โฉนดที่ดินมักกะสัน 2 แปลง ปม ‘ซีพี’ ยื้อตอกเสาเข็มไฮสปีด

โฉนดที่ดินมักกะสัน 2 แปลง ปม ‘ซีพี’ ยื้อตอกเสาเข็มไฮสปีด

เปิดปมก่อสร้างไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินดีเลย์ เหตุส่งมอบพื้นที่เจอตอ “ลำรางสาธารณะ” โผล่โฉนดที่ดินมักกะสัน “ซีพี” ขีดเส้นการรถไฟฯ ไม่แก้ไข ไม่ลุยตอกเสาเข็ม

การประชุมคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ถกปมร้อนถึงปัญหาการส่งมอบพื้นที่โครงการดังกล่าว หลังจากที่ก่อนหน้านี้พบปัญหาบริเวณบึงเสือดำและลำรางสาธารณะในพื้นที่ที่จะต้องพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ (TOD) มักกะสัน

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระบุถึงปัญหาการส่งมอบพื้นที่บริเวณบึงเสือดำและลำรางสาธารณะ โดยระบุว่า จากโฉนดที่ดินในพื้นที่มักกะสัน พบว่ามีลำรางสาธารณะที่ไม่ได้ใช้งานมาเป็นเวลานานแล้ว และตอนนี้ลำรางนั้นค่อนข้างตื้นเขิน ในพื้นที่ปัจจุบันตรวจสอบไม่พบแล้ว แต่ยังปรากฏอยู่ในโฉนดที่ดิน ทำให้เป็นสาเหตุที่ทางภาคเอกชนกังวลใจว่า หากรับมอบหนังสือเข้าพื้นที่ (NTP) และเริ่มงานก่อสร้าง ท้ายที่สุดปัญหาลำรางสาธารณาจส่งผลกระทบต่อโครงการในแง่ของข้อกฎหมาย

สำหรับลำรางสาธารณะในที่ดินมักกะสัน จากข้อมูลพบว่ามี 2 แปลง ประกอบด้วย

  • แปลงฉโนดเลขที่ 4159
  • แปลงโฉนดเลขที่ 4192

อยู่บนพื้นที่แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

โดยเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2565 ผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่และประชาชนในพื้นที่กว่า 150 คน ได้เข้าร่วมประชุมประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความเห็นการดำเนินการ ตามมาตรา 8 และมาตรา 9 ของประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่แนวทางการขอถอนสภาพและขอใช้ลำรางสาธารณะประโยชน์

ทั้งนี้ สกพอ.ในฐานะเจ้าของร่วมโครงการดังกล่าวเป็นผู้ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ขอถอนสภาพและขอใช้ลำรางสาธารณประโยชน์แทน ร.ฟ.ท. และในขณะที่ ร.ฟ.ท.ให้การสนับสนุนด้านข้อมูลการสำรวจพื้นที่ โดยมีหนังสือถึงกรมที่ดิน เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2564 รวมทั้งสำนักงานที่ดินกรุงเทพฯ ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการเขตราชเทวี เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2564 เพื่อพิจารณาขอใช้และขอถอนสภาพลำรางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว

สำหรับลำรางสาธารณะ ถือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม ป.กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1304 (2) และเป็นที่ดินของรัฐ จึงต้องห้ามมิให้บุคคลใดเข้าไปยึดถือครอบครอง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ม.9 (1) มีความผิดตาม ม.108 ทวิ วรรคสอง

อย่างไรก็ดี จากการหารือร่วม 3 ฝ่ายนั้น ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า หากจะดำเนินการเพิกถอนลำรางสาธารณะตามกระบวนการต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ซึ่งหากจะรอการแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้ จะกระทบต่อการออก NTP เพื่อเริ่มงานก่อสร้างล่าช้าออกไปมากกว่า 1 ปี และกระทบแผนเปิดให้บริการที่กำหนดไว้ในปี 2570 เป็นผลกระทบต่อประชาชนและประเทศอย่างมาก ที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย จึงมอบหมายให้ ร.ฟ.ท.ไปหารือสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อแก้ไขข้อกำหนดทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการพัฒนา TOD ได้เร็วกว่าการเพิกถอนลำรางสาธารณะ

โดย ร.ฟ.ท.ยืนยันว่าการออก NTP เริ่มงานก่อสร้างโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินนั้นมีความพร้อมอย่างมาก ติดปัญหาเพียงพื้นที่ลำรางสาธารณะซึ่งถือเป็นพื้นที่ส่วนเล็กน้อย 1% ของพื้นที่ก่อสร้างโครงการทั้งหมด แต่เนื่องด้วยเอกชนยืนยันว่าหากไม่มีการแก้ไขปัญหาส่วนนี้ให้แล้วเสร็จ ก็ไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ เพราะอนาคตปัญหานี้อาจส่งผลกระทบต่อโครงการทั้งหมด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหา และทำให้แผนส่งมอบพื้นที่จะล่าช้ากว่าแผนออกไปเล็กน้อยราว 2-3 เดือน

“ที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ตอนนี้ก็เห็นพร้อมกันว่าทางเอกชนอาจได้รับผลกระทบจากลำรางสาธารณะ หากว่าไม่มีการแก้ไขข้อกฎหมายให้ถูกต้อง เพราะจากข้อมูลที่ได้รับจากทางภาคเอกชนทราบว่าในขณะนี้ได้มีการนำโครงการ TOD ไปเสนอสถาบันทางการเงินเพื่อจัดหาแหล่งเงินกู้ แต่สถาบันทางการเงินก็ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ เนื่องจากโฉนดโครงการมีลำรางสาธารณะปรากฏอยู่”

ทั้งนี้ เชื่อว่าการหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด จะได้แนวทางออกถึงการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายที่เหมาะสม โดยไม่ต้องเลือกใช้วิธีเพิกถอนลำรางสาธารณะที่ต้องใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างนาน โดยเบื้องต้นที่ประชุมประเมินว่าอาจมีแนวทางที่ดำเนินการได้ เช่น พื้นที่แปลงมักกะสันนี้ ร.ฟ.ท.ถือครองมาเป็นเวลานาน และได้พัฒนามาหลายโครงการ ดังนั้นอาจจะขออนุญาตถือครองที่ดินนี้ต่อเพื่อพัฒนาโครงการอื่นๆ ตามระยะเวลากำหนด เป็นต้น