“ดีลพิเศษ” ล้มสูตร “500 หาร” ฝันหวานของชายสองคน?

“ดีลพิเศษ” ล้มสูตร “500 หาร” ฝันหวานของชายสองคน?

สิ่งที่เหลือเชื่อได้เกิดขึ้นกับ “รัฐสภาไทย” อย่างน่าอายทั่วโลก ไม่เพียงแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์การเมือง ยังออกกฎหมายลูกพลิกกลับไปกลับมา ด้วยน้ำมือของ “ผู้กุมบังเหียน” ส.ส.,ส.ว. แลกผลประโยชน์บางอย่าง เล่นเกมกันอย่างเปิดเผย ลือกันสนั่นเมือง ไม่เห็นประชาชนอยู่ในสายตา

แน่นอน, หลายคนไม่อยากเชื่อ สิ่งที่นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อชาติ ออกมาเผยที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา แฉดีลลับของสองเผด็จการที่มาจากสองขั้ว ขั้วหนึ่งเป็นเผด็จการในรัฐสภา อีกขั้วเป็นเผด็จการใช้ปืนใช้รถถังยึดอำนาจเข้ามา สิ่งที่ตนเคยพูดมาตลอดถึงขบวนการล้มตู่ชูป้อมในที่สุดก็เกิดขึ้นจริง ตนต้องสกัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรี

ถ้าล่มเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชน ตนจะขอสาธุ แต่ถ้าล่มเพื่อประโยชน์พวกพ้องตัวเองหรือตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ตนไม่เอาด้วย ตนขอต่อว่า พรรคขนาดใหญ่ทั้งฝ่ายค้าน และพรรคพลังประชารัฐ ที่ตัวดีสุมหัวกันแก้รัฐธรรมนูญ แต่แก้แล้วใครได้ประโยชน์ อยู่ๆ ก็ขอให้แก้เป็นบัตร 2 ใบ คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 และประกาศแลนด์สไลด์ ถามว่า สไลด์เพื่อใคร วันนี้อย่าเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม อย่าเป็นอีแอบ ที่ทั้งสองเผด็จการผสมพันธุ์กัน เพราะต้องการเอา พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ นี่คือความจริงประเทศไทย

“วันนี้สองเผด็จการผสมพันธุ์กันเรียบร้อย บ้านเมืองเกิดอาเพศแล้ว กลายเป็นพวกมากลากไปเอาหาร 100 ส่วนพรรคเล็กจะสูญพันธุ์แน่นอน ทำแบบนี้ประชาชนได้อะไร ผมขอท้าสองเผด็จการว่า กล้าสาบานหรือไม่ คนไทยฝากถาม พล.อ.ประวิตร กล้าตอบหรือไม่ ว่าไม่ได้ดีลลับกับพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือเจ้าของพรรค พท. และถามไปยังพรรค พท. ว่า กล้าสาบานหรือไม่ว่าไม่มีการดีลกับ พล.อ.ประวิตร ถ้ามีการดีลกันจริง ขอให้พรรคคุณมีอันเป็นไป 

ที่ผ่านมา พรรค พท.ไม่ให้แตะ พล.อ.ประวิตร เด็ดขาด ซึ่งผมไม่เคยได้อภิปราย พล.อ.ประวิตรเลย และขอถาม พล.อ.ประวิตรด้วย ว่าท่านเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เพราะใคร เคยไปเกาะโต๊ะขอตำแหน่งจริงหรือไม่ การสุมหัวกันแก้รัฐธรรมนูญของสองพรรคใหญ่วันนี้ทำเพื่อใคร” นายศรัณย์วุฒิ กล่าว

