เปิดศักราชใหม่ 2568 ‘ฝุ่น PM 2.5 มืดครึ้มทั่วฟ้า’ ฉุด...ดัชนี RSI ลดลงถึงสองหลัก

เปิดศักราชใหม่ 2568 ‘ฝุ่น PM 2.5 มืดครึ้มทั่วฟ้า’ ฉุด...ดัชนี RSI ลดลงถึงสองหลัก

ผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีก (ด้วยความร่วมมือระหว่าง สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ) ประจำเดือน ม.ค.2568 พบว่า “ไม่สดใส” ติดลบ ลดลง 15.9 จุด เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2567

โดยปรับลดลงทุกองค์ประกอบ ทุกภูมิภาค และเกือบทุกประเภทของร้านค้า ซึ่งเป็นการลดลงตามที่คาดหมาย ผู้บริโภคชะลอในการจับจ่ายหลังช่วงเทศกาลปลายปีและปีใหม่เช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆ มา 

แต่เมื่อเทียบกับการลดลงของดัชนีเดือน ม.ค.2567 ที่ลดลงเพียง 9.1 จุด ดัชนี ม.ค.2568 ลดลงมากถึง 15.9 จุด นับว่าน่ากังวล! ขณะที่ดัชนี 3 เดือนข้างหน้าลดลงจาก 56.7 จุด มาอยู่ที่ 50.0 จุด สะท้อนถึงความกังวลต่อความปั่นป่วนของเศรษฐกิจการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ภาพรวมค้าปลีกเดือน ม.ค.2568 เป็นอย่างไร

เปิดศักราชใหม่ปี 2568 ดัชนี RSI ติดลบจมลึกถึง 2 หลัก ติดลบ 15.9 จุด เทียบดัชนีปี 2567 ซึ่งติดลบเพียง 9.1 จุด ปัจจัยหลักเพิ่มเติมจากที่คาดหมาย ผู้บริโภคชะลอในการจับจ่ายหลังช่วงเทศกาลปลายปีและปีใหม่ ก็จากผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่ยาวนานต่อเนื่องกว่า 10 วัน ส่งผลให้ผู้บริโภคงดทำกิจกรรมนอกบ้าน สะท้อนจากความถี่ในการจับจ่าย Frequency of Shopping ลดลงชัดเจน โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่ Shopping per Basket ลดลงเพียงเล็กน้อย 

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Easy E-Receipt ไม่ปังดังหวัง สินค้าที่ขานรับมาตรการ ก็แค่เครื่องใช้ไฟฟ้า ไอที เครื่องมือสื่อสาร ส่งผลให้เทศกาลตรุษจีนปีนี้ ถูกโจมตีกระหน่ำด้วยฝุ่น PM 2.5 จนไม่เห็นความครึกครื้นสนุกสนานดั่งเช่นปีที่ผ่านมา

เมื่อเปรียบเทียบในรายละเอียดเดือนม.ค.2568 ต่อเดือน ธ.ค.2567 พบว่า SSSG (MoM) ลดลงจาก 65.9 จุด เป็น 46.0 = ลดลง 19.9 จุด : Spending Per Bill ลดลงจาก 61.0 จุด เป็น 48.4 = ลดลง 12.6 จุด Frequency of Shopping ลดลงจาก 62.8 จุด เป็น 47.6 = ลดลง 15.2 จุด สะท้อนถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงหลังเทศกาลปลายปีได้เป็นอย่างดี ผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย มาตรการ Easy E-Recipt ไม่ปังตามที่รัฐและเอกชนช่วยกันโหมประชาสัมพันธ์ 

ทั้งนี้ มาตรการ Easy E-Recipt ปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่าซับซ้อนและจับจ่ายได้น้อยกว่าเมื่อปี 2567 มาตรการ Easy E-Recipt ให้วงเงินจับจ่าย 50,000 บาท ขณะที่ปี 2568 ให้วงเงิน 50,000 บาทเหมือนกัน แต่แบ่งเป็น 2 ก้อน คือ ซื้อสินค้าทั่วไปลดลงเหลือ 30,000 บาท และแบ่งส่วนที่เหลือ 20,000 บาท ให้ไปซื้อสินค้า OTOP (ที่ต้องผ่านการรับรองจากกรมพัฒนาชุมชน) และซื้อสินค้าจากร้านค้าวิสาหกิจชุมชน และร้านค้าวิสาหกิจเพื่อสังคม (ซึ่งหายากมาก)

ประเด็นพิเศษประจำเดือน

นอกจากนี้ ยังมีบทสรุปประเด็นสำคัญของ “แนวโน้มการลงทุนและปัจจัยความกังวลต่อธุรกิจ ปี 2568” ของผู้ประกอบการ ที่สำรวจระหว่างวันที่ 17-27 ม.ค.2568 ดังนี้

1.ประเมินการลงทุนในประเทศปี 2568

- ผู้ประกอบการ 19% ลงทุนลดลงไม่เกิน 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน

- ผู้ประกอบการ 42% ลงทุนปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน

- ผู้ประกอบการ 26% ลงทุนเพิ่มขึ้นแต่ไม่เกิน 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน

- ผู้ประกอบการ 11% ลงทุนเพิ่มขึ้นแต่ไม่เกิน 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน

- ผู้ประกอบการ 0% ไม่มีแผนการลงทุนในปีนี้

2.ประเมินแนวโน้มการลงทุนในหมวดอะไร

- ผู้ประกอบการ 37% ระบุลงทุนด้านการซ่อมแซม/ปรับปรุงสาขาเดิม

- ผู้ประกอบการ 37% ระบุลงทุนด้านการขยายคลังสินค้า และขยายสาขา

- ผู้ประกอบการ 13% ระบุลงทุนด้าน IT/Online Platform

- ผู้ประกอบการ 7% ระบุลงทุนด้าน Automation

- ผู้ประกอบการ 3% ระบุลงทุนซื้อที่ดิน

- ผู้ประกอบการ 3% ระบุว่ายังไม่แน่ใจ

3.ปัจจัยในความกังวลปี 2568

- ผู้ประกอบการ 94% ระบุกังวลกำลังซื้อฟื้นตัวไม่เต็มที่

- ผู้ประกอบการ 71% ระบุกังวลค่าแรงอาจจะปรับสูงขึ้นอีก

- ผู้ประกอบการ 48% ระบุกังวลราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับสูงขึ้นอีก

- ผู้ประกอบการ 42% ระบุกังวลการแข่งขันรุนแรงภายในประเทศ

- ผู้ประกอบการ 23% ระบุกังวลกำลังซื้อต่างชาติฟื้นตัวไม่เต็มที่

- ผู้ประกอบการ 16% ระบุกังวลการแข่งขันรุนแรงจากต่างประเทศ

สรุปภาพรวมการค้าปลีกไทยเดือน ม.ค.2568 “ไม่สดใส” กำลังซื้อโดยรวมยังเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากที่ยังอ่อนแอ ส่วนกลุ่มผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ มาตรการ Easy E-Recipt ก็ไม่ตอบโจทย์ ไม่ชัดเจนตรงเป้าหมาย ด้านปัญหา “ค่าแรงแพง-แรงงานขาดแคลน” ยังเป็นปัญหาหลักของธุรกิจภาคค้าปลีกและบริการ รัฐบาลควรต้องรุกเร็วและเร่งระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ที่ตอบโจทย์ภาพรวมค้าปลีกไทยให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งโดยเร็ว