สถานะของ NFT ตามกฎหมายไทยคืออะไร?(2)

สถานะของ NFT ตามกฎหมายไทยคืออะไร?(2)

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแล “การเสนอขาย” สินทรัพย์ดิจิทัล เท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลแต่อย่างใด

ดังนั้น การออก การใช้ หรือการกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สัญญาในสินทรัพย์ดิจิทัลจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายปล่อยให้ไปกำหนดกันเองแล้วแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะไปตกลงกันแต่ถ้าจะเอามาเสนอขายเมื่อไหร่ก็จะต้องถูกกำกับดูแลการเสนอขายนั้น 

เพราะฉะนั้นสำนักงาน ก.ล.ต. จึงอธิบายว่า “หากเป็น NFT ที่มีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง เช่น มีการออก NFT ที่ให้สิทธิในการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งของที่มีลักษณะทางกายภาพที่จับต้องได้ (physical) หรือไฟล์ดิจิทัล หรือมีการสะสม NFT แล้วให้สิทธิแก่ผู้ถือไปแลกของหรือสิทธิอย่างอื่น จะเข้านิยาม utility token ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ 

แต่ถ้าหาก NFT นั้น เป็นตัวทรัพย์สินนั้นเองเวลาซื้อขายหรือโอนก็ติดไปด้วยกันไม่อาจแยกกันได้ และไม่ได้มีการกำหนดสิทธิใด ๆ เพิ่มเติม และไม่มีวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เช่น NFT ที่สร้างขึ้นโดยการเก็บ digital file บน Interplanetary File System (IPFS) และสร้างเหรียญดิจิทัลขึ้นมาเพื่อความสะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยน (ไม่ว่าจะสร้าง NFT เหรียญเดียวหรือหลายเหรียญจาก digital file ที่เก็บบน IPFS) 

โดย digital file และเหรียญนั้นจะโอนติดไปด้วยกันไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลง และไม่สามารถแยกกันได้เป็นต้น NFT ดังกล่าวจะไม่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล การดำเนินการเกี่ยวกับ NFT นั้นจึงไม่ถูกกำกับดูแลโดย พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ”

ดังนั้น NFT ที่เป็น “utility token พร้อมใช้” นั้นแม้จะไม่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นของผิดกฎหมายเพียงแต่มีสถานภาพเป็น “ทรัพย์สิน” อย่างหนึ่งตามกฎหมายเท่านั้น จะซื้อจะขาย แลกเปลี่ยนอย่างไรก็เป็นเรื่องของเจ้าของเหรียญกับผู้รับจะไปตกลงกันเหมือนสิ่งของทั่วไป เมื่อตัว NFT ก็คงมีฐานะเป็น “ทรัพย์สิน” อย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เราสร้างมันขึ้นมาก็เป็นเจ้าของเลยไม่ต้องไปจดทะเบียนหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่อย่างใด เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดว่าต้องทำเช่นนั้นแต่ถ้าเกิดจะเอาไปโอนขายให้ใครต่อ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 บอกว่าสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาทหรือกว่านั้นขึ้นไปต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ไม่อย่างนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ (การโอนในที่นี้หมายถึงการโอนกรรมสิทธิอันเป็นหลักทั่วไป ที่มิใช่เป็นการโอนลิขสิทธิ์ซึ่งมีหลักเกณฑ์โดยเฉพาะ)

NFT เป็นสังหาริมทรัพย์แน่นอน เพราะฉะนั้น ตามมาตรา 456 ถ้าราคาขายของ NFT มีราคามากกว่า 20,000 บาท การโอนขายให้กับคนอื่นก็คงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิด หรือฉะนั้นก็ต้องมีการวางมัดจำไว้ หรือได้ชำระราคาให้ไปบางส่วนแล้วการโอนภายใต้ระบบบล็อกเชน

แม้จะง่ายและรวดเร็ว ตรวจสอบได้แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายรับรองการโอนด้วยวิธีนี้ ถึงจะโอนกันไปก็จะไม่มีผลเป็นการโอนตามกฎหมายในขณะนี้ จนกว่าจะมีกฎหมายรับรองวิธีการโอนโดยระบบบล็อกเชนเพราะฉะนั้นวิธีการโอนที่เราเข้าใจว่าจะสะดวกและรวดเร็วตามกฎหมายจะกลับกลายเป็นวิธีการดั้งเดิมที่ต้องใช้เอกสารและการรับรองด้วยวิธีลงลายมือชื่อที่ไม่สะดวกและล่าช้าแทน