นายศรัณย์วุฒิ กล่าวต่อว่า ตนขอถาม พล.อ.ประวิตร ด้วยว่า น้องชายอักษร พ. ดีลลับกับเจ้าของพรรค พท. หรือไม่ ถ้ามีต้องกล้าออกมาสารภาพความจริง แต่ถ้าไม่มีตนกล้าสาบานให้มีอันเป็นไป พล.อ.ประวิตร กล้าสาบานด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตรรู้อยู่แล้วว่า ถ้าหาร 100 พรรค พปชร. จะเสียเปรียบ แต่ยังดันทุรังเอาหาร 100 ไปเพื่อใคร สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นชัดเจน คนไทยไม่ได้กินแกลบ นี่คือองค์ประกอบทั้งหมดว่า มีการดีลลับจริง

“ถ้าหาร 100 สำเร็จ นายกฯ คนต่อไปชื่อ พล.อ.ประวิตร ใช่หรือไม่ ขอถามดังๆ ไปถึงสองเผด็จการที่ผสมพันธุ์กัน ถ้าล้มตู่อย่าเอาป้อมมา คนไทยไม่เอาแล้ว วันนี้คนไทยต้องการคนเก่ง แก้วิกฤต ไม่โกง แต่วันนี้สองพรรคใหญ่จะผสมพันธุ์กันแล้วเอาป้อมเป็นนายกฯ ถามคนไทยทั้งแผ่นดินหรือยัง อย่าฝืนใจข่มขืนจิตใจคนไทย 

วันที่ 10 สิงหาคม ผมรู้ว่า มีความพยายามขัดขวางการโหวตวาระ 2 และจะทำทุกอย่างให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ตกไป เพื่อที่จะกลับมาหาร 100 จึงฝาก ส.ส.,ส.ว.ให้ช่วยกันโหวตหาร 500 ทำให้วาระ 2 ผ่านไปให้ได้ และวอนประชาชนทั้งแผ่นดินช่วยบอก ส.ส.ของท่านให้มาร่วมประชุมร่วมรัฐสภา” นายศรัณย์วุฒิกล่าว

เมื่อถามว่า มีหลักฐานชัดเจนหรือไม่ว่า มีการดีลกัน นายศรัณย์วุฒิ กล่าวว่า หลักฐานแบบนี้ ใครจะแสดงให้เห็น เท่าที่ตนติดตามเป็นความแตกแยกเชิงโครงสร้างของสองพี่น้อง เพราะเบื้องหลัง พล.อ.ประวิตรไม่ใช่ตัวตนของเขา มีคนคอยคุมบังเหียนอยู่

“วันนี้คำพูดของ พล.อ.ประวิตร กับการกระทำที่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เป็นการหว่านล้อมให้น้องหลงเคลิ้ม หลงรักพี่ชาย แต่ความจริงพี่ชายอยากให้น้องชายไปวันไปคืน ถ้าอยากให้น้องอยู่จริงๆ ก็เอาหาร 500 จะได้อยู่ต่อ”

ในวันเดียวกัน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ก็พูดในทำนองเดียวกัน โดยกล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 10 สิงหาคม ที่จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. … ว่า 

หากวันที่ 10 สิงหาคม ไม่สามารถเปิดประชุมได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ก็ต้องยอมรับว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งจะถูกตีตกจากสภาทันที เนื่องจากพิจารณาไม่ทันภายใน 180 วัน เพราะน่าจะยากที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งก่อนในวันที่ 15 สิงหาคม 

ตนเคยพูดไปก่อนหน้าแล้วว่า หากกฎหมายถูกตีตกไป ประธานรัฐสภาต้องตอบคำถามกับสังคม และที่สำคัญคือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่ต้องตอบให้ชัดเจนว่า รับคำสั่งมาจากใครหรือไม่ ถึงไม่สามารถประชุมร่วมวันที่ 9 สิงหาคมได้

“ต่อให้ไม่ทัน 180 วัน และจะต้องย้อนกลับไปใช้ร่างหารด้วย 100 ของรัฐบาล หรือของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ยังมีกลไกเปิดให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ในระหว่างขั้นตอนนายกรัฐมนตรียื่นทูลเกล้าฯ ก็ยังมี 5 วันนาทีทอง ซึ่งผมก็จะยื่นศาลเพื่อให้วินิจฉัยเรื่องนี้อย่างแน่นอน” นพ.ระวีกล่าว

