Soft power อาหารไทย มูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท จะรุกต้องรู้

Soft power อาหารไทย มูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท จะรุกต้องรู้

อาหารการกินเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมของชนชาติ สะท้อนถึงรากเหง้าหลายอย่างจนพัฒนาเป็น "สินค้า" สำคัญ ซึ่งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างแล้ว

วันก่อน นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยประชาสัมพันธ์อาหารไทยและสนับสนุนสินค้าของคนไทย ผ่าน Thailandpostmart ด้วยการรับประทาน "ข้าวซอย" โชว์สื่อมวลชน บริเวณด้านหน้าตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กลายเป็นที่พูดถึงอยู่บ้าง

ท่านนายกฯ มองว่า ข้าวซอยถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งใน Soft power ด้านอาหารของประเทศ ที่จะนำความเป็นไทยไปสู่การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากข้าวซอยก็ยังมีอาหารอีกหลายประเภท เช่น ต้มข่าไก่และต้มยำ เป็นต้น โดยรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนและพร้อมผลักดันให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกผ่านช่องทางและเวทีต่าง ๆ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมมือกันทำงานช่วยกันส่งเสริมผลักดันให้ซอฟท์พาวเวอร์ (Soft power) ของไทยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้งในด้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว สุขภาพ และด้านอื่น ๆ นับเป็นการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และเปิดประเทศไปสู่โลกภายนอกให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง อีกทั้งยังร่วมกันขับเคลื่อนประเทศเพื่อให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นด้วย 

สำหรับ "ข้าวซอย" อาหารไทยท้องถิ่นภาคเหนือ คว้าอันดับ 1 ในการจัดอันดับ 50 Best Soups ซุปที่ดีที่สุดของเว็บไซต์ TasteAtlas เว็บไซต์รวบรวมสูตรอาหารและรีวิวจากนักวิจารณ์อาหารทั่วโลกแบบอินเทอร์แอคทีฟ 

 

 

เมื่อช่วงต้นปี (2565) สามองค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันอาหาร และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รายงานข้อมูลปี 2564 การส่งออกสินค้าอาหารไทยมีมูลค่า 1,107,450 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.30 จากร้อยละ 2.32 ในปีก่อนหน้า และอันดับประเทศผู้ส่งออกอาหารของไทยคงที่อยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก

ตลาดส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น สหรัฐอเมริกา แอฟริกา โอเชียเนีย และสหราชอาณาจักร โดยประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทย มูลค่าการส่งออกกว่า 271,674 ล้านบาท จากการส่งออกผลไม้สดและแป้งมันสำปะหลังเป็นหลัก รองลงมาได้แก่ CLMV และญี่ปุ่น ส่วนปัจจัยที่ส่งผลทำให้การส่งออกอาหารในภาพรวมขยายตัวดี มาจากราคาสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น

ปี 2565 คาดว่าแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารจะมีมูลค่า 1,200,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ซึ่งหากเป็นไปตามคาด จะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ (New high) อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ เช่น ราคาวัตถุดิบภาคเกษตร บรรจุภัณฑ์และน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตและขนส่ง รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานและกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนตัวลงจากภาวะเงินเฟ้อ

สินค้าดาวรุ่งที่จะเป็นโอกาสของการส่งออกไทย ประกอบด้วย 1. ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 2. อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 3.ซอสและสิ่งปรุงรสและซุป และ 4. อาหารอนาคต สินค้าอาหารอนาคตกำลังเติบโตและเป็นที่นิยมในตลาดโลกเนื่องจากตอบโจทย์กระแสสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งสินค้าอาหาร อนาคตปัจจุบันมีการพัฒนาและความหลากหลายมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อว่า ศักยภาพด้านพื้นที่เพาะปลูกและการปศุสัตว์ของไทย ร่วมถึงความหลากหลายของท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคของประเทศ สามารถสร้างสรรค์อาหารหรือสืบทอดพัฒนาภูมิปัญญาการปรุงอาหาร การถนอมอาหาร ไปจนถึงการแปรรูปอาหาร เพื่อตอบโจทย์การค้าส่งออกและการท่องเที่ยว

กล่าวคือ การสร้างสรรค์การปรุงอาหาร การถนอมอาหาร ไปจนถึงการแปรรูปอาหาร หากมีการเผยแพร่ มีเวทีประกวดแข่งขัน และสร้างคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จะกลายเป็นอำนาจอ่อน หรือ ซอฟท์พาวเวอร์ (Soft power) ชักจูงโน้มน้าวให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาไทยด้วยอาหารและแหล่งท่องเที่ยว

แน่นอนว่า ไทยโดยหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนย้ำมาตลอดว่า ไทยพร้อมเป็นครัวโลก แต่จากภาวะโควิด-19ระบาดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งสหรัฐอเมริกากับจีน ทำให้สภาพเศรษฐกิจไม่สดใสก็ตาม แต่การจะรุกด้วยสินค้าอาหารไทย ต้องใช้ "วัฒนธรรมไทย" ในการแสวงหาสร้างมิตร สร้างอัตลักษณ์ ลดความขัดแย้ง ซึ่งจะกลายเป็นเสน่ห์ เป็นพลังอำนาจอ่อน หรือ ซอฟท์พาวเวอร์ (Soft power) ในเวทีโลกไปในคราวเดียวกัน.

...

อ้างอิง
“ข้าวซอย” หนึ่งใน Soft power อาหารไทย ได้รับการเผยแพร่ไปสู่นานาชาติ
ไทยส่งออกสินค้าอาหาร มูลค่ากว่า 1,100,000 ล้านบาท
สินค้าส่งออกดาวรุ่งไทย ความท้าทายใหม่ท่ามกลางวิกฤติอาหารโลก