Inflation Reduction Act : สหรัฐ ปฏิวัติภาษี หนีโลกร้อน | สุมาพร มานะสันต์

Inflation Reduction Act : สหรัฐ ปฏิวัติภาษี หนีโลกร้อน | สุมาพร มานะสันต์

เมื่อ 12 สิงหาคม 2565 สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ได้ผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act หรือกฎหมายที่หากแปลตามชื่อ คือ “ร่างกฎหมายเพื่อปรับลดอัตราเงินเฟ้อ”

อย่างไรก็ดี หากพิเคราะห์ในเนื้อหาของร่างแล้วอาจกล่าวได้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายด้าน สร้างอำนาจต่อรองในการปรับลดราคายา

อีกทั้งได้มีการเสนอการปรับเปลี่ยนรูปแบบการคำนวณภาษีในบางรายการเพื่อเพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศ

ที่มาและหลักการ

ร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act เป็นกฎหมายที่ใช้งบประมาณจำนวน 4.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายในการใช้นโยบายภาษีหลากหลายรูปแบบเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน

เมื่อมีการใช้งบประมาณจำนวนมาก การคำนวนภาษีในบางรายการของนิติบุคคลก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายของกฎหมายไม่ได้เป็นเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อช่วยลดอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในระยะยาวด้วย

ปัจจุบันร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสภา จะถูกส่งไปยังประธานาธิบดีเพื่อลงนามเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับต่อไป

เป้าหมายเพื่อสิ่งแวดล้อม

หนึ่งในประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ การที่สหรัฐฯ ตระหนักดีว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก และนับจากการถอนตัวออกจากความตกลงปารีสในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ประธานาธิบดีไบเดนก็กลับเข้าร่วมความตกลงปารีสทันทีเมื่อได้รับตำแหน่งในต้นปี 2564

Inflation Reduction Act : สหรัฐ ปฏิวัติภาษี หนีโลกร้อน | สุมาพร มานะสันต์

ดังนั้น ด้วยเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงใช้นโยบายการคลัง ทั้งในด้านการใช้มาตรการเงินอุดหนุน (Subsidies) และการใช้มาตรการทางจูงใจทางภาษีผ่านมาตรการเครดิตภาษีหลากหลายรูปแบบ (Tax Credits) โดยอาจสรุปได้ ดังนี้

สิทธิประโยชน์สำหรับครัวเรือน

เมื่อมีการใช้จ่ายตามรายการที่รัฐกำหนด ครัวเรือนอาจได้เครดิตคืนราว 28,500 ดอลลาร์สหรัฐ เช่น ซื้อรถไฟฟ้าจะได้เครดิตเงินคืน $7,500 (หรือหากเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามือสองก็ยังได้คืน $4000)  หรือหากมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะได้รับเงินอุดหนุนร้อยละ 30 ของราคาแผงโซลาร์เซลล์

นอกจากนี้ หากมีการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน จะได้รับเครดิตเงินคืน $14,000 โดยหากมีการปรับปรุงที่พักอาศัยทั้งหลังก็สามารถได้รับเงินคืนกว่าร้อยละ 50 ของเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ซึ่งหากเป็นครอบครัวที่มีรายได้ต่ำอาจได้รับเงินคืนกว่าร้อยละ 80

สิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรม

เดิมที มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบมาตรการบังคับและควบคุม (command and control) ประกอบกับการใช้กลไกการลงโทษในรูปแบบต่าง ๆ ครั้งนี้ สหรัฐฯ จึงเปลี่ยนรูปแบบผ่านมาตรการจูงใจทางภาษีแทน โดยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเน้นใช้พลังงานและเทคโนโลยีที่สะอาด หรือ “Clean Energy Technologies” แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในแบบเดิม

อย่างไรก็ดี การจะได้สิทธิประโยชน์ ผู้ผลิตก็ยังคงต้องผลิตตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด เช่น การจะสามารถเข้าร่วมโปรแกรม EV Tax Credit (เครดิตภาษีจากรถไฟฟ้า) ได้ รถคันดังกล่าวต้องใช้การประกอบจากอุปกรณ์และแร่ธาตุ (เช่น ผงลิเทียม และโคบอลต์) ตามแหล่งที่กำหนด

