เจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ เยือนไต้หวัน ปมขัดแย้งและวิกฤติหุ้นจีน ?

เจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ เยือนไต้หวัน ปมขัดแย้งและวิกฤติหุ้นจีน ?

หลังจากที่สงครามรัสเซียในยูเครนปะทุขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ทำให้ตลาดหุ้นปั่นป่วนและลากยาวมาสู่การขาดแคลนวัตถุดิบและปัญหาเงินเฟ้อ

ผ่านมาเพียงครึ่งปี ปัญหาเดิมยังแก้ไม่ได้ ก็ทำท่าจะเกิดศึกระหว่างสองยักษ์ใหญ่คู่ปรับเดิมคือ สหรัฐฯ และจีน โดยนาง Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของจีน สร้างความไม่พอใจให้จีนอย่างมาก จนหลายฝ่ายกังวลว่าเหตุการณ์นี้อาจเป็นชนวนไปสู่สงครามการค้ารอบใหม่ หรือลามไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น

จีนเริ่มตอบโต้ด้วยการระงับการนำเข้าบิสกิตและขนมอบจากผู้ส่งออกไต้หวัน 35 รายตั้งแต่ 1 สิงหาคม ที่นาง Pelosi ยังเดินทางไม่ถึงไต้หวัน จากนั้น ในวันที่ 2 สิงหาคม ที่นาง Pelosi เดินทางถึง จีนก็ยกระดับมาตรการ โดยระงับการนำเข้าสินค้าจากบริษัทไต้หวัน 3,200 แห่ง

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งห้ามส่งออกทรายธรรมชาติที่เป็นส่วนสำคัญในโครงการก่อสร้างต่างๆ ของไต้หวันด้วย นอกจากนั้น จีนยังซ้อมยิงมิสไซล์และซ้อมรบในบริเวณใกล้ไต้หวัน ตลอดจนออกมาตรการคว่ำบาตรนาง Pelosi และครอบครัว

ตลาดหุ้นจีน (ดัชนี Shanghai Composite) และฮ่องกง (ดัชนี Hang Seng) ปรับลงราว -2% วันที่ 2 สิงหาคม และรีบาวด์ได้หลังจากนั้น สอดคล้องกับสถิติในอดีตที่หุ้นจีนจะถูกกดดันในช่วง 1 สัปดาห์หลังเกิดเหตุการณ์ และมักรีบาวด์กลับมาได้ภายใน 1 เดือน ดังนั้น ในช่วงที่ราคาหุ้นจีนตกเพราะความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในลักษณะนี้ถือเป็นจังหวะให้นักลงทุนเข้าสะสม เพราะจีนไม่มีแรงจูงใจมากพอที่จะยกระดับความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น

 

มาตรการตอบโต้เป็นเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะจีนต้องพึ่งพาสินค้าจากไต้หวัน ขณะที่สหรัฐฯ และนานาประเทศ ก็คงไม่แสดงท่าทีแข็งกร้าวกับจีนเหมือนกรณีรัสเซีย เพราะพลังทางเศรษฐกิจของจีน ขนาดเศรษฐกิจจีนคิดเป็นสัดส่วนถึง 18.7% ของ GDP โลก ใหญ่กว่ารัสเซียที่มีขนาดเพียง 1.9% อีกทั้งจีนยังกุมอำนาจการเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลกด้วยประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคน ตลอดจนเป็นผู้ส่งออกหลักของโลกด้วย

ในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ปีนี้ จีนจะมีโอกาสน้อยที่จะบรรลุเป้าหมายของทางการที่ +5.5% YoY หลังเผชิญกับทั้งมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ GDP ไตรมาส 2/2022 เติบโตเพียง +0.4% YoY ลดลงจากไตรมาสแรกที่ +4.8% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP จีนเหลือ +3.3% YoY จากเดิมที่คาดไว้ที่ +4.4%

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนน่าจะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ไปแล้ว และหากเทียบกับสหรัฐฯ พบว่าเศรษฐกิจจีนเติบโตโดดเด่นกว่ามาก เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิคไปแล้ว ด้วย GDP สองไตรมาสแรกของปีนี้ติดลบ IMF คาดการณ์ GDP สหรัฐฯ ปีนี้จะโตเพียง +2.3% YoY ขณะที่จีนมีแนวโน้มจะก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกแซงหน้าสหรัฐฯ ในปี 2029 (อ้างอิงจาก World Economic Outlook Report วันที่ 26 กรกฎาคม)

ด้านเงินเฟ้อของจีนที่ยังอยู่ในระดับเพียง 2.7% เทียบกับสหรัฐฯ ที่สูงถึง 8.5% ประกอบกับดอกเบี้ย Loan Prime Rate 1 ปี อยู่ที่ 3.7% ทำให้จีนมีศักยภาพที่จะผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ด้วยการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก ในส่วนของนโยบายการคลัง หากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 บรรเทาลง ทางการจีนน่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่าครึ่งปีแรก จากการคาดการณ์ของ Bloomberg ทางการจีนออกมาตรการในครึ่งปีแรกรวมมูลค่า 35.5 ล้านล้านหยวน ซึ่งมากกว่าวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งปี 2021

แม้จีนจะเป็นแหล่งขุมทรัพย์การลงทุนที่ดี แต่มีความเสี่ยงสูงในหลายๆ ด้านของตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะเรื่องของนโยบาย นักลงทุนควรเน้นลงทุนระยะยาว ในสัดส่วนที่เหมาะสม ผ่านกองทุนรวมที่มีผู้เชี่ยวชาญเลือกหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี เติบโตสูง ระดับหนี้สินต่ำ ในธุรกิจที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ

เพื่อลดผลกระทบจากข้อบังคับที่เข้มงวด และที่สำคัญคือเป็นหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างประเทศจำกัด เช่น กลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มค้าปลีกอาหาร และสินค้าจำเป็น หรือลุ่มที่อาจจะได้รับประโยชน์จากความขัดแย้งดังกล่าว เช่น หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะผู้ผลิต Semiconductor เพราะจีนจะเร่งพัฒนาการผลิตในประเทศให้มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาไต้หวันและประเทศอื่นๆ ในอนาคต