ก.ม.ล้าสมัยตามโลกไม่ทัน บทเรียนที่ ‘ไทย’ ไม่เคยจำ

ก.ม.ล้าสมัยตามโลกไม่ทัน บทเรียนที่ ‘ไทย’ ไม่เคยจำ

คดีความ คำพิพากษา ที่เกิดขึ้น ระหว่างบริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด (เป็นโจทก์) และ น.ส.พิรงรอง รามสูต กสทช. (จำเลย) กลายเป็นกรณีศึกษาที่ต้องบันทึกไว้ ถือเป็นบทเรียนราคาแพง กฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าสมัยตามโลกไม่ทัน เป็นต้นตอทำให้เกิด “คดีความฟ้องร้อง ช่องโหว่ และผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ”

ครั้งนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานกำกับดูแล แต่ยังเผยให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการกำกับดูแลที่ล้าหลังไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ยุคที่บริการอย่าง OTT (Over-The-Top) พวกบริการสตรีมมิ่งต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ค ยูทูบ เน็ตฟลิกซ์ ฯลฯ เติบโตอย่างก้าวกระโดด กรอบกฎหมายไทยที่มีอยู่กลับไม่สามารถรองรับพลวัตของอุตสาหกรรมนี้ได้  

พอไม่มีกฎหมายมาคุม อะไรที่วิ่งผ่านบนโครงข่ายในประเทศไทย มักจะเกิดความลักหลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานกำกับดูแลก็ไม่สามารถเข้าไปจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่า คือ ผลกระทบต่อผู้บริโภค กลายเป็นผู้เสียเปรียบในสมการนี้ การขาดกลไกคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระจากการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยไม่มีอำนาจต่อรองเพียงพอที่จะปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง

มีกรณีศึกษาในต่างประเทศมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การปรับปรุงกฎระเบียบอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับบริการรูปแบบใหม่ๆ เป็นเรื่องสำคัญ การสร้างความสมดุลระหว่าง “การส่งเสริมนวัตกรรม” และ “การคุ้มครองผู้บริโภค” เป็นเรื่องจำเป็น การแก้ปัญหาในระยะยาวจึงต้องเริ่มจากการปฏิรูปกฎหมายให้ทันสมัย โดยเฉพาะการกำหนดนิยาม และขอบเขตการกำกับดูแลที่ชัดเจนสำหรับ “บริการดิจิทัลรูปแบบใหม่” ควบคู่ไปกับการ “เสริมสร้างอำนาจให้หน่วยงานกำกับดูแล” สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกัน การสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม และผู้บริโภคมีเสียงในการกำหนดนโยบาย ที่จะส่งผลกระทบต่อตนเอง หากประเทศไทย ยังไม่เร่งดำเนินการปฏิรูประบบการกำกับดูแลอย่างจริงจัง เราอาจเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นในอนาคต เมื่อเทคโนโลยีและรูปแบบบริการถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว “สวนทางกลไกกำกับดูแลที่ยังย่ำอยู่กับที่” ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้าง “ระบบนิเวศดิจิทัล” ที่เป็นธรรม ยั่งยืน บทเรียนที่เจอต้องจำไว้ด้วย..