เมื่อถามถึงสาเหตุในการพลิกไปพลิกมาของกฎหมายลูก นพ.ระวีกล่าวว่า เท่าที่ทราบจากกระแสข่าวลือตอนนี้ จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ไม่มั่นใจ แต่หลายคนมองว่า น่าจะมีการเกี่ยวกับการตัดสินครบวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรี ซึ่งทุกคนมองว่า หากนายกฯถูกตัดสินว่า ครบวาระ ตามมาตรา 158 วรรค 4 จะทำให้นายกฯ คนต่อไปน่าจะเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มีรายชื่ออยู่ในแคนดิเคตนายกรัฐมนตรี 

แต่น่าจะมีขบวนล็อบบี้ไม่ให้นายอนุทินขึ้นดำรงตำแหน่ง เพราะการโหวตเลือกต้องใช้เสียงส.ว. 250 เสียงด้วย หลังจากนั้นก็จะเป็นการเอานายกฯคนนอก เป็นก๊อก 2 ซึ่งตรงนี้เต็งหนึ่งน่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แต่มีเงื่อนไขอยู่ว่า การที่ พล.อ.ประวิตรจะขึ้นเป็นนายกฯได้ จะต้องใช้เสียงโหวตของฝ่ายค้านจำนวนหนึ่งอยู่ด้วย

“ผมยังไม่อยากจะเชื่อว่า เป็นเรื่องจริง แต่ข่าวลือเขาระบุชัดว่า มีการฮั้วระหว่างคน 2 คน โดยประชาชนที่ติดตามข่าวน่าจะรู้ว่าหมายถึงใคร ใครมีอิทธิพลบารมีมากพอที่จะไล่ ส.ส. และส.ว.กลับบ้านได้ และใครมีอิทธิพลเหนือพรรคเพื่อไทย ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นหาร 100 เพื่อแลกเปลี่ยนกัน เราคงต้องจับตาดูกันต่อไป” 

คำถามคือ เรื่องนี้น่าเชื่อถือหรือไม่ ถ้ามองในมุมของพรรคเล็ก การออกมาโจมตีเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติทางการเมือง เพราะหากเกิดสภาล่ม และกลับไปใช้สูตร 100 หาร ฝ่ายที่เสียเปรียบคือ พรรคเล็ก เพราะต้องใช้คะแนนต่อส.ส. 1 คนจำนวนมาก ซึ่งหลายพรรคอาจไม่ได้ส.ส.ก็เป็นได้ แต่ทำไมเหตุการณ์จึงเป็นไปตามที่มีข่าวลือ เกิดสภาล่ม เพื่อล้มสูตร 500 หาร ทั้งยังพบว่า องค์ประชุมที่มีปัญหา ก็คือ จากพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และส.ว.?

อย่างไรก็ตาม วันที่ 15 สิงหาคมนี้ จะมีการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง สิ่งที่น่าจับตามองก็คือ สภาจะล่มอีกหรือไม่ และจะทัน 180 วันหรือไม่ 

ส่วนเกม “สภาล่ม” ที่ถูกนำมาผูกโยงกับการดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ ว่า มีบางคนรอรับ ส้มหล่น จริงหรือไม่

น่าสนใจเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด แสดงความเห็นถึงข้อกฎหมายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“เปิดกฎหมาย หากนายกรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งเพราะเหตุดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป

กรณีที่จะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบกำหนดเวลา 8 ปี ซึ่งจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 170 วรรคสอง หรือไม่นั้น

มีประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนดเวลา 8 ปี ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้ว ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

บทความนี้จึงจะเสนอข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ เพื่อเป็นความรู้ทางกฎหมายแก่ผู้สนใจ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะคาดการณ์หรือเกี่ยวข้องกับผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองไม่ว่าในกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

1. นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการ

เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 ด้วยเหตุที่ดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา 8 ปี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย (รัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) )

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) ดังกล่าวข้างต้นยังสามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ (รัฐธรรมนูญมาตรา 168 (1) )

ดังนั้น คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเว้นแต่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ โดยผู้ที่จะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการในช่วงเปลี่ยนถ่ายไปสู่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 41 ซึ่งกำหนดว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ซึ่งหากพิจารณาตามลำดับแล้ว รองนายกรัฐมนตรีที่จะทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีก็คงจะเป็นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ

นอกจากนี้ เมื่อรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุที่นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา 8 ปี ดังกล่าว จะต้องมีการดำเนินการเพื่อให้มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตามมาตรา 158 และมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 (รัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคสอง) ดังจะกล่าวต่อไปนี้

 

2. นายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้

การให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ซึ่งประกอบไปด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายอนุทิน ชาญวีระกุล นายชัยเกษม นิติสิริ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ โดยต้องใช้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (รัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และมาตรา 272)

 

3. นายกรัฐมนตรีนอกบัญชี

หากไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ดังกล่าวข้างต้นได้ สามารถดำเนินการขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้ โดยสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา

ในกรณีนี้ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา และรัฐสภาจะต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้

จากนั้น จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอชื่อบุคคลอื่นที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยมติเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (รัฐธรรมนูญ มาตรา 272)

อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า หากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุบสภาผู้แทนราษฎร ถึงแม้จะทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะซึ่งรวมทั้งพลเอกประยุทธ์เองด้วย พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (2) แต่พลเอกประยุทธ์ยังคงสามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่หากพลเอกประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งเพราะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบกำหนดเวลา 8 ปี พลเอกประยุทธ์จะไม่สามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 168 (1))”

 

ประเด็นก็คือ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากครบวาระ 8 ปี เกมต่อไปหนีไม่พ้น การเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อจะสำเร็จหรือไม่ และจะต้องเลือกนายกฯจากคนนอกหรือไม่ ส่วนนายกฯรักษาการแบเบอร์อยู่แล้วว่าเป็น พล.อ.ประวิตร

 

ดังนั้น สิ่งที่จะต้องมาดูก็คือ การโหวตเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อ ต้องใช้คะแนนเสียง “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (ส.ส. และ ส.ว. รวมกันเท่ากับ 750 คน) นั่นคือ 376 คน ถามว่า คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้ ใครสามารถมีคะแนนสนับสนุนได้ขนาดนี้? 

กรณียกเว้นการใช้บัญชีรายชื่อนายกฯ เพื่อเลือกนายกฯคนนอก ใช้เสียงจากรัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 นี่ก็อีกปม ที่วิเคราะห์กันว่า “จำเป็น” ต้องใช้เสียงจาก ส.ส.ฝ่ายค้านสนับสนุนด้วย 

ก่อนที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี “คนนอก” และโหวตด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภา(ประชุมร่วมรัฐสภา) ซึ่ง แน่นอนว่า คะแนนเสียงส.ส.ฝ่ายค้านของพรรคการเมืองใหญ่ ล้วนมีความจำเป็นทุกขั้นตอนเลยทีเดียว  

 

จึงไม่แปลกที่หมากเกมนี้ คนที่จะทำได้มีอยู่ไม่กี่คน และต้องเป็นคนที่ “สมประโยชน์” ทั้งสองฝ่ายด้วย 

 

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า พรรคเพื่อไทย ฝันหวานมานานแล้วว่า บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และสูตรส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 หาร จะทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าของพวกเขา ชนะแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ ถล่มทลาย 

และวิธีที่จะนำ ทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านแบบเท่ๆ ก็คงไม่เหนือความคาดหมาย หรือ ตามคำพูดของ “ทักษิณ” ว่า “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร จะบอกเอง ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง อย่าลืมว่า การเมือง “ศรีธนญชัย” ทำได้ทุกอย่างอยู่แล้ว?

ส่วนเรื่อง “ดีลพิเศษ” ใครจะไปยอมรับ แต่รอให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งจริงเสียก่อน ทุกอย่างอาจได้เห็นกัน!?