Inflation Reduction Act : สหรัฐ ปฏิวัติภาษี หนีโลกร้อน | สุมาพร มานะสันต์

กล่าวคือ ต้องเป็นแร่ธาตุหรือโลหะที่มีแหล่งที่มาจากในสหรัฐฯ หรือประเทศที่สหรัฐฯ มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างน้อยร้อยละ 40 นอกจากนี้ แบตเตอรี่รถยนต์ ขั่วแบตเตอรี่ รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานเคมีไฟฟ้าต่าง ๆ ต้องถูกประกอบในภูมิภาคอเมริกาเหนือ หรือประเทศที่เป็นภาคีในข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ เท่านั้น ถึงจะสามารถยื่นเพื่อขอคืนภาษีได้เต็มตามที่รัฐกำหนด

สำหรับผู้เขียน เห็นว่า การตรากฎหมายครั้งนี้ เป็นการแสดงท่าทีในการลดพลังงานครั้งสำคัญของสหรัฐฯ นับจากมีการตรากฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สนับสนุนการลงทุน และส่งเสริมพลังงานสะอาด
ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา (American Reinvestment and Recovery Act 2009)

และที่สำคัญยังแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนการลงทุนด้วยเทคโนโลยีสะอาดให้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นการลดการพึ่งพาจากจีนอย่างมีนัยสำคัญ

ภาษี : เก็บเพิ่มและข้อจำกัดสำหรับธุรกิจ

นอกจากประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ร่าง Inflation Reduction Act ได้ส่งผลต่อการคำนวณภาษีสำหรับธุรกิจ ซึ่งหากพิจารณาเนื้อหาของร่างแล้ว ในส่วนนี้จะไม่ได้ช่วยบรรเทาภาษีเท่าไรนัก เพราะเมื่อรัฐได้อุดหนุนกิจกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมไปมากแล้ว ในอีกด้านยังจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มยอดการจัดเก็บด้วย เช่น

1.Pass-Through Entities (ธุรกิจที่ภาระภาษีส่งผ่านมาที่ผู้ถือหุ้น/เจ้าของกิจการ เช่น ห้างหุ้นส่วน) ได้มีการกำหนดข้อจำกัดของเจ้าของกิจการในการนำขาดทุนของธุรกิจมาหักลดยอดภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งมาตรการ Limitation on Pass-through นั้น

ตามกำหนดการเดิมจะต้องถูกยกเลิกให้เจ้าของกิจการสามารถนำขาดทุนมาหักลดยอดภาษีได้ในปี 2570 แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังคงให้ดำเนินมาตราการดังกล่าวต่อไปอีกสองปี

2.สหรัฐฯ ได้สร้างหลักการ Book Minimum tax หรือ BMT เพื่อจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่มีกำไรตามที่ปรากฏในบัญชีเกินหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตราร้อยละ 15

ทั้งนี้ การจัดเก็บดังกล่าวจะเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อบริษัทมีการคำนวณยอด BMT แล้วเกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายขั้นต่ำตามกฎหมายป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการเลี่ยงภาษี (Base Erosion and Anti-Abuse Tax : BEAT) ที่คิดในอัตราร้อยละ 10

โดยจะคิดจากบริษัทสหรัฐที่เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีการจัดโครงสร้างเพื่อชำระภาษีในประเทศอื่นที่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า ทั้งนี้ BMT จะเริ่มจัดเก็บในปีภาษีหน้า (หลังจากธันวาคม 2565 เป็นต้นไป)

ประโยชน์ของร่างกฎหมาย?

   สหรัฐคาดการณ์ว่า ผลจากกฎหมายจะเกิดขึ้นชัดเจนในปี 2573  เช่น ครัวเรือนสหรัฐฯ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ถึง $1,800 ซึ่งจะช่วยให้แต่ละครอบครัวมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลงกว่า $1,025 

ในขณะเดียวกันร่างกฎหมายดังกล่าวจะก่อให้เกิดการลงทุนในพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างงานและอาชีพในแบบใหม่ ๆ ทั้งในด้านการผลิต การบริการ การศึกษา ที่จะเกิดขึ้นมากกว่า 1.5 ล้านอาชีพ

และที่สำคัญจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯ ลงกว่าร้อยละ 40 ซึ่งจะส่งผลต่อการลดลงของสิ่งมีชีวิตที่เสียชีวิตจากเหตุของสภาวะแวดล้อมเป็นพิษกว่า 3,900 ชนิดทั่วโลก

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า นี่คือตัวอย่างของกฎหมายและแนวนโยบายที่ทุกประเทศต้องเริ่มอย่างจริงจัง.

คอลัมน์ Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0 

ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง