อเมริกาจะล่มตามธนาคาร? | ไสว บุญมา

อเมริกาจะล่มตามธนาคาร? | ไสว บุญมา

ณ วันนี้น่าจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า สหรัฐจะล่มตามธนาคาร 2 แห่งที่เพิ่งล่มไปหรือไม่ ในขณะที่เขียนบทความนี้เมื่อช่วงเช้าวันพุธ สหรัฐไม่มีทีท่าว่าจะล่มดังที่หลายคนดูจะปรารถนา ถ้าอ่านจากข้อความตามสื่อสังคม

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสหรัฐจะไม่ล่มในวันหนึ่งข้างหน้า แต่สาเหตุจะไม่ใช่เพราะการล่มของธนาคารที่เพิ่งล่มไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ หากจะเป็นเพราะสาเหตุที่มีพลังสูงกว่ามาก

ในระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก ซึ่งเป็นตลาดเสรีที่มีส่วนประกอบของระบบสังคมนิยมผสมอยู่มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ยกเว้นเกาหลีเหนือซึ่งเป็นสังคมนิยมสุดขั้ว การล่มของธนาคารเป็นของธรรมดา เช่นเดียวกับกิจการแสวงหากำไรทั้งหลาย

แต่ละปีมีธนาคารอเมริกันล่มนับสิบแห่งแต่ไม่เป็นข่าวเพราะมีขนาดเล็ก สาเหตุของการล่มมีหลายอย่างแตกต่างกันไป ทั้งจากภายนอกและภายในกิจการเอง และมักมิใช่จากสาเหตุเดียว หากเป็นหลายอย่างประกอบกัน

อเมริกาจะล่มตามธนาคาร? | ไสว บุญมา

รัฐบาลมีกฎข้อบังคับสำหรับการทำกิจการธนาคาร การล่มของธนาคารทั้งสองอาจมองได้จากมุมของกฎข้อบังคับ ซึ่งมีสิ่งที่น่าสังเกต 2 ด้าน นั่นคือ ด้านขนาดของธนาคารและด้านการทำธุรกิจแนวใหม่

ด้านขนาดของธนาคาร หลังจากเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ในปี 2551 ที่รัฐบาลอเมริกันต้องเข้าไปอุ้มธนาคารขนาดใหญ่เนื่องจากถ้าปล่อยให้ล่มผลกระทบจะใหญ่หลวงถึงขนาดทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบล่มไปด้วย

รัฐบาลตั้งเกณฑ์ว่ารัฐจะต้องเข้าไปตรวจตราอย่างเข้มงวดตลอดเวลา ถ้าธนาคารมีทรัพย์สินเกิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เกณฑ์นี้ถูกเปลี่ยนในปี 2561 ซึ่งเพิ่มทรัพย์สินจาก 5 หมื่นล้านดอลลาร์เป็น 2.5 แสนล้านดอลลาร์

เนื่องจากธนาคารทั้งคู่ที่ล่มไปมีทรัพย์สินเกิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์แต่ไม่ถึง 2.5 แสนล้านดอลลาร์ จึงไม่ถูกตรวจตราอย่างเข้มงวดตลอดเวลา ยังผลให้สะสมปัญหาไว้ได้โดยไม่มีใครตระหนัก

ด้านการทำธุรกิจแนวใหม่ ธนาคารหนึ่งให้บริการธุรกิจเกิดใหม่ในภาคเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะ และอีกธนาคารหนึ่งมีกิจการสำคัญในด้านการให้บริการเกี่ยวกับทรัพย์สินในรูปของเงินดิจิทัล หรือคริปโทฯ ธนาคารทำธุรกิจแนวใหม่ แต่รัฐบาลยังใช้กฎข้อบังคับเดิมซึ่งอาจไม่เหมาะสมแล้ว

อเมริกาจะล่มตามธนาคาร? | ไสว บุญมา

การบริหารจัดการของธนาคารมองได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญมาก ธนาคารกระจายความเสี่ยงพลาดเพราะให้บริการในภาคเดียวและนำเงินฝากจำนวนมากของลูกค้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่ให้ดอกเบี้ยต่ำมาก

เมื่อรัฐบาลขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ มูลค่าของพันธบัตรเหล่านั้นตกอย่างฮวบฮาบ ทำให้ธนาคารขาดทุนสูงเมื่อต้องขายพันธบัตรเอาเงินสดจำนวนมากให้แก่ลูกค้า

ด้านคำสาปของเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการขาดความเชื่อมั่นและความกลัวในชั่วพริบตา ธนาคารอยู่ได้โดยอาศัยความเชื่อมั่นของลูกค้าว่าจะอยู่ได้และเงินที่เขาฝากไว้จะไม่สูญ

เมื่อมีผู้วิจารณ์ธนาคารว่าน่าจะบริหารจัดการความเสี่ยงผิดพลาดจึงควรรีบไปถอนเงิน คำวิจารณ์นั้นกระจายออกไปอย่างกว้างขวางภายในเวลาอันสั้น ส่งผลให้เกิดความกลัวขึ้นในผู้ฝากเงินจำนวนมากว่าตนจะสูญเงิน จึงรีบไปถอน การรีบไปถอนเงินพร้อมกันมีค่าเท่ากับการร่วมประหารธนาคารโดยปริยาย

รัฐบาลอเมริกันอ่านสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และดำเนินมาตรการเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาทันที มาตรการที่มีความสำคัญขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การให้ประกันแก่ผู้ฝากเงินไว้กับธนาคารทั้งสองว่าจะไม่สูญเงินไม่ว่าจะฝากไว้เท่าไร

ต่างกับในภาวะปกติซึ่งภาครัฐออกประกันให้แก่บัญชีที่มีเงินไม่เกิน 2.5 แสนดอลลาร์เท่านั้น การให้ประกันดังกล่าวมีค่าเท่ากับการให้ประกันแก่เงินฝากในธนาคารทั้งระบบ

ในขณะที่เขียนบทความนี้ จึงมีสัญญาณจากด้านต่างๆ ที่บ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นได้กลับคืนมาแล้ว

เหตุการณ์ครั้งนี้ชี้ให้เห็นด้วยว่า ในสภาพที่โลกกำลังมีความขัดแย้งสูงระหว่างมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นหมายเลข 1 และ 2 ของโลก ผู้อยู่ทางฝ่ายหนึ่งปรารถนาจะให้ฝ่ายตรงข้ามล่มจมไป

พวกเขาดูจะไม่ตระหนักสักนิดเลยว่า ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ตนจะสามารถอยู่ดูด้วยความสะใจได้ หรือจะตายคล้ายหญ้าที่ถูกช้างล้มทับ