“หุ้นแบงก์” ตบเท้าชะลอขึ้นดอกเบี้ย “เสียโอกาส” แต่ “ไม่เสียหาย”

“หุ้นแบงก์” ตบเท้าชะลอขึ้นดอกเบี้ย  “เสียโอกาส” แต่ “ไม่เสียหาย”

ยุคดอกเบี้ยขาขึ้นสะท้อนผ่านการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของ กนง. ในรอบ 2 ปี ที่ 0.25 % แม้จะเป็นไปตามคาดแต่ได้ส่งสัญญาณกลายๆ ว่านโยบายการเงินของไทยไม่ไปในแนวทางเข้มงวดเพื่อสกัดแค่เงินเฟ้อเพียงอย่างเดียวแต่ยังคำนึงถึงหนี้ครัวเรือนที่ไทยเผชิญหนักมากกว่า

          ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวหลังพ้นจากการระบาดโควิด-19 จนใช้มาตรการเข้มไปหลายระลอกส่งผลทำให้มีผู้ที่ต้องการสินเชื่อจำนวนมากทั้งในภาคธุรกิจและบุคคล   ส่วนภาคการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์ต้องช่วยเหลือลูกค้าที่ปล่อยสินเชื่อก่อนหน้านี้ และเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่เพราะยังไม่มั่นใจการฟื้นตัวเต็มที

            ดังนั้นจึงเป็นที่มาที่คณะกรรมการ กนง. มีความเห็นส่วนใหญ่ "ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุน และเงินสำรองที่เข้มแข็ง รวมทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายสภาพคล่องยังแตกต่างกันบ้างในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่บางกลุ่มยังเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า และครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ"

           ความเคลื่อนไหวของธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้จึงไม่ได้ “รับลูก”  ทันทีด้วยการประกาศขึ้นดอกเบี้ย แต่กลับไปในทิศทางเดียวกันคือ ดูแลด้านการปรับดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อชะลอผลกระทบในกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้มีรายได้สมดุลกับรายจ่ายมากขึ้น 

            นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับความเหมาะสมทั้งฝั่งของลูกค้าเงินฝาก และเงินกู้ จังหวะ และขนาดของการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ไม่ให้เกิดการสะดุดของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และภาคประชาชน 

            ภาพที่ออกมาจึงเห็นการประกาศนำร่องก่อนของแบงก์รัฐคงดอกเบี้ยขาเงินกู้ อาทิ ธนาคารออมสิน   ที่ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำอัตรา 0.15-0.30% แต่ตรึงดอกเบี้ยเงินกู้  ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส.  ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุด อย่างน้อยถึงสิ้นปี 2565 พร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามตลาด

         และธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำสุดในระบบให้นานที่สุด หลัง กนง.ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 0.75% พร้อมออกโปรโมชั่นพิเศษสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า Prime Rate

            ฝากธนาคารพาณิชย์ต่างออกมาพาเหรดประกาศคงดอกเบี้ยเงินกู้เช่นเดียวกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในทันที  และตัดสินใจแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับ ธนาคารทหารไทยธนชาต  (TTB) เน้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบค่อยเป็นค่อยไป

            โครงสร้างรายได้ของธนาคารมีฝั่งต้นทุนคือ ดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วนฝั่งรายได้คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ เมื่อเกินส่วนต่างมากขึ้น (NIM) ทำให้มีผลต่อแนวโน้มการเติบโตของรายได้จากดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ 

            ปัจจัยดังกล่าวหากธนาคารขยับขึ้นดอกเบี้ยทันทีย่อมมีผลบวกมากกว่าผลลบเพราะดอกเบี้ยเงินฝากห่างจากดอกเบี้ยเงินกู้  ทำให้ธนาคารเสียโอกาสแต่ไม่ได้เสียหายเพราะหากดูตัวเลขดอกเบี้ยเงินฝากปัจจุบันไม่ได้สูงมาก ซึ่งประเภทออมทรัพย์อยู่ที่  0.25% ประเภทฝากประจำ 3 เดือน ส่วนใหญ่อยู่ที่ 0.3-0.4 % สูงสุดประเภทฝากประจำ 24 เดือน อยู่ที่ 0.5-0.9%  ส่วนฝั่งดอกเบี้ยเงินกู้ MLR  5.8-6.1% 

            นอกจากนี้กลุ่มแบงก์ยังแทบเสียโอกาสน้อยมากขึ้น อีกจากจำนวนบัญชีเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยรายเดือนมิ.ย. 2565 จาก ธปท. มียอดคงค้าง 117 ล้านล้านบัญชี  จำนวนเงิน 15.67 ล้านล้านบาท ถือว่ามีเงินเข้าระบบเงินฝากเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาดเม็ดเงินฝากในระบบอยู่ที่  14.14 ล้านล้านบาท

            ด้านจำนวนบัญชีมากที่สุดคือ กลุ่มมีเงินฝากระดับไม่เกิน 50,000 บาท จำนวน 10.31 ล้านล้านบัญชี แต่มีจำนวนเงินรวม 438,413 แสนล้านบาท ส่วนกลุ่มที่มีสัดส่วนน้อย คือ มิลเลี่ยนแนร์ มีเงินฝากตั้งแต่ระดับ 50 ล้าน – 500 ล้านบาท อยู่ที่หมื่นล้านบัญชี  ด้วยยอดเม็ดเงินรวม  5.3 ล้านล้านบาท

            ธนาคารยังสามารถปล่อยกู้ในตลาดเงินอย่างคึกคัก  จากฐานเงินฝากของธนาคารขยายตัวเทียบกับสินเชื่อยังซบเซา  ทำให้สภาพคล่องในส่วนนี้จึงไหลไปปล่อยกู้ในตลาดเงินแทน  โดยสถานะปล่อยกู้ในตลาดเงิน พ.ค. ขยาย 11%  (MoM) และ 24%  (YTD)

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์