเครือไทยเบฟเวอเรจ มีสินค้า เช่น เอส โคล่า น้ำดื่มคริสตัล ฯลฯ มองโมเมนตัมบวกจากโควิดคลี่คลาย นโยบายเปิดประเทศ ฟื้นการท่องเที่ยว หนุนการบริโภคกลับมาต่อเนื่อง

สำหรับผลงานของบริษัท หาดทิพย์ จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิต และจำหน่ายน้ำอัดลมโค้ก แฟนต้า สไปรท์ และน้ำผลไม้มินิทเมด น้ำดื่มน้ำทิพย์ ฯลฯ ครองพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ สร้างยอดขายไตรมาส 2 เท่ากับ 1,805.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% ส่วนปริมาณการขายก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน 3.4% ปัจจัยหนุนการเติบโตมาจาก ธุรกิจท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวจากโควิดคลี่คลาย และมาตรการคุมโรคผ่อนปรนมากขึ้น ทำให้การขายสินค้าที่อิงท่องเที่ยวทั้งร้านอาหาร โรงแรม ร้านสะดวกซื้อ ตลอดจน ห้างค้าปลีกต่างๆ เติบโตเกือบกลับสู่ “ก่อนเกิดโรคโควิด-19” ขณะที่การขายผ่านร้านค้าทั่วไป(Traditional Trade:TT)เพิ่มขึ้น 6.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

นอกจากนี้ บริษัทยังใช้กลยุทธ์บริหารการเติบโตของรายได้ผ่านขนาด และรูปแบบบสินค้า(Pack Mix)ช่องทางขาย(Channel Mix)ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อการบริโภคครั้งเดียว(Single-Serve)เพิ่มขึ้น

ด้านผลกำไรสุทธิไตรมาส 2 อยู่ที่ 116.9 ล้านบาท ลดลง 37.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ภาพรวม 6 เดือน(ม.ค-มิ.ย.65) บริษัทมีรายได้จากการขาย 3,492 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 3.3% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 220 ล้านบาท ลดลง 34% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากเผชิญต้นทุนการผลิต ราคาพลังงานน้ำมัน และค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเจาะลึก เป็นดังนี้ ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 39% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขายเพิ่ม 16% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หาดทิพย์ยังรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเชิงมูลค่าในระดับสูง โดยเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำดื่ม น้ำผลไม้)อยู่ที่ 26% และน้ำอัดลม 81.2%

ส่องผลงาน  “เครื่องดื่ม” ยักษ์ใหญ่ รายได้ - กำไร ใครโต - หดตัว! ด้าน บริษัท เสริมสุข จำกัด(มหาชน) ผู้ดูแลพอร์ตสินค้า เช่น เอสโคล่า น้ำดื่มคริสตัล ชาเขียวโออิชิ ฯลฯ ผลงานไตรมาส 3 (ปีงบประมาณ ต.ค.64 - ก.ย.65)สร้างรายได้จากการขาย และการให้บริการทั้งสิ้น 2,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยหนุนมาจากการขายผ่านช่องทางร้านอาหาร โรงแรมปรับตัวสูงขึ้น เพราะแรงส่งจากการเปิดประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ รับสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัว รวมถึงบริษัทเพิ่มช่องทางการขาย พัฒนาระบบการกระจายสินค้าให้ครอบคลุมตลาดเป้าหมายมากขึ้น

ด้านกำไรสุทธิอยู่ที่ 38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วน 9 เดือน มีรายได้จากการขาย และการให้บริการทั้งสิ้น 7,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% ขานรับการผ่อนคลายจากมาตรการสกัดโรคโควิด-19 เอื้อต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ ด้านกำไรสุทธิอยู่ที่ 91 ล้านบาท ลดลง 32.1% สาเหตุเพราะต้นทุนการขาย และการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น

เซ็ปเป้ ทำยอดขายนิวไฮ แต่แรงซื้อในประเทศหดตัว

เป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริ้งค์ โดยเฉพาะเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้หญิง “เซ็ปเป้” ทำผลงานเด่นไม่น้อย ภาพรวมไตรมาส 2 บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด(มหาชน) สร้างยอดขาย 1,236.4 ล้านบาท เป็นยอดขายรายไตรมาสสูงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท(All Time High) ซึ่งเพิ่มขึ้น 38.8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เจาะลึกตลาดที่เติบโต ต่างประเทศทำเงิน 975.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67.7% ส่วนยอดขายในประเทศกลับหดตัว 15.6% ทำเงิน 261.3 ล้านบาท เนื่องจากปัจจัยภายนอก ตลอดจนการบริโภคภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว ข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตที่เน้นรองรับตลาดต่างประเทศที่โตก้าวกระโดด การปรับแผนออกสินค้าใหม่ในประเทศตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป

ด้านกำไรสุทธิไตรมาส 2 อยู่ที่ 167.3 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ตั้งบริษัท โดยมีการเติบโต 31.9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดขายครึ่งปีแรกอยู่ที่ 2,255.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.8% ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 320.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.2%

อย่างไรก็ตาม ด้านต้นทุนการผลิตมีการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก(PET)ที่พุ่งตามราคาน้ำมัน รวมถึงน้ำตาล วุ้นมะพร้าว ฯลฯ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์